ชลน่าน จ่อ ทำข้อเสนอยื่น กกต.ทบทวนแก้กฎเหล็ก มั่นใจ เสร็จทันสมัยประชุมหน้าแน่

“ชลน่าน” จ่อ ทำข้อเสนอยื่น กกต.ทบทวนแก้กฎเหล็ก มั่นใจ เสร็จทันสมัยประชุมหน้าแน่ หากไม่ยุบสภาก่อน

เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 4 ตุลาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โหมดว่าด้วยค่าใช้จ่าย ขณะนี้พรรคได้ร่างไว้แล้วหรือไม่ และจะสามารถจัดทำได้ทันในสมัยประชุมหน้าหรือไม่ ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ออกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทบัญญัติที่เขียนแตกต่างไปจากกฎหมายเดิมที่เราใช้บังคับอยู่ ที่ว่าด้วยค่าใช้จ่ายว่าด้วยการเลือกตั้ง และโหมดว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง เขากำหนด 180 วันขึ้นมาตามกฎหมายเดิมเราใช้แค่ 90 วัน ซึ่งหากครบวาระอายุสภาฯ ระยะเวลา 180 วันไปจนถึงวันเลือกตั้ง ให้ถือว่าเป็นวันที่จะต้องนับเป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ตาม และโหมดว่าด้วยการหาเสียงก็รองรับด้วยว่า 180 วันถือเป็นการหาเสียงและมีข้อห้ามในการหาเสียง ซึ่งหากเกิดภาวะวิกฤตเช่น มีอุทกภัย มีภัยพิบัติก็จะมีปัญหามากในการดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยเจตนารมณ์ที่กำหนดเช่นนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ไม่ให้พรรคใหญ่เอาเปรียบพรรคเล็ก ซึ่งการออกระเบียบเช่นนี้กลับไปกระทบกับประชาชน

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ทางพรรค พท.ได้ประชุมกัน และมีมติว่า 1.เราจะทำข้อเสนอไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าให้เขาทบทวนและพิจารณาว่ามีช่องกฎหมายใดที่สามารถกำหนดเป็นระเบียบได้ เพราะระเบียบสามารถตามกฎหมาย แต่เท่าที่ตนดูก็เห็นว่ามีช่องกฎหมายที่สามารถออกเป็นระเบียบและสามารถเว้นได้ เช่น ข้อห้ามตามมาตรา 73 ซึ่งเป็นข้อห้ามในการหาเสียง ที่ระบุไว้ชัดการได้มาซึ่งคะแนน คือการจูงใจให้ลงคะแนน ถ้ายังไม่เบอร์และผู้สมัครจะจูงใจให้ลงคะแนนให้ใคร เมื่อคุณไปสมัครก็จะครบองค์ประกอบ เป็นการเขียนกฎหมายล่วงหน้า ซึ่งไม่ควร เราก็ดูว่ามาตรานี้สามารถเขียนระเบียบออกมารองรับได้ เช่น ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ในกรณีที่มีความจำเป็น และให้กำหนดวงเงินไว้เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ ซึ่งเราจะเข้าไปแก้ไข ทั้งนี้ การยกร่างไม่เป็นประเด็น ทำทันแน่นอนหากเราช่วยกันจริงๆ ซึ่งเมื่อเปิดสภาฯ เราจะยื่นแน่ ก็ยังมีเวลาอยู่ 6 เดือนหากไม่ยุบสภาก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวระเบียบที่มีปัญหาต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาวินิจฉัย เช่น ศาลปกครองมาดูว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image