ส่องเกม‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ วัดพลังโค้งสุดท้าย

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อสถานการณ์ทางการเมืองในโค้งสุดท้ายกรณีรัฐบาลกำลังจะอยู่จนครบเทอม 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 ต่อกระแสความนิยมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การยุบสภามีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง โดยเฉพาะหลังการประชุมเอเปค จนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งในช่วงธันวาคม-มีนาคม จะเห็นโอกาสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง เพราะการยุบสภาสะท้อนความได้เปรียบทางเทคนิคของพรรคร่วมรัฐบาล ก็คือ 1.การขยายระยะเวลาในการเลือกตั้ง จาก 45 วัน เป็น 45 ไม่เกิน 60 วัน 2.การสมัครรับเลือกตั้ง ปกติถ้าครบวาระ การสังกัดพรรคจะต้องถึง 90 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีของการยุบสภา ระยะเวลาจะย่อเหลือ 30 วันเท่านั้น จะเห็นได้ว่าพรรคร่วมโดยเฉพาะ พปชร. มีโอกาสที่จะเกิดพรรคสาขา และการย้ายพรรคของ ส.ส.จำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ให้กับ ส.ส.เหล่านี้ในการย้ายพรรค

Advertisement

ส่วนการปรับ ครม.ไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะอำนาจ 3 ป. คุมยุทธศาสตร์ได้ในตำแหน่งสำคัญ ทั้งความมั่นคง นายกฯ ก็ดูเอง เรื่องการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค พปชร. ดูในเรื่องของระบบราชการ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดูกลไกของมหาดไทย นั่งยาวมา 8 ปีเท่านายกฯ จึงไม่จำเป็นต้องปรับ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ อย่าง กฎหมายงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ก็เรียบร้อยเสร็จสิ้นหมดแล้ว ดังนั้น การที่จะรักษาเสถียรภาพเพื่อไปสู่การเลือกตั้งมีความจำเป็นมากกว่า

ถ้าจะปรับจริง ก็อาจแทนตำแหน่งที่ว่างของพรรคต่างๆ อย่างกรณี นิพนธ์ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกไป หรือของภูมิใจไทย ซึ่งรัฐมนตรีบางท่านถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ ถือว่าการปรับ ครม.เกิดขึ้นยาก ถ้ามีก็มีเพียงแค่นี้ ทดแทนโควต้าของพรรคที่ลาออกไปหรือถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

แคนดิเดต นายกฯ ของ พปชร. ครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรน่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด เป็นหัวหน้าพรรคด้วย แล้วเราก็เห็นได้ชัดว่าในช่วงกลางเดือนที่ พล.อ.ประวิตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มีความโดดเด่น ทำให้ก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไปพอสมควร พรรคการเมืองต่างๆ ก็ลงพื้นที่ ทุกพรรคพูดถึงชื่อแคนดิเดตนายกฯตัวเอง ขณะเดียวกันก็เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ไม่มีใครพูดถึงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นยุคที่ก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไปพอสมควร ก็อาจเป็นไปได้ที่จะเห็นชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่า พปชร.เอง อดีตก็เสนอชื่อมาคนเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เกิดปัญหาเรื่องนายกฯ 8 ปี ฉะนั้นครั้งนี้ พปชร.คงจะถอดบทเรียนว่า การเสนอแคนดิเดตเพียงแค่คนเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงมีโอกาสได้เห็นทั้งชื่อทั้ง 2 โดยมี พล.อ.ประวิตร มาเป็นหลัก

Advertisement

ส่วนสูตรแชร์ตำแหน่งกันคงยาก จะไปหาเสียงกับประชาชนอย่างไร บอกให้เลือก พปชร.แต่ก็จะมีนายกฯได้ 2 คน คงไม่มี การที่จะเสนอว่าเป็นคนละครึ่งวาระ ในเชิงยุทธศาสตร์การหาเสียงก็ดี ในเชิงของภาพลักษณ์ทางการเมืองของพรรค หรือภาพลักษณ์ทางการเมือง จะทำให้ดูไม่ดี คงไม่มีแน่นอน

เวลานี้ต้องดู 1.ท่าทีของ 3 ป. เป็นผู้ดูแลยุทธศาสตร์พรรค จนกระทั่งการเลือกตั้ง ต้องรอหลังประชุมเอเปค เรื่องที่ 2 ควรจับตา พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ซึ่งคือกลไกสำคัญ ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเคาะให้ไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ จะทันหรือไม่ หรือกรณีเสนอให้กลับไปใช้ สูตรหาร 500 เหมือนฉบับก่อนหน้า จะเป็นปัญหาอีก ซึ่งกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งไม่ได้ ต้องจับตา

ถ้าถามถึงภาพลักษณ์ของทั้ง 2 ใครจะซื้อใจชาวบ้านได้มากกว่า ผมว่าเป็นมานานแล้ว การแบ่งงานกันทำตามความถนัด พล.อ.ประวิตรถนัดในงานการเมืองมากกว่า ทั้งบุคลิกภาพ อุปนิสัย ทั้งเครือข่ายต่างๆ มีความชำนาญทางการเมืองมากกว่า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เราจะเห็นได้ว่าถนัดในเรื่องของความมั่นคง มีวิธีคิดเหมือนทหาร บริหารงานเหมือนทหาร การพูดจาก็เหมือนทหาร ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ถนัดในเรื่องของงานส่วนราชการ ดูแลมหาดไทยยาวนานเท่า พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปีกว่าเท่ากัน เพราะฉะนั้น เป็นการแบ่งงานกันทำของ 3 ป. ที่ทำกันมาตลอดระยะเวลา 8 ปี

ถ้าสังเกตว่าใครมีบารมีตัวจริง การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึง พล.อ.ประวิตร คือผู้มีบารมีตัวจริง คะแนนเสียงของ พล.อ.ประวิตร มาอันดับ 1 ทั้งในส่วนของ พปชร. พรรคร่วมรัฐบาล ได้ทั้งพรรคเศรษฐกิจไทยและทั้งฝ่ายค้าน ในส่วนที่เป็นของ ส.ส. งูเห่า หรือ ส.ส.ฝากเลี้ยง ต่างๆ เหล่านี้

คือเราจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า จากการสำรวจความนิยมจะได้ยินชื่อ พล.อ.ประวิตรติดโพล ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าคะแนนนิยมในหมู่ ส.ส. พล.อ.ประวิตร น่าจะมามากกว่าด้วยซ้ำไป ถ้า พล.อ.ประวิตรเปิดตัวเป็นแคนดิเดต คงต้องดูอีกทีว่าคะแนนิยมจะเป็นอย่างไร ดูจากโดยบุคลิกลักษณะการลงพื้นที่ใน 30 วัน ระหว่างรักษาการนายกฯ เป็นไปได้ที่คะแนนนิยมของ พล.อ.ประวิตร จะเป็นที่จับตา

ในส่วนของภูมิใจไทย ครั้งนี้ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นแน่นอน เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ภูมิใจไทยเดินเข้าสภาอยู่ที่ 50 กว่าที่นั่ง เท่าๆ กับ ปชป. แต่พอผ่านไปก็มี ส.ส.งอกขึ้นมา จนกระทั่งมี 60 ที่นั่ง เกือบ 20 คน มีเรื่องของ ส.ส.ย้ายพรรค ผึ้งแตกรังจากการยุบพรรคของอนาคตใหม่ แม้กระทั่ง ส.ส.ฝากเลี้ยงอยู่กับเพื่อไทย อนาคตอาจจะย้ายมาภูมิใจไทยก็มี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิใจไทยจะได้เห็น ส.ส.เพิ่มมากขึ้น ได้ดูแลทั้งกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ในยุคปัจจุบัน ยิ่งพอมีผลกระทบของโควิด-19 แล้วก็ภูมิใจไทยมีนโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางภาคใต้เยอะ ก็ยิ่งเป็นพื้นที่เปิด ไม่เป็นพื้นที่ของ ปชป.แล้ว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าภูมิใจไทยจะได้เยอะในส่วนภาคใต้ และภูมิใจไทยก็ตีหลายพื้นที่ของเพื่อไทยเยอะเช่นกัน ทำให้เกิดวิวาทะ เช่นเรื่องไล่หนูตีงูเห่า แต่จะถึง 120 ที่นั่งหรือไม่ โอกาส 50/50 แต่ถึง 100 ผมว่าเป็นไปได้ ส่วนการที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรค อย่างอนุทิน เป็นนายก ก็ต้องรอดูหลังการเลือกตั้ง เพราะตัวเลข ส.ส.ยังไม่ออก บรรดานักการเมืองก็คงยังไม่คุยกัน ต้องชูผู้นำของพรรคตัวเอง

ผมว่าแคนดิเดตจากเพื่อไทยก็มีโอกาส แต่ไม่ง่าย เนื่องจากมีกลไก ส.ว. 250 เสียง ที่ยังอยู่ไปถึงปี 2567 ดังนั้น ต้องฝ่าด่านตรงนี้ไปให้ได้ เรื่องของแลนด์สไลด์นั้นไม่ง่าย มีอุปสรรคหลายอย่างเกิดขึ้นเหมือนกัน เช่น ในเรื่องของการเปิดฐานเพื่อไทยในภาคใต้ หรือการที่ต้องระมัดระวังว่าจะถูกเล่นงานในทางกฎหมาย ถึงจะแลนด์สไลด์ได้ 250 เสียง แต่ต้องการอีก 126 เสียง ซึ่งหมายความว่า ส.ส.ในสภาต้องเอาด้วยจึงจะไม่ต้องพึ่ง ส.ว. เพราะโอกาสที่ ส.ว.จะมาโหวตให้นั้น ไม่ง่าย

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะดันจนครบวาระ มองในเชิงจิตวิทยาการเมือง เขาได้รับชัยชนะแบบหนึ่ง สามารถอยู่จนครบเทอมได้ ท่ามกลางกระแสแรงกดดันต่างๆ ถ้าสามารถดันจนอยู่ครบเทอมได้ แสดงว่ามีกลไก หรืออำนาจบางอย่างที่สนับสนุนให้สามารถประคับประคองจนอยู่ครบเทอมได้

ถ้าเดาใจ น่าจะอยากลากจนอยู่ครบเทอม เพราะว่าอาจจะต้องรอปัจจัย หรือสถานการณ์ รอเวลามาเป็นจุดเปลี่ยน หรือรอคะแนนความนิยม รอโอกาสกลับมาจะดีเสียกว่า หากเล่นกลางเกมไปยุบสภา โอกาสที่จะได้รับชัยชนะหรือเสียงสนับสนุนสนามเลือกตั้งน่าจะเสียงเปลี่ยนได้

ต้องยอมรับว่าชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะขายตามลำพังได้เหมือนการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 น่าจะยาก ดังนั้น การรอมชอมแล้วคิดว่าตัวเองจะไปต่อได้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุน หรือภาพที่ทำให้มีความรู้สึกว่าสามัคคี การที่พลังประชารัฐจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาอีกคน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
นั่นคือการประเมินฉากทัศน์และบรรยากาศทางการเมืองว่า ณ ขณะนี้คะแนนนิยมหรือแต้มต่อทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมือนเดิมแล้ว จะทำให้พลังประชารัฐ หรือพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะดึงดันเป็นแคนดิเดตชื่อเดียว ผมว่ายาก

ส่วนการปรับ ครม. มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะปรับน้อย ไม่น่าจะมีการปรับใหญ่ได้ เพราะในแง่หนึ่ง รัฐบาลเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะครบวาระ ถ้าสมมุติ พล.อ.ประยุทธ์เล่นเกมปรับ ครม. เท่ากับว่ายอมรับแรงกดดันไปในตัว ดังนั้นน่าจะปรับเล็กตามความต้องการพรรคร่วมรัฐบาลในประชาธิปัตย์มากกว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เพิกเฉย ไม่สนใจคำเรียกร้องการปรับ ครม. โดยเฉพาะในสัดส่วนรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถซื้อใจ จะทำให้สมาชิกพลังประชารัฐต้องเริ่มทบทวนใหม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนของพรรคที่สนับสนุนตัวเองเลย นั่นจะชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มที่พลังประชารัฐอยากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตามความต้องการของฝ่ายการเมืองที่อยากให้เป็นแคนดิเดตเพียงคนเดียว ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ไม่ใช่แค่เพื่อไทย แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ผมว่าพลังประชารัฐขณะนี้ไม่น่าจะสู้ ณ ขณะนี้ลำหักลำโค่นน่าจะสู้ภูมิใจไทยได้ กระแสที่เห็นความแตกต่าง คือพรรคภูมิใจไทยมีภาพของ ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน เดินเข้ามาปวารณาตัวเอง อยากเข้ามาทำงานในอนาคตทางการเมืองกับภูมิใจไทย แต่พลังประชารัฐไม่มีภาพตรงนั้น ที่จะเติมกำลังหรือแนวร่วมใหม่ๆ เข้ามาเลย นั่นคือความแตกต่าง ไม่ต้องไปวัดว่าจะไปสู้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของเพื่อไทย เอาแค่พวกเดียวกันเอง ก็ไม่สามารถรักษาความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะกลับมาเป็นอันดับ 1 เหมือนการเลือกตั้งปี 62 ได้ เผลอๆ จะแพ้ภูมิใจไทย หรือ สู้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ผมคิดว่าเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน แต่ พล.อ.ประวิตรนั้น อยู่ที่ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าอยากจะไปต่อทางการเมืองหรือไม่ เพราะถ้าไปต่อ ทำให้พลังประชารัฐต้องมาปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการหาเสียง โดยเฉพาะการชูทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรพ่วงกัน จะทำให้หาเสียงยาก และไม่สามารถหลีกหนีกับคำถามที่สังคมสนใจว่า ถ้าสมมุติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อีก 2 ปีหลังจากนั้นใครจะเป็นนายกฯ ต่อ หมายความว่าการลงทุนทางการเมืองสำหรับพลังประชารัฐนั้น “เดิมพันสูง” และอาจประเมินว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงอยู่ที่ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์เอง ว่าตัวเองจะพอหรือไม่

ส่วนสูตรแบ่งกันเป็นนายกฯคนละครึ่งเทอม เป็นไปได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าให้รอตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองว่าการเลือกตั้งในปีหน้าใครจะได้เสียงเท่าไหร่ ถ้าสมมุติเสียงห่างแพ้ภูมิใจไทยอย่างน่าเกลียด แล้วเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์อยากจะให้เป็นนายกต่อ ก็ต้องอธิบายต่อสังคม ดังนั้นการที่จะไปพ่วงหรือเอาเฉพาะ
เครือข่าย 3 ป. เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยเพิกเฉยคณิตศาสตร์การเมือง สมมุติว่าภูมิใจไทยมีตัวเลขตามเป้าที่ต้องการ อนุทิน ชาญวีรกูล จะไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ ได้อย่างไร ต้องตอบสังคมให้ได้ด้วย ต้องคุยกันหลังการเลือกตั้ง นั่นคืออำนาจต่อรองที่แท้จริงว่าใครตัวเลขทางคณิตศาสตร์ได้เท่าไหร่ สมมุติว่าภูมิใจไทยเป็นไปตามเป้าที่ เนวิน ชิดชอบ วางไว้ 120 ที่นั่ง แล้วพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นได้เพียงแค่ 50 สังคมรับไม่ได้เด็ดขาดว่าพรรคที่มีเสียงน้อยกว่าจะมีความชอบธรรมอย่างไรในการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แน่นอนว่า พล.อ.ประวิตร เข้าใจความเป็นธรรมชาติทางการเมือง ปรับตัว เข้าใจอารมณ์ของคนในสังคมได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีระยะห่าง ทำงานแบบรวมศูนย์ เหมือนสายบังคับบัญชาราชการ ยังติดกับดักความเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน

ส่วนกรณีที่เนวิน เปรยว่าภูมิใจไทยจะได้ 120 ส.ส. และชูอนุทินเป็นนายกฯ ในทางจิตวิทยาทางการเมืองก็เป็นการประกาศตัวว่าภูมิใจไทยพร้อมแล้วกับศึกการเลือกตั้ง ไม่ใช่พรรคอะไหล่เสริม พร้อมดีดตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กล่าวคือ ส่งสัญญาณนี้เพื่อให้ทุกพรรคหันมามองในฐานะเป็นคู่แข่งที่ควรได้รับความเคารพ เช่นกัน

ขณะนี้ ยังมีคะแนนที่พร้อมจะสะวิง จากโพลหลายสำนัก เป็นคะแนนกลุ่มก้อนใหญ่ที่ยังไม่แสดงท่าทีว่าจะโหวตใครมาเป็นว่าที่นายกฯ ดังนั้น ก็ยังเป็นรายชื่อเดิมๆ ที่คุ้นชิน แสดงว่าสังคมก็พร้อมรอว่าใครจะอาสาเข้ามาเปิดตัวทำงานทางการเมือง ภาพตรงนี้จึงไม่ชัดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image