โจทย์ ‘ท้าทาย’ เพื่อไทย รุก ‘แลนด์สไลด์’ ตั้ง รบ.

โจทย์ ‘ท้าทาย’ เพื่อไทย รุก ‘แลนด์สไลด์’ ตั้ง รบ.

หมายเหตุนักวิชาการแสดงความเห็นต่อพรรคเพื่อไทยรุกการเลือกตั้ง เปิด “นโยบายมุ่งชนะแบบแลนด์สไลด์” ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ปัจจัย ตั้งเป้าคว้าชัยชนะเกินครึ่งหนึ่งของสภา 250 เสียง เพื่อเป็นหลักประกันจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

Advertisement

จากเป้าตัวเลข 250 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นเรื่องที่ท้าทายในมุมมองผม เพราะมีคู่แข่งสำคัญกำลังมาแรงจนปฏิเสธไม่ได้ อย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) การตั้งเป้าไว้เป็นเรื่องที่ดี และนำหาทางไปสู่ชัยชนะ แต่อาจจะต้องฝ่าหลายด่าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องการรับรู้ของประชาชนที่จะทำให้เกิดความนิยมในนโยบายของพรรค จนไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ดีที่พยายามตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

การที่ประชาชนจะเลือก องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งคือ ประชาชนจะมองตัวผู้สมัครแต่ละพรรคว่านำเสนอนโยบายอะไรที่จับต้องได้ ถือว่า พท.มาถูกทางแล้ว 1 ในยุทธศาสตร์ 3 ประการที่ประกาศออกไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และวันที่ 9 ตุลาคมนี้ก็จะได้เสนอรายละเอียด คือนโยบายที่จะสร้างความหวัง สร้างทางออกให้กับประชาชนเพื่อให้พ้นวิกฤต น่าจับตาว่าจะเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมประการใด จะเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมที่อาจเพิ่มขึ้นได้ กล่าวคือ สิ่งที่จะตอบโจทย์ประชาชนนอกเหนือจากบุคคลในพื้นที่แล้ว ผมเชื่อว่าประชาชนจะเน้นมองนโยบายที่เป็นรูปธรรมด้วย

ถามว่าประชาชนมีความคาดหวังเรื่องอะไรมากที่สุด ผมว่าเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ความเป็นอยู่สำคัญมากสุด คำว่าเศรษฐกิจไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องรายได้ แต่รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ หรือจะคลี่คลายปัญหาที่ประสบอยู่ได้หรือไม่ ทั้งในเรื่องภัยต่างๆ น้ำท่วม ภัยจากบุคคลที่เราได้ยินข่าวกราดยิง ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรค พท.สามารถนำเสนอได้

Advertisement

การที่ก่อนหน้านี้เพื่อไทยชนะ 2 พื้นที่แลนด์สไลด์ ในสนามเลือกตั้งใหญ่มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน แต่สนามใหญ่จะมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย การเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นฐานสำคัญ เพียงแต่ว่าต้องพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องนโยบายระดับประเทศและองค์ประกอบอื่นๆ อีก ไม่ใช่มองเพียงว่าหากชนะแลนด์สไลด์ท้องถิ่นแล้วจะนำไปสู่การแลนด์สไลด์ระดับประเทศได้เสมอไป อย่าประมาท ต้องพยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่าองค์ประกอบอื่นๆ ที่ว่านั้นคืออะไร ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องนโยบายที่จับต้องได้ โดนใจ กินได้ พูดให้คนเห็นภาพชัดเจน ก็จะมีโอกาสได้คะแนนนิยมมากขึ้น

ปัจจัยอื่นที่สำคัญผมคิดว่าเป็นเรื่องการอย่าปล่อยให้ผู้สมัครพรรคตัวเองถูกดูดไปพรรคอื่น ต่อให้มีนโยบายที่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องบุคคลที่ถูกดูดไปพรรคอื่นนั้นมองข้ามไม่ได้

ในมุมมองของ พท.คงจะต้องมองไปที่ ภท.เป็นสำคัญ อีกพรรคคือพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ประมาทไม่ได้ หากจะกำหนดเป้าหมายแลนด์สไลด์ รอบนี้ ภท.ถือว่ามีฐาน ส.ส.ระดับหนึ่งแล้ว จะเห็นปรากฏการณ์ความน่าตกใจของการย้ายพรรคของนักการเมืองพรรคอื่นมาอยู่ ภท. ที่มองว่าพรรคนี้มีอนาคตและมีแนวโน้มเป็น 1 ในพรรคที่จะต้องจัดตั้งรัฐบาลได้ นักการเมืองพรรคอื่นก็มองพรรคนี้ว่าจะมาอยู่ดีหรือไม่ จึงมีแนวโน้ม มีทิศทางลมจากกระแสที่เกิดขึ้นกับ ภท. ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าเพื่อไทยต้องพิจารณา ภท.เป็นคู่แข่งคนสำคัญ หรืออาจจะพลิกจากการเป็นคู่แข่งมาเป็นคู่หูกัน ผมเชื่อว่า ภท.เปิดกว้าง ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับ พปชร.อีกต่อไปแล้ว ตอนแข่งคงเต็มที่ แต่หลังจากปิดหีบคูหาเป็นเรื่องของการต่อรอง ล็อบบี้ต่างๆ นานา

ที่ว่า พท.จะเอาประชาธิปไตยกลับมา เป็นเรื่องนามธรรมมาก อยู่ที่ว่าจะให้คำนิยามประชาธิปไตยไว้อย่างไร เมื่อให้คำนิยามแบบไหนก็จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ชัดเจน จับต้องได้ ต้องทำให้ประชาชนได้เห็นว่าการจะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย มีอะไรบ้าง ในมุมมองของผมจะต้องให้คำนิยามประชาธิปไตยในมุมมองในพรรคก่อน 1 2 3 4 5 มีอะไร เช่น เรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ระบอบการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย คือการปฏิเสธอำนาจอื่นๆ ที่จะเข้ามาล้มประชาธิปไตย เป็นต้น

ส่วนแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คนนั้น คิดว่า 2 รายชื่อคงหนีไม่พ้น 1.แพทองธาร ชินวัตร เป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 น่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แต่เบอร์ 3 ยังไม่แน่ใจ ระหว่าง นพ.พรหมินทร์เลิศสุริย์เดช สุทิน คลังแสง หรือท่านอื่น ก็ต้องติดตามต่อไป แต่ไฮไลต์อยู่ที่เบอร์ 1 แน่นอน

กรณีที่พรรค พท.ออกตัวเรื่องยาเสพติดจากเหตุกราดยิง ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าจะรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าพรรค จะส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือไม่นั้น ผมว่าอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคจะมองว่าอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน หากยึดถือคุณค่าและองค์ประกอบของบุคลากรภายในพรรค เรื่องของการรับ ร.อ.ธรรมนัสอาจจะมีประวัติเรื่องยาเสพติดเข้ามาในพรรค อาจจะทำให้มีผลต่อคะแนนนิยมระดับหนึ่ง

ถ้ามองในมุมศักยภาพของ ร.อ.ธรรมนัส สามารถสร้างที่นั่งให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือก็เป็นไปได้ที่จะรับ สุดท้ายขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรค ถ้าสมมุติรับ ร.อ.ธรรมนัสจะต้องพิสูจน์ตัวเอง จะทำงานอย่างไรในอนาคตข้างหน้าเพื่อลดภาพลักษณ์นั้นให้ลดน้อยลง เป็นสิ่งที่ต้องตั้งเป็นโจทย์ไว้หากได้รับเชิญ ประมาทไม่ได้ ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญของการเมืองไทยที่ผ่านมา เป็นที่จับตามองว่าจะไปอยู่พรรคไหน

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศนโยบายเพื่อหวังผลให้เกิดแลนด์สไลด์ มองว่าช่วงนี้เป็นจุดผ่านสำคัญทางการเมือง เนื่องจากเกิดความระส่ำระสายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นี่คือโอกาสที่ พท.จะต้องประกาศยุทธศาสตร์ในเชิงนโยบายให้ชัดเพราะ พปชร.ไม่ใช่คู่แข่งแล้ว แต่เป็นพรรคภูมิใจไทย (ภท.) การประกาศนโยบายช่วงนี้ถือว่าได้จังหวะในช่วงสถานการณ์ยาเสพติดอีกด้วย ที่เกิดเหตุเศร้าสลดใจ แต่จะแลนด์สไลด์หรือไม่ต้องประเมินกันยาวๆ หากดูท่าทีของพรรค พท.ตอนนี้ถือว่ามีทักษิณ ชินวัตร และอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นจิตวิญญาณของพรรค พยายามจะทำงานเชิงนโยบาย

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พท.ยังทำงานการเมืองแบบพรรคการเมืองทั่วๆ ไป คือการเอาบรรดาฐานการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่เข้ามารวมในพรรคให้เพิ่มมากที่สุด อาทิ กระแสข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะกลับมาพรรค พท. และแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการยุทธศาสตร์พรรคกำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง อยากถามว่า ร.อ.ธรรมนัสมีความสามารถในเรื่องนี้ไหม แม้จะมีคอนเน็กชั่นดีแต่การรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับตัว ร.อ.ธรรมนัสอาจจะมีการตั้งคำถาม

ช่วงนี้ พท.ทำงานการเมือง 2 ด้าน ด้านหนึ่งต้องทำงานการเมืองเชิงนโยบาย อีกด้านทำงานการเมืองแบบเดิม อย่างหลังจะไปลดทอนบทบาทของพรรค สุดท้ายก็ไม่มีอะไรใหม่ มองดูแล้วการทำยุทธศาสตร์เพื่อการเลือกตั้งเท่านั้นเอง

โดยเฉพาะการประกาศว่าต้องการผู้สมัคร ส.ส.ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ถือว่าเป็นวาทกรรมเพื่อให้ลงพื้นที่ทำงานการเมือง เอาเสียงของประชาชนก่อน ท้ายที่สุดการเมืองของพรรค พท.กลับมาที่เดิม เพราะยังไม่แน่ใจว่านโยบายจะขายได้ หากนโยบายดีจริงคงต้องปล่อยมานานแล้ว แต่การออกข่าวมาในช่วงนี้เพราะเกิดกระแสในเรื่องยาเสพติด มีการโหยหาทักษินที่เคยมีบทบาทในการปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งลดกระแสของ ร.อ.ธรรมนัส จึงได้ประกาศนโยบายช่วงนี้

การชูประเด็นเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คิดว่าเป็นปัญหาของ พท.จึงยังไม่ยอมประกาศ ทั้งที่สังคมมองเป็น “อุ๊งอิ๊ง” ไปหมดแล้ว ทั้งที่ “อุ๊งอิ๊ง” ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่หากเจอแรงกดดันทางการเมืองหนักๆ ประสบการณ์น้อย รวมทั้งวัยวุฒิ จะเป็นแรงกดดัน

ประการต่อมาสิ่งที่สังคมคลางแคลงใจคือ ทำไม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ไม่มีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งที่พรรคอื่นๆ ประกาศไปหมดแล้ว สุดท้ายไปโจมตีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ว่าไปเอาซุ้มบ้านใหญ่ พรรค พท.ก็ไปเอาซุ้มบ้านใหญ่เหมือนกัน ทั้งที่ประกาศยุทธศาสตร์เตรียมการเลือกตั้ง เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง

หลายคนมองไปที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ผมมองว่าเหมาะสมเหมือนกัน ด้วยอายุ ประสบการณ์ รวมทั้งความอาวุโสสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จะเอาด้วยหรือเปล่า อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทักษิณเลือกเอาไว้ เพราะมีการโยนหินถามทางหลายครั้ง ดูได้จากการไปให้กำลังใจลูกสาวที่ จ.เชียงใหม่

การที่ พท.ประกาศเป้าหมายขอ ส.ส. 250 ที่นั่ง คิดว่าจะแลนด์สไลด์ยากมาก เพราะว่าแกนนำหลายคนในพรรคเริ่มประกาศลาออก ไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ พท.มีหลายซุ้มเกินไปแถมยังให้น้ำหนักกับทุกซุ้มการเมืองอีกด้วย ทำให้คนที่ทำงานจริงๆ เกิดความไม่แน่นอนว่าจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือเปล่า

หากเทียบฟอร์มระหว่างพรรค พท.กับ ภท. มองว่าทั้ง 2 พรรคสูสีกัน เพราะเนวิน ชิดชอบ ประกาศชัดเจนว่าจะต้องมี ส.ส. 120 อัพ และเป็นต้นขั้วการเมืองหนึ่ง จึงประกาศให้อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี หากดู ส.ส.ไหลเข้าอาจจะมีถึง 50 คน เมื่อรวมกับของเดิม 90 กว่าคน คิดว่าไม่น่าจะเกินความคาดหมายของเนวิน ส่วน พท.ก็คล้ายกันเพราะมี ส.ส.ประจำจังหวัดอยู่แล้ว ประกอบกับภาพลักษณ์ของทักษิณ ทำให้ทั้ง 2 พรรคสูสีกันมาก เป็นคู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งสมัยหน้า

การโชว์แคนดิเดตนายกฯเพื่อเรียกคะแนนเสียงเชื่อว่าอนุทินขายได้ ที่สำคัญเป็นคนวางสถานะตัวเองที่เหมาะสมทั้ง 2 ฝั่ง ท่ามกลางความขัดแย้ง อาจจะเป็นจุดหนึ่งเกิดการพลิกผันได้ เมื่อดูบทบาทของทักษิณ มีการพยายามลองใจใช้จิตวิทยาการเมืองหลายครั้งโจมตีอนุทิน แต่อนุทินใช้วิธีการประนีประนอม ไม่โต้กลับ ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตมองว่า พปชร.เกิดความระส่ำระสาย โอกาสที่ ภท.กับ พท.และพรรคพลังบูรพา มีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นแกนนำ อาจได้ร่วมรัฐบาล

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดนโยบายเพื่อชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ ทวงคืนอำนาจประชาชน ตั้งเป้าได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก พท.ชนะเลือกตั้ง อบจ.กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ดแบบแลนด์สไลด์มาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเลือกพรรคไม่ใช่บุคคล ดังนั้น แนวโน้มเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าประชาชนอาจเลือกพรรคแบบเดียวกับ อบจ. เพราะเป็นการเลือกตั้งในเขตจังหวัดเช่นเดียวกัน ต่างจากเลือกตั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง เนื่องจากมีความผูกพันใกล้ชิดในระดับชุมชนมานาน

ภาพรวมการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า พท.มีโอกาสได้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ 230-250 ที่นั่ง จาก ส.ส. 500 คน ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งกระแส กระสุน และเครือข่าย ที่กวาดต้อนหรือดึงดูด ส.ส.พรรคอื่นเข้ามาร่วมพรรคได้ มีโอกาสได้ ส.ส. 120 ที่นั่ง ตามที่ประกาศไว้ เพื่อชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ตั้งเป้าได้ ส.ส.กว่า 100 ที่นั่ง มองว่าเป็นไปได้ยากเนื่องจากฐานเสียงในกรุงเทพฯและภาคใต้ที่เคยได้ ส.ส.รวมกันกว่า 70 คน ลดลงมาก เพราะถูก พท.ตีฐานยึดครองกรุงเทพฯ ส่วน ภท.และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตีฐานภาคใต้ แถมพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดึงดูด ส.ส.ปชป.เข้าสังกัดหลายจังหวัด ดังนั้น โอกาส ปชป.ได้ ส.ส.ไม่เกิน 50 คนเท่านั้น

การเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าเป็นการช่วงชิงแกนนำจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง พท. ภท.และ พปชร.เท่านั้น โอกาสพรรคอื่นมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำ ภท. ได้ประกาศสนับสนุนอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตาม การประกาศนโยบายแลนด์สไลด์ของ พท.อาจกระทบต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เป็นพันธมิตรทางการเมือง ส่งผลให้พรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคได้ที่นั่ง ส.ส.ลดลงตามไปด้วย เนื่องจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ลดเหลือ 100 ที่นั่ง จาก 150 ที่นั่ง ส่งผลการแข่งขันชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถ้าเป็นไปได้ พท. ภท. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพันธมิตรฝ่ายค้าน จับมือกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เชื่อมีโอกาสเป็นไปได้สูง แถมเป็นการประสานกาวใจระหว่างทักษิณกับเนวิน ให้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสร้างภาพ ภท.ให้เป็นพรรคสนับสนุนประชาธิปไตยและลบภาพสนับสนุนเผด็จการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่และความมั่นใจ เป็นการตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์ประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image