พิธา ชี้ คนรุ่นใหม่หาสิ่งที่ไม่มีในห้องเรียน อ่านปวศ.หลากหลายกว่าทุกยุค

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ภายใต้แนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” โดยวันนี้เป็นวันที่ 3

บรรยากาศเมื่อเวลา 17.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังบูธสำนักพิมพ์มติชน และซื้อหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ MORE เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี เขียนโดย Philip Coggan แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ, รสไทย (ไม่) แท้ : ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม เขียนโดย อาสา คำภา  และ ข้างขึ้นข้างแรม โดย ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ คำนำเสนอโดย เสถียร จันทิมาธร

“มาดูเล่ม MORE เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี ก็เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ และรสไทย (ไม่) แท้ ของอาสา คำภา ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยทางด้านอาหาร คิดว่าได้รับคำนิยมเยอะพอสมควร เพราะทุกคนก็เชื่อวิธีการเล่าของอาสา คำภาอยู่แล้ว  เป็นแฟนคลับมาตั้งแต่เล่มเก่าๆ และอีกเล่มได้รับคำแนะนำ คือ ข้างขึ้น ข้างแรม ที่พี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) เขียน” นายพิธากล่าว

เมื่อถามถึงบรรยากาศของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในวันนี้  นายพิธากล่าวว่า ตนเชื่อว่าหลายคนที่อยู่ในวงการสำนักพิมพ์หรือนักเขียนอาจคิดว่าโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตทำให้การอ่านหนังสือลดลง แต่ทุกครั้งที่จัดและได้มาเยือนบูธสำนักพิมพ์มติชน เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นอย่างนั้น คนยังเลือกซื้อหนังสือที่จับต้องได้ งานมหกรรมหนังสือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

Advertisement

เมื่อถามว่า ควรมีแนวทางดำเนินนโยบายพัฒนาการอ่านในประเทศไทยอย่างไร นายพิธากล่าวว่า สิทธิเสรีภาพในการพูดและการเขียนเป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะเดียวกัน ต้องสร้างวิธีคิดของนักเขียน และให้โอกาสในการแปลหนังสือจากต่างประเทศให้มากขึ้น ส่วนปรากฎการณ์เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจและซื้อหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อก้าวไปข้างหน้าก็อยากจะมองไปข้างหลัง พอโดนดึงไปข้างหลังก็อยากจะมองไปข้างหน้า เป็นธรรมชาติที่เราฝืนไม่ได้ อาจจะมีคนของรัฐหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากจะให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย ก็พยายามที่จะปิดกั้นตรงนี้ แต่ไม่มีอะไรที่ฝืนธรรมชาติได้

“ยิ่งมีเสรีภาพก็จะทำให้คนอ่าน เมื่ออยากอ่านอะไรก็ได้อ่าน แต่ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพ เรื่องเกี่ยวกับหนังสือ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมก็จะไม่มี เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า งานหนังสือ คึกคักขึ้นทุกปี และคิดว่ามีเยาวชนคนรุ่นใหม่มามากขึ้น จำนวนคนรุ่นใหม่ก็เยอะขึ้น คนรุ่นใหม่อาจค้นหาสิ่งที่ไม่มีในห้องเรียนมากขึ้น เป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมไทย ที่มีความเป็นพลเมืองและความที่ต้องการหาประวัติศาสตร์หลากหลายมากกว่าทุกยุคทุกสมัย ดีใจสำหรับคนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ด้วยว่า วรรณกรรม ถึงแม้จะมีโลกาภิวัตน์ หรือโซเชียลมีเดีย มีเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งก็ทำอะไรสำนักพิมพ์ไม่ได้ อยากให้สำนักพิมพ์จัดงานแบบนี้บ่อยๆ จะได้มี ตลาดความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”  นายพิธากล่าว

Advertisement

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงนโยบายเกี่ยวกับการอ่าน นายพิธา กล่าวว่า ข้อแรก เราต้องยึดให้มั่นในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพในการพูดและการเขียน ที่สำคัญ อาจมีเรื่องที่ไม่ตรงใจกับสิ่งที่เป็นจริตของสังคมไทย แต่เราไม่สามารถปิดกั้นความหลากหลายได้ ข้อที่ 2 เป็นเรื่องของความหลากหลายของหนังสือ ที่เขียนขึ้นมาเอง หรือหนังสือแปล หนังสือหายาก ข้อที่ 3 เรื่องระยะสั้นที่จะสนับสนุนโรงเรียน สนับสนุนคนที่อ่านผ่านแอพพลิเคชั่นสนับสนุนเพื่อให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ

นายพิธา กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายทางด้านรัฐศาสตร์สำหรับศิลปิน อย่างเช่น นักดนตรี หรือนักเขียนที่รัฐ Nashville ที่มี Public Housing (ที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ โดยจัดสรรให้ประชาชน) เป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อที่จะให้เป็นเมืองหลวงของวรรณกรรม หรือเมืองหลวงแห่งดนตรี

“นักเขียนก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต พอมีความมั่นคงในชีวิตเมื่อไหร่ก็จะผลิตผลงานได้ ไม่ต้องพะวงหน้า พะวงหลัง ว่าลูกจะอยู่อย่างไร พ่อแม่จะอยู่อย่างไร ซึ่งจะทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เหล่านี้ ก็ทั้งฝั่งอุปทานและอุปสงค์ ของเรื่องวรรณกรรม ของการเขียน” นายพิธากล่าว

จากนั้นนายพิธาได้แนะนำหนังสือที่ฝากขายจากสำนักพิมพ์อื่นๆในบูธมติชน เช่น แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์ โดย ชลจร จันทรนาวี

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่านายพิธาอ่านหนังสือแนวไหนบ้าง นายพิธากล่าวว่า อ่านได้หมด อย่างเช่น Justice และ The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good? เขียนโดย michael j. sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งดังมากในอเมริกา แต่ในวันพักผ่อนชอบอ่านของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่เขียนโดยคนญี่ปุ่น เช่น ฮารุกิ มุราคามิ และหนังสือของเกาหลีหรือไต้หวัน ซึ่งมีหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับเด็ก อย่างของ 24 แก้วตา เขียนโดย สึโบะอิ ซาคาเอะ แปล ภัทร์ พิพัฒน์กุล และหนังสือเกี่ยวกับการช่วยเลี้ยงลูก ทำให้เราเข้าใจความเป็นพ่อ รวมถุึงหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนและอมรินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image