หน้า 3 วิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’ฉลุยนายกฯ 8 ปี จับตาแรงเขย่าปรับครม. สู่เป้าคัมแบ๊กตั้งรัฐบาล

‘บิ๊กตู่’ฉลุยนายกฯ 8 ปี

จับตาแรงเขย่าปรับครม.

สู่เป้าคัมแบ๊กตั้งรัฐบาล

การเมืองภายใต้การนำของกลุ่มอำนาจ 3 ป. ยังคงเดินหน้าได้ไปต่อในทางนิติศาสตร์ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน

Advertisement

ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

โดยสรุปใจความและสาระสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มมีผลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่

หากตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นัยยะต่อทางการเมืองในส่วนของวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีใน พ.ศ.2568 นั่นเท่ากับว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวาระทั่วไปตามปฏิทินที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

Advertisement

ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขและโจทย์ให้ทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. รวมทั้งแกนนำพรรค พปชร. ต้องวางกลยุทธ์ทางการเมืองกันให้ละเอียดอีกครั้ง ทั้งเรื่อง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พปชร. ที่ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค พปชร.

เพราะด้วยข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ หาก พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะไปต่อในทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร. หรือพรรคการเมืองใด หากได้รับการเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้ถึงปี 2568 เข้าใจง่ายๆ ได้คือ อยู่ทำหน้าที่นายกฯได้เพียงแค่ 2 ปี หรือเพียงแค่ครึ่งเทอม จากวาระทั้งหมด 4 ปี ซึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อนต่อการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองนั้นๆ ได้เหมือนกัน

การเมืองนับจากนี้ ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป นอกจากงานตามภาระหน้าที่ของผู้นำรัฐบาล ที่ยังรอนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาขับเคลื่อนงานต่อ

โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือเอเปค 2022 ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

ยังมีเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชน ที่เผชิญทั้งปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการรับมือและการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพิษของพายุโนรู ในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

อีกปัจจัยทางการเมืองที่จะเพิ่มแรงกดดันให้กับแกนนำพรรค พปชร. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล คาดว่าแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

อาจจะใช้จังหวะทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่ต่อในตำแหน่งนายกฯ เสนอให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทดแทนโควต้ารัฐมนตรีที่ว่างลงของทั้ง 2 พรรค ในส่วนของพรรค ปชป. ภายหลังนายนิพนธ์ บุญญามณี ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่พรรค ภท.มีกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ยุติปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องกรณีถือครองที่ดินรุกป่าสงวนแห่งชาติ

ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 2 พรรค คงไม่ยอมให้โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีว่างลง ขณะเดียวกันในส่วนของพรรค พปชร. บรรดากลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค คงต้องแสดงพลังกดดันให้มีการปรับ ครม.ไปในคราวเดียวกันด้วย ภายหลังมีเก้าอี้รัฐมนตรีในโควต้าพรรค พปชร.ว่างลง 2 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ทั้งในกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ กลุ่ม ส.ส.ปากน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของบ้านใหญ่อัศวเหม ที่พยายามผลักดัน ส.ส. หรือตัวแทนของกลุ่มเข้าไปเป็นรัฐมนตรี หากมีการปรับ ครม. โดยอาจยกเหตุผลของการเตรียมพร้อมในการจัดทัพให้เตรียมพร้อมต่อการเลือกตั้งของพรรครัฐบาล

ขณะเดียวกันภายในพรรค พปชร. อาจจะมีแรงกดดันภายในกลุ่ม ส.ส. และแกนนำพรรคให้มีการปรับเก้าอี้ ครม. โดยเฉพาะโควต้าของพรรค พปชร.ในลักษณะปรับใหญ่ โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ ส.ส.ของพรรค พปชร. ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. เข้าไปทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เนื่องจากมีความยึดโยงกับ ส.ส.ของพรรค พปชร. และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความได้เปรียบจากกลไกอำนาจรัฐของกระทรวงมหาดไทย ต่อการจัดทัพรับเลือกตั้งของพรรค พปชร.

การเมืองนับจากนี้ฝั่งของผู้มีอำนาจ ย่อมใช้ทุกสารพัดกลไก จัดทัพให้เอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง เพื่อเป้าหมายได้คัมแบ๊กกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image