ถอดบทเรียน46ปี‘6ตุลา’ ขบวนการต่อสู้สู่คนรุ่นใหม่ เคลื่อนไหวเพื่อปชต.ไม่มีตาย

ถอดบทเรียน46ปี‘6ตุลา’ ขบวนการต่อสู้สู่คนรุ่นใหม่ เคลื่อนไหวเพื่อปชต.ไม่มีตาย

ถอดบทเรียน46ปี‘6ตุลา’
ขบวนการต่อสู้สู่คนรุ่นใหม่
เคลื่อนไหวเพื่อปชต.ไม่มีตาย

หมายเหตุ – รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาหัวข้อ “ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย คนรุ่นใหม่ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย” ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 และ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาเรื่อง “ความหวังที่ยังไม่ตาย วิวัฒนาการอุดมการณ์นักศึกษา” ที่หอประชุมศรีบูรพา ในงานรำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

ภาพจำของ 6 ตุลา 19 คือการล้อมฆ่านิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างผิดมนุษย์มนา ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชน เป็นการปิดฉากขบวนการเคลื่อนไหวที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็สร้างความทรงจำร่วมในสังคมไทยว่าคือหัวขบวนของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศนี้
ผ่านมา 4 ทศวรรษ นิสิต นักศึกษา ได้เข้ามาเคลื่อนไหวในแถวหน้าทางการเมืองอีกครั้งตั้งแต่ปี 2563 ในด้านหนึ่ง ได้สร้างความหวังและกำลังใจให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อีกด้านการกลับมาได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครอง เพราะครั้งนี้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กว่า 400 ครั้งใน 60 จังหวัด กว่า 100 กลุ่ม เพียงช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563 ที่สำคัญ เป็นครั้งแรกที่มีข้อเสนอโดยตรงต่อผู้ปกครองของประเทศนี้

Advertisement

อย่างไรก็ดี การชุมนุมใหญ่ที่เบาบางลงหลังปลายปี 2563 รวมถึงการใช้มาตรการรุนแรง การตั้งข้อหาดำเนินคดีกว่า 1,800 ราย ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางส่วน เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง วิตกกังวลว่าจะถูกกดปราบให้สงบราบคาบดังเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อีกฝ่ายก็กระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ คิดว่าคงสร้างความระคายเคืองได้เท่านี้ แต่อาจเร็วเกินไปที่เราจะท้อแท้สิ้นหวัง เยาวชนคนหนุ่มสาวยังไม่ตายจากสมรภูมิการเมืองไทยยุคใหม่ ไม่ว่าจะมีความพยายามฆ่าด้วยวิธีไหนก็ตาม เพราะพวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ไม่ได้เกิดจากการชี้นำ จัดตั้ง หากแต่เป็นผลของปัจจัยร่วมสมัย จึงยังไม่หายไปไหน ยังคงเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองจนกระทั่งทุกวันนี้

เงื่อนไขอย่างแรก คือ ความฉ้อฉลของคนที่อยู่ในอำนาจ ถ้าย้อนไปหลังรัฐประหาร 24 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา นปช. หรือ กปปส. ถูกทำให้สลายตัวไปโดยปริยาย ในช่วงแรกยังไม่ได้รับการขานรับจากนักศึกษาในสถาบันต่างๆ กระทั่งผู้มีอำนาจเริ่มรุกล้ำชีวิตส่วนตัว ห้ามฟัง-แชร์มิวสิก
วิดีโอเพลงประเทศกูมี ซึ่งวิพากษ์การเมืองและสังคมไทยอย่างถึงราก และฉากหลังส่วนหนึ่งคือเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา เยาวชนที่ถูกห้ามแสดงการต่อต้านขัดขืน จนยอดรับชมเพิ่มขึ้น 10 ล้านใน 2 วัน 2 สัปดาห์มียอดชม 20 ล้าน

ในตอนแรก เยาวชนพยายามปลดแอกตัวเองด้วยกลไกรัฐสภา คือการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.อันดับ 2 กลับสามารถเสนอชื่ออดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารขึ้นมาเป็นนายกฯ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.จนตั้งรัฐบาลได้ และสืบทอดอำนาจในคราบรัฐบาลพลเรือน ฟางเส้นสุดท้ายคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิผู้บริหารพรรคที่เยาวชนสนับสนุน ส่งผลให้คนหนุ่มสาว พร้อมใจกันออกมาจากโลกออนไลน์ สู่โลกออฟไลน์

Advertisement

ล่าสุด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้นายกฯอยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่ว่าตีความในแง่กฎหมายจะมีลักษณะแบบไหน ก็เป็นการตอกย้ำอีกว่า ลำพังกลไกรัฐสภา ไม่สามารถช่วยให้รอดได้ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวต่อไป

การเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดรูปองค์กร ข้อเรียกร้อง รวมถึงกลวิธี แม้มีกลุ่มหลัก แต่ไม่ได้เป็นองค์กรนำเหมือนทศวรรษ 2510 ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองกึ่งจัดตั้งในลักษณะเดียวกับ นปช., กปปส. และพันธมิตรในช่วงการเมืองเสื้อสี

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มย่อยจัดกิจกรรมควบคู่กันไป ปรับแนวทางใหม่ให้มีลักษณะไร้แกนนำ รู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นในการเคลื่อนไหวร่วมกัน ไม่ว่าจะการขับไล่นายกฯ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูปสถาบัน

กลุ่มย่อยในระดับภูมิภาค ได้ผนวกข้อเรียกร้องของตัวเองไปด้วย แม้บางกลุ่มสลายตัว กลุ่มใหญ่ชะลอตัว แต่ตราบใดที่ข้อเรียกร้องหลักยังไม่ได้รับการตอบสนอง การเคลื่อนไหวก็จะยังคงมีต่อไป

ในขณะที่กลุ่มหลักเน้นปราศรัย กลุ่มย่อย เช่น รีเด็ม เน้นจรยุทธ์
ทะลุแก๊ซ เน้นเผชิญหน้าท้าทาย ทะลุฟ้า เน้นสัญลักษณ์สร้างสรรค์ ยังมีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นหลากหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มที่เกี่ยวกับเพศสภาวะและศิลปะ ดังนั้น แม้การเผชิญหน้าท้าทายจะหนุดชะงักไป แต่ด้วยการเคลื่อนไหวยืดหยุ่น เยาวชนจึงสามารถปรับยุทธวิธีได้ ไม่นับรวมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่ยังคงเห็นอย่างต่อเนื่อง

เยาวชนจะยังคงเป็นพลังสำคัญในการเมืองร่วมสมัย เป็นเพราะการออกมายืนแถวหน้า ได้รับการขานรับจากคนกลุ่มอื่นด้วย ทั้งพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา และประชาชน

ในส่วนพรรคการเมือง แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไปโดยตัวแทนเยาวชนจะถูกปัดตก และแม้ว่ากฎหมายที่พรรคการเมืองเสนอจะถูกปัดตกด้วย แต่ก็มีความพยายามเสนอฉบับใหม่ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คือการเสนอทำประชามติ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉะนั้น สิ่งที่เยาวชนได้บุกเบิกแผ้วถางไว้ จึงมีเส้นทางให้ก้าวเดินต่อไปในระบบสภา

ในส่วนของประชาชน มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ การเปลี่ยนชื่อกลุ่มจากเยาวชนปลดแอก เป็นประชาชนปลดแอก รวมถึงการรวมตัวขึ้นใหม่ว่าคณะราษฎร 2563 ชี้ให้เห็นว่าผู้ชุมนุมที่มีนิสิตนักศึกษาเป็นตัวนำ ไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นเยาว์ แต่ประกอบด้วยคนสูงวัยกว่าด้วย

หลังสลายการชุมนุมคณะราษฎร 2563 แกนนำถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดี รวมถึงไม่มีการชุมนุมใหญ่โดยกลุ่มหลักอีก แต่คนสูงวัยกว่าที่เคลื่อนไหวมาก่อนหน้า ได้เข้ามาเป็นแกนนำและกำลังหลักในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ดังเช่นที่เห็นจากกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยอดีตแกนนำเสื้อแดง

ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 กิจกรรมกระจายแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยกว่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องสิทธิการประกันตัว ไม่ว่า ‘พลเมืองโต้กลับ’ หน้าศาลฎีกา และอื่นๆ ปี 2565 เน้นการเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทางการเมือง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยกว่าทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมกองทุนราษฎรประสงค์ ที่ใช้ประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งผู้บริจาคส่วนใหญ่คือประชาชนคนทั่วไป

การที่คนต่างช่วงวัยมาเคลื่อนไหวร่วมกัน ในด้านหนึ่ง ยึดโยงเข้าด้วยกันผ่านประสบการณ์ที่มี โดยเฉพาะปัญหาและความยากลำบาก ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมถึงความคับแค้นจากความอยุติธรรม โกรธเคืองที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งการสลายการชุมนุม พวกเขาถูกเชื่อมร้อยด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งระดับกว้าง เช่น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค และในระดับเฉพาะเจาะจง เช่น แนวคิดฝ่ายซ้าย เพราะอ่านงานเขียนของนักคิดกลุ่มนี้ ในขณะที่คนสูงวัยกว่าจำนวนหนึ่ง คืออดีตสหายเก่า ประสบการณ์และความคิดร่วมเหล่านี้ ได้หลอมรวมคนต่างวัยให้เป็นคนรุ่นเดียวกัน

เพลง ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ของ อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ที่ท่อนหนึ่งร้องว่า ‘เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ ประชาชน เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ ราษฎรทั้งหลาย ให้มันจบที่รุ่นเรา’ สะท้อนว่า ‘เรา’ ไม่ได้มีเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ยังมีคนช่วงวัยอื่นรวมอยู่ด้วยอย่างสำคัญ มีนักเรียนอาชีวะและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติได้ คนเยาว์วัยกลุ่มนี้ไม่เพียงเข้าร่วมการชุมนุม หากแต่ยังรวมกลุ่มโดยมีแนวทางเฉพาะของตัวเอง

การเคลื่อนไหวในระลอกนี้ อยู่ในฐานสังคมที่ค่อนข้างกว้าง หลากหลาย ทั้งสถานะช่วงวัย และเศรษฐกิจ รวมถึงอัตลักษณ์ทางสังคม เช่น เพศสภาวะ และชาติพันธุ์ที่ร้อยรัดด้วยประสบการณ์และความคิดร่วมเป็นเครือข่าย หรือกลุ่มก่อนที่ก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งจะเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ยังไม่บรรลุข้อเรียกร้องใด แต่ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในสังคมไทย

ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายกลายเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีทางเลือกมากกว่าสื่อกระแสหลัก จึงยากที่จะควบคุมความคิดได้อีกต่อไป ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจอีกต่อไป เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนที่ผมเข้าธรรมศาสตร์ในปี 2539 เป็น 4 ปีหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตอนนั้นรู้สึกว่าผ่านมานานมาก ก่อนหน้านั้น เรื่องราวของ 6 ตุลา ที่อยู่บนภาพถ่ายและวิดีโอ เป็นความลึกลับที่ตอนเรียนหนังสือในโรงเรียนเราไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นอย่างไร ความทรงจำระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา มันปะปนกันเป็นก้อนใหญ่ จนกระทั่งได้เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้เห็นวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลาครั้งแรก ตอนนี้ผ่านมา 46 ปีแล้ว เวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว

ตอนที่เราเห็นเหตุการณ์ 6 ตุลา และเชื่อมย้อนไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่เคยคิดเลยว่าเหตุการณ์ที่มีการปราบปรามเข่นฆ่ากัน ผู้เห็นต่างมาเข่นฆ่ากัน จะเกิดขึ้นอีก ในตอนนั้นไม่เคยคิดด้วยซ้ำไปว่าจะเกิดการปฏิวัติขึ้นอีก แต่มันก็เกิดขึ้น เพราะเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนนั้นก็ตกใจ และทุกสิ่งที่เราเห็นจากภาพเหตุการณ์และเรื่องราวที่เราฟังมาทั้งเรื่อง 14 ตุลา และ 6 ตุลา มันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ถ้าถามว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหมือนกับเหตุการณ์ใดมากกว่ากัน ระหว่าง 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 ผมมองว่าก็ผสมกันทั้งคู่ ถึงแม้ประชาชนจะชนะก็ถูกปราบ แล้วถ้าถามว่าเหตุการณ์ใดมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา จำนวนศพที่พบมีทั้งหมด 41 ราย ก็คิดว่าน่าจะมากกว่าพฤษภาทมิฬ ถึงแม้ว่าพฤษภาทมิฬจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 43 ราย แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีผู้ที่หายสาบสูญไปมากกว่า 300 ราย

เมื่อพูดถึงความรุนแรง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬแม้อาจดูมีความรุนแรงกว่า แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา มีความรุนแรงที่
มากกว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอยู่ 1 ประการ คือเมื่อเราดูตามหลักฐานทางการแพทย์ ศพทั้ง 41 รายที่ถูกพบ ประมาณ 2 ใน 3 เสียชีวิตจากการถูกฟาดด้วยของแข็ง มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งของแข็งที่ว่าก็มาจากประชาชนด้วยกัน ที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ถูกปลูกฝังความเกลียดชังแล้วเกิดการฆ่ากัน ในขณะที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น ความรุนแรงเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหารเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคือ เราจะเห็นต่างกันแค่ไหน ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ และปลุกระดมให้เกิดการเข่นฆ่ากันอีก ในตอนนั้นมีเฟคนิวส์จากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม การแสดงละครเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ ก็ถูกบิดเบือนว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนเกิดกระแสโจมตีนักศึกษาอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การฆ่ากันในเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม

ถึงแม้ว่าในตอนเย็นของวันที่ 5 ตุลาคมจะมีการแถลงการณ์ของนักศึกษาถึงเรื่องนี้ แต่กลับไม่เป็นข่าว เป็นเฟคนิวส์ที่ทางการไม่ยอมให้แก้ แต่ในปัจจุบัน แม้จะยังมีเฟคนิวส์ แต่เราสามารถตอบโต้ได้ เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการเอาความจริงมาสู้กับความไม่จริง เราสามารถที่จะแก้เฟคนิวส์ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์ของโซเชียลมีเดียคือ ตอนสมัยผมเป็นนักศึกษา เราไม่มีทางรู้ว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร ใส่นาฬิกาอะไร แจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ พอมาในปัจจุบันนี้ เมื่อมีกรณีที่ปรากฏภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กับนาฬิกาที่อยู่บนข้อมือ โซเชียลมีเดียก็มีการขุดคุ้ยกันจนนำไปสู่เรื่องการถือครองนาฬิกา 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร ดังนั้นผมคิดว่า ปัจจุบันเรามีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image