เปิดผลคำวินิจฉัยศาลรธน. ‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯไม่ครบ8ปี

หมายเหตุคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี โดยเริ่มนับตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 171

วรรคสองบัญญัติว่า นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้วความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย

Advertisement

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ มาตรา 158 วรรคสอง บัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสาม บัญญัติว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

มาตรา 159 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

วรรคสอง บัญญัติว่า การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร วรรคสาม บัญญัติว่า มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา

วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใดและสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 กรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 และการได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 โดยการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 มีหลักการสำคัญว่าให้พิจารณาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากที่พรรคการเมืองได้แจ้งชื่อไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งโดยจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามที่ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 แต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยบริบูรณ์และเป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมายและความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย

กล่าวคือการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องพิจารณากระบวนการในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 ประกอบมาตรา 159 โดยเฉพาะเงื่อนไขในมาตรา 159 วรรคหนึ่งบอกว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นบุคคลอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคการเมืองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้ถูกร้องได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถวายคำแนะนำเห็นได้ว่า
ผู้ถูกร้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความตามมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม วรรคสอง บัญญัติว่ารัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้นอนุมาตรา 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 อนุมาตรา 12, 13, 14, 15 และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้นอนุมาตรา 3, 4

แต่ในกรณีตามอนุมาตรา 4 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 อนุมาตรา 12, 13, 14, 15 และยกเว้นมาตรา 170 อนุมาตรา 5 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 อนุมาตรา 1 วรรคสามที่บัญญัติว่า การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ปี 2558 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขฉบับที่ 2 ปี 2559 ที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง วรรคสี่บัญญัติไว้ว่าให้นำความตามมาตรา 163 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรีตามวรรคสอง และวรรคสาม โดยอนุโลม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า จะถือว่าคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้บทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือแม้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2560

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตาม ย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264

ประการที่ 2 เพื่อนำกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศบังคับใช้ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาบังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่คณะรัฐมนตรี ที่บริหารราชการแผ่นดิน ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะมีข้อยกเว้นว่ามิให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเว้นไว้ในบางเรื่องเท่านั้น

ดังนั้น หากมิได้ประกาศยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดไว้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่งความมุ่งหมายของมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้บังคับกฎหมาย คือกฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะการมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ไม่ว่ากรณีใดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที

กรณีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ในเรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้ จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่โทษทางอาญาสามารถกระทำได้ เช่นเดียวกับกรณีตามคำร้องในคดีนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และทั้งสองกรณีดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนไว้โดยชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก

แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับ มิได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลังได้ คำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกัน จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับการประชุมดังกล่าวประธาน กรธ.และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับว่า บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการใดก็ตาม ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปีนั้น เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ.และการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร เป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ประกอบกับความเห็นของประธาน กรธ.และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายหรือคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158

นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมของ กรธ.ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฏประเด็นในการพิจารณาหรืออภิปรายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เมษายน 2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่

ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงนายกรัฐมนตรีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image