‘ยิ่งชีพ’ ลั่น 25 ร่าง 4 ยก ถ้า ส.ว.ไม่ขวางแก้กันกระจาย ย้ำเป้า ‘รัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่’ จะเอาฉบับ ปชช.

‘ยิ่งชีพ’ ลั่น 25 ร่าง 4 ยก กินพลังงานมาก ถ้า ส.ว.ไม่ขวางแก้กันกระจาย ขอย้ำเป้า ไม่แก้ไข อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่อาคารศิลาบาตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดวงเสวนา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม” โดยมีวิทยากรเป็นตัวแทนนักเคลื่อนไหว คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ นักกฎหมาย ตลอดจนตัวแทนสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้ความเห็น

ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักกิจกรรมทางการเมือง, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินรายการโดยนายนันทพงศ์ ปานมาศ หรือกุ๊ก แกนนำเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย

โดยบรรยากาศเวลา 15.20 น. นายอานนท์ แม้นเพชร ผู้ประสานงานเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวเจตนารมณ์ในการจัดกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ว่า เมื่อประชาชนต้องการชีวิตที่ดี รัฐก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนล้วนปรารถนาความปลอดภัยในชีวิต สิทธิ เสรีภาพ และการมีชีวิตที่ดี

Advertisement

“แต่ความปรารถนาเหล่านั้นยากเกินกว่าที่ประชาชนจะสนองได้โดยลำพัง ประชาชนจึงต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการทำให้ความปรารถนาเหล่านั้นเป็นจริง เพราะรัฐมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน เพื่อให้ไปสู่จุดหมายดังกล่าวนั้น รัฐจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการปกครองประเทศ คือ รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งปวง สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 20 ฉบับ นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 จนถึงปัจจุบัน” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของไทยหลายฉบับมีการร่างเพื่อสนองความหิวกระหายของผู้มีอำนาจ โดยไม่นำผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำให้รัฐธรรมนูญหลายฉบับของประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่สามารถตอบสนองความปรารถนาของประชาชนได้

“ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ‘ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม’ เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและมีเนื้อหาสาระที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง” นายอานนท์กล่าว

Advertisement

จากนั้นเวลา 15.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนา นายยิ่งชีพ หรือเป๋า ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เคยถูกเสนอในสภาว่าต้องแก้ไขมาแล้ว 25 ร่าง 4 ยก ซึ่งจะเป็นอย่างนี้เสมอ ถ้าไม่ถูกขัดขวางโดย ส.ว.ที่อยู่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญนี้ ก็คงจะถูกแก้กระจุยกระจายไปแล้ว เนื่องจากหลายๆ เรื่องที่สำคัญ ส.ส.ก็โหวตให้ พรรครัฐบาลโหวตแก้กันมาเยอะ แต่ติดที่ ส.ว.

“25 ร่าง 4 ยก ใช้เวลาและพลังงานไปมาก แก้ได้ 1 ประเด็น คือระบบเลือกตั้ง ซึ่งแก้ผ่านไปแล้ว แต่รายละเอียดยังเถียงไม่จบ ไม่รู้ว่าแก้ดีพอหรือยัง ลุ่มๆ ดอนๆ มาก การแก้รัฐธรรมนูญในสภา ผมอยากจะย้ำ เราจะใช้คำว่าแก้รัฐธรรมนูญน้อยลง แต่จะใช้คำว่า เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนให้มากขึ้น เพราะการแก้ไขที่เสนอมาหลายรอบ คือระยะสั้น ทั้งเรื่องอำนาจและที่มา ส.ว. แต่นั่นไม่ใช้เป้าหมาย เป้าหมายเราคือ อยากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ไกลเกินเอื้อมไหม ไม่ไกลเกินเอื้อม คนตั้งชื่องานฟันธงไปแล้วว่าไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ไม่ไกลเกินเอื้อมจริงหรือไม่ เอื้อมไปถึงหรือยัง และเราต้องทำอะไรบ้าง” นายยิ่งชีพกล่าวเปิดประเด็นในวงเสวนา

ก่อนถามผู้ร่วมวงเสวนา ว่า ทำไมเราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ไกลเกินเอื้อมจริงหรือไม่ ?

ในตอนหนึ่ง นายยิ่งชีพ ยังกล่าวเสริมนายจตุพรด้วยว่า ตอนนี้รัฐธรรมนูญแก้ไป 1 เรื่องแล้ว คือระบบเลือกตั้ง ทำให้เราต้องแก้กฎหมายเลือกตั้งใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ซึ่งลุ่มๆ ดอนๆ มีคนยื่นคัดค้านที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายจตุพรประเมินว่า ไม่ได้ใช้หรอก เพราะไม่ได้เลือกตั้งง่ายๆ

โดยนายยิ่งชีพ ยังกล่าวแซวนายจตุพร ที่ชื่อเล่นว่า ‘ตู่’ ด้วยว่า

“เวลาเรียก ‘พี่ตู่’ เฉยๆ มันคันๆ ต้องเรียกให้เต็ม” นายยิ่งชีพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image