เดินหน้าชน : ทำไมไทยฟื้นช้า?

ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มส่อเค้าลางชัดเจนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว

แต่มีคำถามตามมามากว่า เพราะอะไรทำให้ประเทศไทยเศรษฐกิจถึงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ทั้งที่ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง

ส่วนหนึ่งเพราะคาดการณ์ว่าปลายปี 2565 ต่อช่วงต้นปีหน้า เศรษฐกิจสหรัฐคงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคอีกครั้ง (Technical Recession)

Advertisement

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยุโรปคงจะเห็นภาวะดังกล่าว เพราะจีดีพีหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกันเป็นระยะเวลาสองไตรมาส

ทำให้การฟื้นตัวของไทยคาดหวังแรงส่งจากฝั่งการส่งออกได้ลดลง

นอกจากนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อโลกจะยังไม่ลดลงเร็ว โดยได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ

Advertisement

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 จึงต้องพึ่งพาแรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นหลัก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิม 7.2 ล้านคน

ขณะที่ปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ 13-20 ล้านคน ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดที่ 40 ล้านคน อย่างมีนัยสำคัญ

แต่โดยรวมแล้วหลายฝ่ายยังคงประมาณการจีดีพีของปี 2565 ไว้ที่ร้อยละ 3.0

ขณะที่แม้ในปี 2566 จีดีพีจะขยายตัวเร่งขึ้นมาที่กรอบร้อยละ 3.2-4.2

แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงให้ติดตาม ทั้งเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศ

ส่วนด้านแนวโน้มดอกเบี้ยนั้นคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้

อาจลากไปถึงช่วงแรกของปีหน้า ขึ้นกับระดับความแรงของอัตราเงินเฟ้อ และขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งของเฟด

นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2566 เป็นอย่างน้อยเช่นกัน แม้ว่าเป็นการปรับขึ้นที่ค่อยเป็นค่อยไป

สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยยังคงมีต่อเนื่อง

คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้มาตรฐานตาม กนง. แม้ว่าสภาพคล่องจะอยู่ในระดับสูง

แม้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Cliff)

เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรง

แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพหนี้และการช่วยเหลือลูกค้าก็ยังต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นภาระของลูกหนี้ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2566 นั้นยังเผชิญสภาวะท้าทายอยู่มาก

โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลกที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย

ทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าอย่างเต็มที่

ภาคการท่องเที่ยวก็เช่นกัน ตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาเผชิญปัญหาค่าเงินอ่อน

บางประเทศเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับราคาพลังงานสูงดันค่าโดยสารเครื่องบินและค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ให้แพงขึ้น

ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทาง หรือใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวไทย

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทร้อยละ 10-15 จะกระทบต้นทุนนำเข้าภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.2

ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมตัวรับมือ เส้นทางของการฟื้นตัวจึงยังไม่ถือว่าราบรื่นนัก

จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพราะรู้ดีว่านับจากนี้ ไทยจะเจอกับปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาหลังจากได้รับผลกระทบจากหลายปัญหามาแล้ว

เริ่มตั้งแต่โควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตพลังงาน เงินเฟ้อ มาจนถึงน้ำท่วม เรียกว่าโดนแล้วโดนอีก

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาประชาชนช่วงปลายปีโดยด่วน ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไปไม่ถึงไหน

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image