เปิดคำวินิจฉัย ‘ทวีเกียรติ’ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อย ชี้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯครบ 8 ปีแล้ว

เปิดคำวินิจฉัย ‘ทวีเกียรติ’ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อย ชี้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯครบ 8 ปีตั้งแต่ 24 ส.ค.65

จากกรณีที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่กำหนด เนื่องจากชี้ว่า ให้เริ่มนับวาระนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ จึงให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ล่าสุด ( 1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างถึงคำวินิจฉัยของ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 1 ใน 3 ตุลาการฯ เสียงข้างน้อย ซึ่งวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และครบ 8 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยระบุตอนหนึ่งว่า การที่บ้านเมืองอยู่ได้โดยปกติสุขมีความสงบเรียบร้อย มิใช่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมาย แต่เพียงอย่างเดียวซึ่งมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องอาศัยสำนึก ที่ดี (good conscience) จริยธรรม (moral) และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ (tradition) ซึ่งมีผลควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ด้วย หลายเรื่องที่แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม (not illegal but it is wrong or immoral) ก็ไม่ควรทำ เช่น การพูดเท็จอันเป็นต้นเหตุแห่งการปิดบังหรือบิดเบือน ความจริงทั้งมวล แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ผู้ที่มีจริยธรรมหรือมีจิตสำนึกที่ดีแม้รู้ว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่ทำ ยิ่งหากเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีรากฐานมาจากหลักนิติรัฐย่อมมีขึ้นเพื่อให้นำมาใช้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ เห็นได้จากพระราชปรารภที่ว่า นับแต่ได้มีการ “…พระราชทานรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรง เจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองได้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือภาพอื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ

Advertisement

บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือหรือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจหรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองที่…ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”

ข้อความตามพระราชบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายไปที่ “ผู้ใช้อำนาจ” หรือผู้บริหารที่ “เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง” มิได้มุ่งหมายไปที่ “บุคคลธรรมดา” หรือประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้บัญญัติกฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติก็ดี ฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจดังกล่าวทั้งหลาย จึงควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ “จริยธรรมนำกฎหมาย หรือเคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น” มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมายและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้างอนึ่ง การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลง “สัญญาประชาคม” อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้นๆ

ส่วนประเด็นการพิจารณาตามคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ โดยสรุปว่าเจตนารมณ์ของวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกิน 8 ปี คือการควบคุมและจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารอำนาจรัฐ ทั้งยังปรากฏว่าบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้นบัญญัติไว้ “หากไม่ต้องการให้ใช้บังคับก็ควรเขียนยกเว้นไว้ให้ชัด ”

การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งสามารถสร้างรากฐานอำนาจไว้กับตนและพวกพ้อง นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการประชาธิปไตย อันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอด และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้วและได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริงระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที

สำหรับที่มานายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขมาตรา 158 วรรคสองและวรรคสาม ที่ให้มาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคแรก ให้สภานิติบัญญัติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ยังไม่มีได้ ซึ่งการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

หลักการจำกัดวาระแปดปีของนายกรัฐมนตรีในระบบการเมืองไทยมีประกาศให้รับรู้โดยทั่วไป และมุ่งใช้ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งผ่านประชามติเจตจำนงของประชาชน ที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่ยังเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีบทบาทและใช้อำนาจหน้าที่บริหารประเทศตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รับเงินเดือนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดจนไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง

“จึงถือว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้องทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย ถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอดแล้ว และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้ว และได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริง ระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที ยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หากมีการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีก”

นายทวีเกียรติ บันทึกความเห็นส่วนตนไว้ว่า ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image