‘อบจ.’ กระตุกความจำกองกิจฯ ‘6 ตุลา’ นิสิตถูกฆ่าทารุณ แต่ห้ามจัดรำลึก? อ้างชนสอบ จุฬาฯต้องเป็นกลาง

‘อบจ.’ กระตุกความจำ ‘สำนักบริหารกิจการนิสิตฯ’ มีเด็กถูกฆ่าทารุณ แต่ห้ามจัด ‘รำลึก 6 ตุลา’ อ้างชนสอบ จุฬาฯต้องเป็นกลาง ไม่ไว้ใจเครือข่ายร่วมแฝงการเมือง

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม สืบเนื่อง เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา เตรียมจัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ทั่วประเทศ โดยมีจุดหลักคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งหลังมีการแถลงจัดงาน (3 ต.ค.) วันรุ่งขึ้นพบว่าสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การเมืองและเป็นหนึ่งในจุดจัดงาน มีการล้อมสแลนเพื่อเตรียมปรับปรุงพื้นที่ ไถหน้าดินใหม่ ขณะที่ เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา จากมหาวิทยาลัยอื่นก็ได้เตรียมแผนร่วมจัดงาน อาทิ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนดจัดงาน จุดเทียน วางดอกไม้ เพื่อรำลึกถึงรุ่นพี่จุฬาฯ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ที่ห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมจัดงานในโครงการ “ตุลารำลึก”

อ่านข่าว : กลายร่างชั่วข้ามคืน เปิดภาพ ‘สนามบอล มธ.’ หลัง ‘เครือข่าย น.ศ.’ จะใช้กรรไกรตัด เข้าไปจัด 6 ตุลา

จ่อจัดใหญ่ทั่วไทย ไต้หวันเอาด้วย ‘46 ปี 6 ตุลา’ สื่อ-พยาน รอพาทัวร์จุดเกิดเหตุ แง้มเปิดโรดแมปม็อบราษฎร

‘คณะจัดงาน 6 ตุลา’ ข้องใจ มธ. ไถหน้าดินอะไรตอนนี้? ขอคำนวณกรรไกรก่อน จะใช้ตัดสแลนวันจริง!

Advertisement

ล่าสุด องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ กรณีสำนักบริหารกิจการนิสิตฯ ไม่อนุญาตให้ อบจ. จัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ ความว่า

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 เป็นอาชญากรรมที่รัฐและฝ่ายอนุรักษนิยมกระทำต่อนิสิตนักศึกษา ประชาชน ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างโหดร้ายทารุณ ในเช้าวันนั้นมีผู้เสียชีวิตเท่าที่สามารถทราบได้อย่างน้อย 41 ราย และหนึ่งในนั้นคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสียชีวิตจากการถูกแขวนคอใด้ต้นมะขาม และรุมประชาทัณฑ์ทั้งเตะ ต่อย และใช้เก้าอี้ฟาดร่างอันไร้วิญญาณของเขา

Advertisement

นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุปนายกคนที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จึงได้เสนอโครงการ “ตุลารำลึก” ประกอบด้วยกิจกรรม “รำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ” “กิจกรรมเสวนาเรื่อง ขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษาในประเทศไทย” และ “เดิน/ ประวัติศาสตร์” ต่อที่ประชุมองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ และสภานิสิตฯ โดยนายิกาในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กิจกรรม “รำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ” นี้ เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือของหลากหลายเครือข่าย เช่น ศิลปะปลดแอก กลุ่ม 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฬาสาง เป็นต้น ซึ่งทั้งสององค์กรนิสิตคือ องค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ และสภานิสิตฯ ต้องมติ “เห็นชอบ” ให้จัดโครงการได้

หลังได้รับความเห็นชอบจากสโมสรนิสิตฯ ผู้รับผิดชอบโครงการได้เข้าปรึกษาหารือต่อ สำนักบริหารกิจการนิสิต ซึ่ง ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบตีฝ่ายพัฒนานิสิตฯ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย สำนักบริหารกิจการนิสิตได้แสดงความกังวลต่อกิจกรรม “รำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ” ผู้รับผิดชอบจึงได้ชี้แจงรูปแบบและเนื้อหาของกิจกรรมหลายครั้ง เพื่อแสดงความจริงใจ และไม่ปิดบังต่อสำนักบริหารกิจการนิสิต ซึ่งในการหารือครั้งสุดท้ายนั้น สำนักบริหารกิจการนิสิตได้แจ้งผู้รับผิดชอบโครงการว่า จะขอนำไปปรึกษากับอธิการบดี แล้วจะให้คำตอบว่าสามารถจัดได้หรือไม่

ต่อมา ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบตีฝ้ายพัฒนานิสิตฯ จึงได้แจ้งว่า ตนได้ปรึกษากับอธิการบดี (บัณฑิต เอื้ออาภรณ์) แล้ว มีความเห็นว่า “ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม รำลีก 46 ปี 6 ตุลาฯ” ด้วยเหตุผลสองข้อ คือ 1.วันจัดกิจกรรมอยู่ในช่วงสอบกลางภาค (วันที่ 6 ตุลาคม 2565) กังวลว่า นิสิตจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากการสอบ 2.ไม่ไว้ใจผู้ร่วมจัดซึ่งเป็นเครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย ว่ามีวาระทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

ผู้รับผิดชอบโครงการขอชี้แจงข้อกังวลของมหาวิทยาลัย ดังนี้

1.วันจัดกิจกรรมอยู่ในช่วงสอบกลางภาค กังวลว่า นิสิตจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากการสอบ

ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเห็นว่า ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมอยู่ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน (16.00 น. เป็นต้นไป) จึงไม่ได้กระทบต่อเวลาของการสอบตามตารางแต่อย่างใด สถานที่จัดงานอยู่ภายนอกพื้นที่การเรียน (อุทยานจุฬาฯ 100 ปี) และลักษณะของการรับผู้ปฏิบัติงานป็นการรับสมัคร ดังนั้น จะแจ้งให้ผู้สมัครปฏิบัติงานทราบอยู่แล้วว่า เป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการสอบกลางภาคตามตาราง หากต้องการปฏิบัติงานจริง ให้ประเมินความพร้อมจากตารางเวลาของตนเอง ผู้รับผิดชอบโครงการเชื่อว่า นิสิตมีวิจารณญาณและความสามารถในการตัดสินใจว่า ตนเองจะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ โดยไม่จำเป็นที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะต้องคิดแทนนิสิตทุกเรื่อง

2.ไม่ไว้ใจผู้ร่วมจัดซึ่งเป็นเครื่อข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย ว่ามีวาระทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่

ผู้รับผิดชอบโครงการขอชี้แจงว่า วิสัยทัศน์ของนายิกาองค์การบริหารฯ ที่ได้แถลงไว้ตั้งแต่การเลือกตั้ง ต่อประชาคมจุฬาฯ ได้กล่าวว่า

“สนับสนุนให้เกิดการประสานกำลังกันระหว่างฝ่าย ให้กิจกรรมหรือโครงการที่ทำมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้นิสิตจุฬาฯ สามารถเชื่อมโยงตนเองกับชุมชน และร่วมมือกับภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อให้นิสิตจุฬาฯ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม และลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม” และ “สโมสรนิสิตจุฬาฯ ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เท่าเทียม เป็นธรรม สนับสนุนให้สามารถใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการรวมตัวเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองและสังคมได้ มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่เสรีทางความคิด ไม่ใช่กีดกันและกักขังความคิดของเราดังที่เคยเป็นมา”

การร่วมมือกับ องค์กรภาคประชาสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย และการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางสังคมการเมือง จึงเป็นการทำงานตามวิสัยทัศน์ที่ได้แจ้งเอาไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในการประชุมทุกครั้งกับ สำนักบริหารกิจการนิสิต ผู้รับผิดชอบฯ ได้เปิดเผยรายชื่อขององค์กรที่เข้าร่วมจัดงานมาโดยตลอด ไม่ได้มีการปกปิดแต่อย่างใด และในขั้นตอนของการจัดงานและออกแบบงานจะเป็นการทำงานร่วมกันของนิสิตกับองค์กรภายนอก ดังนั้น นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการจึงจะสามารถเห็นและมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของกิจกรรม หากจะกล่าวว่า มีวาระทางการเมืองแอบแฝง วาระดังกล่าวก็คือ การจดจำ รำลึก และเรียนรู้ ไม่ให้เหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดร้ายเกิดขึ้นอีก การทวงถามความยุติธรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นต่อผู้สูญเสียในวันนั้น และการจดจำประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเลือดเนื้อและชีวิตของนิสิต นักศึกษา ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ยึดโยงแต่เพียงชนชั้นนำ

ดังนั้น เมื่อโครงการ “ตุลารำลึก” ได้ผ่านการรับรองจากองค์กรนิสิต ที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรมในทุกภาคส่วน การระงับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ของสำนักบริหารกิจการนิสิต จึงถือเป็นการแทรกแซงอำนาจการจัดกิจกรรมของนิสิตอย่างไม่ชอบธรรม เป็นการใช้อำนาจเหนือโดยการไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ไม่ใช่การให้คำแนะนำหรือกำกับดูแลตามหน้าที่ แต่เป็นการทำลายเสรีภาพในการจัดกิจกรรมและเป็นการกีดกัน กักขังความคิดของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ นายิกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาสัย ในฐานะผู้แทนนิสิตและผู้รับผิดชอบโครงการ ขอตั้งคำถามต่อ ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตฯ และบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี ว่าการระงับกิจกรรมดังกล่าว “มีวาระทางการเมืองแอบแฝง” หรือไม่ นโยบาย “ปลอดการเมือง” ของมหาวิทยาลัย เป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิตหรือไม่ และมหาวิทยาลัยมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คุณจำได้และรับรู้หรือไม่ ว่ามีนิสิตจุฬาฯ ถูกสังหารอย่างโหดร้ายในวันนั้น และมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยให้แก่ความบ้าคลั่งของฝ่ายอนุรักษนิยมที่พวกคุณไม่เคยจดจำ แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อของพวกคุณจะถูกจารึกไว้ในฐานะของผู้ที่พยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ของเรา

เป็นอีกครั้งที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสะท้อนความกลัวของชนชั้นนำ ที่ต้องการลบเลือนประวัติศาสตร์อันโหตร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับสามัญชน แต่เราจะขอกล่าวว่า ยิ่งท่านลบเลือน เราจะยิ่งกลับจำ ยิ่งท่านพยายามทำลาย เรื่องราวของพวกเขาจะยิ่งถูกเล่าขาน และอุดมการณ์ ความฝัน ของ “คนเตือนตุลาฯ” จะถูกสานต่ออย่างไม่จบสิ้น

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเสียใจและเจ็บปวดอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมรำลึก 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เนื่องจากการแทรกแซงการจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม นิสิตและบุคคลภายนอกที่ต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคมในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถข้าร่วมงานวางดอกไม้ และจุดเทียนรำลึก ณ ห้องประชุม วิชิตชัย อมรกุล คณะรัฐตาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลา 18.30 – 19.00 น. ซึ่งจัดโดย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถข้าร่วมกิจกรรมเสวนาประวัติศาสตร์ และเดินเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ในวันที่ 12 ตุลาคม และ 14 ตุลาคม

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะไม่ลืม

(สิรภพ อัตโตหิ)
นายิกาองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบกิจกรรม “รำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image