มุมมองทิศทางการเมือง “บิ๊กตู่”คัมแบ๊กเก้าอี้นายกฯ

มุมมองทิศทางการเมือง
‘บิ๊กตู่’คัมแบ๊กเก้าอี้นายกฯ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการทิศทางการเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบวาระ 8 ปีในปี 2568

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถไปต่อได้ทางการเมืองมองว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะมีการประเมินสถานการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และยังสอดคล้องกับเอกสารที่หลุดออกมาเช่นกัน รวมทั้งคำให้การของ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และคำให้การอื่นๆ ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด คิดว่าแนวทางนี้มีความยืดหยุ่นมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นๆ ซึ่งอาจจะสร้างความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

มองมุมกลับหากคำพิพากษาให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ซึ่งอาจจะกระทบกับการบริหารงานที่ผ่านมาของรัฐบาล เนื่องจากหากนายกรัฐมนตรีหมดวาระ จะทำให้คณะรัฐมนตรีหมดวาระไปด้วย ซึ่งจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจจะมาจากบัญชีรายชื่อ หรือคนนอกก็ได้ จะทำให้การเมืองเกิดความวุ่นวายพอสมควร

แต่หากเป็นแนวทางที่ 3 อยู่ได้อีก 4 ปี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างเงื่อนไขทางการเมือง และเกิดความขัดแย้งมากขึ้นกับสังคม เพราะ พล.อ. ประยุทธ์กระแสความนิยมก็ไม่เหมือนเดิม หากดูเมื่อมีคำพิพากษาออกมาในลักษณะที่ 2 หากประเมินจากสังคม และเป็นวิธีประนีประนอมมากที่สุด ยังมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

Advertisement

ที่สำคัญฝ่ายค้านได้มีการโยนระเบิดไปที่สังคม โดยกล่าวว่าเคารพมติศาล แต่ก็ยังแสดงออกมาว่ามีความเห็นต่างจากคำพิพากษา คาดว่าสังคมอาจจะนำไปขยายต่ออย่างแน่นอน ส่วนความเคลื่อนไหวของมวลชนคิดว่า ภายใน 1-2 วันจะเริ่มมีความเห็นชัดขึ้น แต่ตอนนี้แปลกมาก เพราะเห็นความเคลื่อนไหวน้อยมาก อาจจะเรียกมวลชนแล้วจุดไม่ติด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเกิดความเคลื่อนไหวเร็วๆ นี้

ส่วนย่างก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังมีคำพิพากษาคิดว่าหากกลับเข้ามาทำงาน ภายใน 1 เดือนควรมีการประเมินตนเอง รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ เห็นว่ามีทางลงที่ดีคือ หลังจากทำภารกิจการประชุมเอเปค ก็ควรยุบสภา หรือไม่ก็ทำงานกันต่อไปจนมีการเลือกตั้งสมัยหน้า ถึงแม้ว่าเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ปี คิดว่าคงไม่มีพรรคการเมืองเสนอ พล.อ.ประยุทธ์มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากเสนอชื่อไป ปัญหาก็จะกลับมาเรื่องเดิมอีกเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี 8 ปี ทางลงที่ดีคือ อยู่จนครบรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น

นอกจากนี้ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะการประชุมเอเปค เพื่อกู้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามอยู่ต่อเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อจนครบวาระ คิดว่าเป็นทางลงที่ดีที่สุดแล้ว หากต้องการไปต่อสังคมจะกดดันกันมากขึ้น

ที่สำคัญการประนีประนอมของพรรคการเมืองที่ผ่านมา ดูแล้วเหมือนกับไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสมการการต่อรองทางการเมืองด้วย

เรื่องผลกระทบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่นั้น หากดูในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คนของพรรคพลังประชารัฐเหมือนกับมีความสุขมากขึ้นที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีการปรองดอง สมานฉันท์กันมากขึ้น หากดูจากป้ายหาเสียงไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในป้ายเลย เสมือนออกจากสมการทางการเมืองไปแล้วเช่นกัน

ส่วนนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ช่วงนี้ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่เหมาะสม และมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือ พรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค ที่โดนแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ล้ม พ.ร.บ.กัญชา ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องประกาศว่าพร้อมที่จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งท่าทีของ อุ๊งอิ๊ง หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าไปแล้วทั้ง 2 คนนี้มีท่าทีที่ชัดเจนมากที่สุด ในการที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคพลังประชารัฐถึงแม้ว่าป้ายหาเสียงจะเป็น พล.อ.ประวิตร แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ยังไม่ตัดสินใจ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ดูจากสถานการณ์ของพรรคแล้ว โอกาสนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีน้อยมาก

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมรสุมวาระ 8 ปีมาได้และกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ในมิติทางสังคม การที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อนั้น แม้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ต้องดูกระแสสังคมว่ายอมรับตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแม้จะยอมรับคำวินิจฉัยของศาล

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็กลายเป็นสินค้าที่มีตำหนิไปแล้ว การที่จะไปต่อทางสังคม กับคน 3 กลุ่ม คือ คนที่รัก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังรักเหมือนเดิม คนที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่ชอบเหมือนเดิม แต่กลุ่มคนที่อยู่กลาง อาจจะถูกผลักไปอยู่ตรงข้าม หรือกลายเป็นพลังบวกให้กับพรรคการเมืองอื่น และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวเดินต่อไปอีก ต้องถามว่า ในขณะที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯได้ทบทวน ใคร่ครวญพฤติกรรมที่แสดงต่อสังคมหรือไม่อย่างไร

แน่นอนว่าการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงให้เห็นมาตลอด แต่เรื่องของหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ที่บอกว่ามุ่งมั่นตั้งใจนั้น เกิดความสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าการปฏิรูปต่างๆ ทั้ง ปฏิรูปตำรวจ การศึกษาหรือกระบวนการยุติธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์หรือไม่ อย่างไร

ผมกำลังมองภาพใหญ่ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ในอดีต ตั้งใจทำในหลายเรื่อง แล้วมีอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง และเมื่อครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโอกาสให้อยู่ต่อ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะทำงานเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว เพราะแม้ตัว พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งใจ แต่บริวารโดยรอบมือไม้ แขนขา ยังเป็นคนหน้าเดิมหรือไม่
หากใช้คนเดิม หน้าเดิมๆ แน่นอนว่า ผลงานก็ยังคงเหมือนเดิม จึงมองว่าอาจจะต้องเรียกทัพเสริมในการต้องทำงานในปัจจุบันและเห็นผลงานในอนาคตให้มากกว่านี้

ส่วนในมิติทางการเมือง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระส่ำระสายแน่นอน บางคนคิดว่าจะหาเสียงด้วยการชู พล.อ.ประยุทธ์ หรือลุงตู่ ก็คงไม่ได้ เพราะเป็นสินค้ามีตำหนิเสียแล้ว

ในอดีตที่ผ่านมาต้องไม่ลืมว่า ส.ส.หลายคนชนะในโค้งสุดท้ายด้วยกระแสลุงตู่ ส.ส.ที่ยังยืนหยัดอยู่กับ พปชร. ก็ต้องคิดหนักว่า อยู่พรรคนี้จะมีอนาคตสดใสเหมือนในอดีตคงต้องคิดเยอะ เพราะในทางการเมือง ใครจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล ต้องมีกระแสและนโยบายที่โดนใจประชาชน การชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเหมือนการเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ครั้งนี้มองว่ากลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง คงไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เว้นแต่ภาพในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์จะทำเรื่อง ทำผลงาน ให้ดีขึ้น

เพราะฉะนั้น กลับมาเที่ยวนี้คงต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน รวมถึงบุคลิกภาพใหม่ ในช่วงที่ท่านหยุดปฏิบัติหน้าที่ น่าจะคิดได้ว่าที่ผ่านมาบุคลิกท่านไม่โดนใจประชาชนโดยส่วนรวม จะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว

โดยสรุปมองว่า การที่ลุงตู่อยู่ต่อในเที่ยวนี้ ไม่ได้เป็นผลดี แถมยังเป็นสายล่อฟ้า และอาจเป็นแลนด์สไลด์ไปทางคนอื่น ไปทางพรรคการเมืองอื่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังการประชุมเอเปคแล้วเสร็จน่าจะมีการใคร่ครวญ หรือทำอะไรบางอย่างระหว่างยุบสภาหรือปรับ ครม. ซึ่งการปรับ ครม.นายกฯต้องหารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนเรื่องการยุบสภานายกฯทำได้โดยลำพังอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่า ขณะนี้นายกฯยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐและหากจะมีการยุบสภา ก็จะทำต่อเมื่อเห็นว่าพรรค พปชร.ได้เปรียบ

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

แปลกใจและชวนสงสัยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ว่าใช้กฎหมายใดพิจารณา การนับวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผลตัดสินดังกล่าวอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อถือ เสื่อมศรัทธา และไม่ยอมรับจากประชาชน ว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีจริงหรือไม่ ส่งผลต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้นานาชาติเกิดความกังวลใจถึงสถานภาพรัฐบาล เนื่องจากประชาชนไม่ให้ความเชื่อถืออีกแล้ว

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลอ่อนแอลง เพราะไม่มีพรรคใดกล้าประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แบบ 100% อีก ทั้งทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค อาจตีตัวออกห่าง เพราะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เนื่องจากต้องแข่งขันกันเอง ไม่มีพรรคไหนกล้าชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศอีก

กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจชู พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้านั้นเชื่อว่ามีโอกาสอยู่บ้าง ในทางกลับกันแล้วจะวางตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. อยู่ในตำแหน่งใด เพราะอำนาจ บารมี ปัจจัย และเครือข่ายสนับสนุนมาจาก พล.อ.ประวิตร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สร้างมาด้วยตนเอง

หาก พปชร.ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า มองว่าเป็นเรื่องดี อยากให้ พปชร.ประกาศอย่างชัดเจนเลย ทำให้ประชาชนได้ตัดสินใจง่ายขึ้น ว่าจะเลือกอยู่กับเผด็จการ หรือฝ่ายประชาธิปไตย จากสถานการณ์ดังกล่าว จะนำไปสู่การยุบสภา เพื่อเลือกตั้งก่อนรัฐบาลครบวาระหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก และความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะยุบสภา หรืออยู่จนครบวาระมีนาคมปีหน้า เพราะฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อยุบสภาแล้ว

ดังนั้นการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอบคำถามประชาชนว่า จะทำเพื่อบ้านเมือง หรือทำเพื่อตนเอง และพวกพ้องมากกว่า

กรณีศาลวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อนั้น อาจส่งผลไปสู่การชุมนุมประท้วง เดินขบวนต่อต้านมากขึ้น สังเกตจากการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ได้เข้าสู่โหมดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

และนับถอยหลังสถานภาพรัฐบาลที่ใกล้สิ้นสภาพเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างลำบากมากขึ้น ทำให้ประชาชนไม่พอใจ

ดังนั้นการออกมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

หากมองสถานการณ์การเมือง ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า พล.อ.ประยุทธ์เหลือเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีน้อยลง เพราะกระแสความไม่พอใจของประชาชนได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลอาจบีบ พล.อ.ประยุทธ์ให้ลาออก และยุบสภาก่อนครบวาระให้เลือกตั้งเร็วขึ้น เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ถ้าเนิ่นนานหรือยื้อไว้ กระแสความนิยมพรรคร่วมรัฐบาลอาจลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้แพ้พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ประกาศชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ได้ ทำให้ พท.เป็นแกนนำฝ่ายค้าน จัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าแทนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image