‘ลุงศักดิ์’ ตะบันหน้า ‘ศรี’ ไฟต์เดือดสะท้อนสังคมไทย

‘ลุงศักดิ์’ ตะบันหน้า ‘ศรี’ ไฟต์เดือดสะท้อนสังคมไทย

กลายเป็นทอล์กออนเดอะไทยแลนด์อย่างแท้จริง สำหรับเหตุการณ์ “ลุงศักดิ์” หรือ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล วัย 62 ปี บุกเข้าวางมวยนอกเวที โดยมีคู่กรณีคือ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กลางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะเข้าร้องเรียน โน้ส อุดม แต้พานิช ปมเดี่ยว 13 วิพากษ์รัฐบาล

ก่อน “ลุงศักดิ์” ถูกรวบตัววันรุ่งขึ้นที่ลานจอดรถอาคารมาลีนนท์ (ช่อง 3) ขณะรอถ่ายทำรายการ “โหนกระแส” จากหมายจับค้างเก่าในคดีทำร้ายร่างกาย ด้วยการ “ตบศีรษะ” เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้
อีสาน อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ของศาลแขวงดุสิต ปี พ.ศ.2564 โดยได้รับการประกันตัวเป็นที่เรียบร้อย!

สำหรับสายม็อบและผู้ร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง “ลุงศักดิ์” ไม่ใช่คนหน้าใหม่ ทว่า เป็นหนึ่งในกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 กระทั่ง เมื่อเกิด “แฟลชม็อบ” ของคนรุ่นใหม่ ลุงศักดิ์
ก็ปรากฏตัวในนามคนเสื้อแดงอีกครั้ง โดยขึ้นรถเครื่องเสียงปราศรัยกับกลุ่มเสื้อแดงประชาธิปไตย หรือ Red Democracy รวมถึง “แดงก้าวหน้า 63” ในสมรภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกราชประสงค์ และอีกมากมายอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งยังเคลื่อนไหวผ่านช่องยูทูบ “ศักดินาเสื้อแดง”
โดดเด่นด้วยลีลาการหยิบยกประเด็นปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล ตั้งคำถามแรงๆ ถึงความ (ไม่) ชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ วิพากษ์การป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งยังบอกเล่า “ความในใจ” มากมายในเรื่องราวชีวิตที่พลิกผันของตนเอง จากหนุ่มอีสาน หัวหน้าครอบครัวผู้มีอันจะกิน พ่อของลูกสาวอันเป็นที่รัก สู่การประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจ
คำว่า “สะใจ” ถูกใช้เกลื่อนในโลกออนไลน์ พร้อมใจ “โอน” ล้นหลามเพื่อเป็น “กำลังใจ” ในฐานะ “ตัวแทนหมู่บ้าน”

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความเห็นแตกต่างหลากหลาย วาทะ “ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง…แต่…” คือประโยคที่ถูกพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ด ถูกกล่าวถึงในวงสนทนา ถูกหยิบยกขึ้นถกตั้งแต่สภากาแฟของชาวเบบี้บูมเมอร์จนถึงร้านกาแฟชิคๆ เก๋ๆ ของคนเจเนอเรชั่นใหม่

อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มองว่า ขณะนี้สังคมขยับมาอีกขั้น คือรู้ว่าอะไรคือความรุนแรง และรู้ว่าความรุนแรงมันไม่ใช่เรื่องถูก จนเห็นหลายคนโพสต์ข้อความดังกล่าว ความน่าสนใจของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์คือ ทำไมคนจำนวนมากจึงเลือกที่จะตอบรับการใช้ความรุนแรงกับคนอย่างศรีสุวรรณ (และน่าจะอีกหลายคน)

ADVERTISMENT

“ผมยังคิดไม่ออกเสียทีเดียว แต่คิดว่าเหตุผลหนึ่งที่คนตอบรับการใช้ความรุนแรงกับศรีสุวรรณคือ สันติวิธีไม่สามารถทำอะไรคนแบบนี้ได้ ถูก-ผิด ผมยังคิดไม่ตก แต่ความน่ากลัวคือ คนอย่างศรีสุวรรณที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยังมีอีกหลายคน ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามจะเลือกใช้ความรุนแรงตอบ เราจะประณามคนเหล่านั้นหรือไม่ อย่างไร หรือจะใช้หลักความบริสุทธิ์ของคู่กรณี เช่น พวกสมัครใจเข้าวิวาทเอง หรือความกวน…เอง ซึ่งถ้าวางความเป็นพวกพ้องลง เราจะได้เห็นอะไรๆ มากขึ้นในใจของตนเอง เรื่องนี้ยากอยู่ ในฐานะคนทำงานงานสิทธิมนุษยชน ผมต้องพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ และในฐานะหนึ่งในแกนๆ ของฝ่ายเรา ผมคงไปพูดว่าผมเห็นด้วยหรือสะใจแบบเพื่อนๆ ไม่ได้” อานนท์เผยความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ศรีสุวรรณยื่นเรื่องกับตำรวจเพื่อตรวจสอบโน้ส อุดม เพราะถือเป็นการคุกคามทางกฎหมายต่อผู้เห็นต่าง ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อศรีสุวรรณเช่นกัน

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร เจ้าของรางวัลแมกไซไซ 2019 มองว่า การแสดงความคิดเห็นของโน้ส อุดม ถือเป็นการใช้ศิลปะในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติและเปิดเผย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองฯ ให้ความคุ้มครองการฟ้องร้อง หรือการแจ้งความในลักษณะนี้ จึงอาจถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuit to Anti Public Participation – #SLAPP) หรือ “ฟ้องปิดปาก” คือการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้หวาดกลัว รัฐบาลจึงควรมีท่าทีที่ชัดเจนในการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ไม่ควรปล่อยให้มีการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามผู้เห็นต่าง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม อังคณา ย้ำว่า ผู้ที่เห็นต่างจากศรีสุวรรณ ก็ควรเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของบุคคลดังกล่าว ไม่ควรใช้ความรุนแรงใดๆ แต่ควรเรียกร้องรัฐบาล โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนให้เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน และในฐานะที่ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) ปี ค.ศ.2025-2027 ประเทศไทยจึงต้องแสดงความจริงใจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีรัฐบาล หน่วยงานของรัฐควรเปิดใจกว้าง ไม่ปล่อยให้มีการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีที่เป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากประชาชนตามอำเภอใจอีกต่อไป

อีกความเห็นที่น่าสนใจยิ่ง มาจาก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยประสบภัยจากการร้องเรียนของศรีสุวรรณมาก่อน

“ในฐานะคนเคยโดนศรีสุวรรณไล่ฟ้องเรื่อยเปื่อย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและอาชีพ…ผมถูกแหล่งทุนปฏิเสธ มีการยกเลิกการบรรยายพิเศษ ฯลฯ คนในครอบครัวเกิดความกังวลต้องคอยรับสายโทรศัพท์ จากการฟ้องเรื่อยเปื่อยที่เลือกคดีโทษสูงแบบไร้มูลเพื่อให้เป็นข่าว ฟ้องคนไปทั่ว ผมพูดตรงๆ ว่า สิ่งที่ศรีสุวรรณทำกับผมและหลายคน รุนแรงกว่าการต่อยหน้ามาก เป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น แต่บ่อยครั้งมันฆ่าคนทั้งเป็น” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

สำหรับประเด็น สันติวิธีและความรุนแรง นักวิชาการท่านนี้ชี้ว่า เครื่องมือแต่ละคนไม่เท่ากัน ภาวะการถูกกดขี่ของคนไม่เท่ากัน ตนจะเอาศีลธรรมที่ตัวเองเชื่อยึดถือไปบอกว่าให้แต่ละคนยักไหล่กับศรีสุวรรณก็ไม่ได้เช่นกัน เรื่องนี้จึงตามแต่ละคนจะสะดวก จะถอดบทเรียน หรือปฏิรูปนิยามของคำว่าสันติวิธีก็ทำไปพร้อมกันได้ จะเน้นความถูกต้องทางการเมือง ก็ให้พูดถึงความรุนแรงประเภทที่เรามองไม่เห็นด้วย ทำไปได้พร้อมกัน

ครั้นเมื่อต่อสาย ยกหู คุยเพิ่มเติม ถามถึงสิ่งที่สะท้อนจากกระแสสังคมซึ่งสนับสนุนการออกหมัดรัวของลุงศักดิ์ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ วิเคราะห์ว่า บ่งชี้ถึงการที่คนไทยมีความเชื่อมั่นผ่านกระบวนการยุติธรรมต่ำลง ช่องทางปกติไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ไม่เป็นธรรมหรือความผิดปกติต่างๆ ในสังคมจะได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างทันท่วงทีและเป็นธรรม

“เรื่องการไฟเขียวให้เกิดความรุนแรงต่างๆ ผมคิดว่าก็ต้องไปวิเคราะห์ในเรื่องของจิตวิทยาทางสังคม กระแสทางสังคม หรือว่าตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นภาพชัดตอนนี้คือคนไทยรู้สึกว่ามันมีกระบวนการความไม่เป็นธรรมต่างๆ เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมันไม่สามารถจัดการกับคนที่สร้างปัญหาบางอย่างได้ ถ้าอยากให้มีการเจรจาพูดคุยกันตามปกติ ก็ต้องทำให้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เข้าสู่ภาวะปกติจริงๆ” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ทิ้งท้าย

นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที ทว่า สะท้อนปมปัญหาที่อัดอั้น หมักหมมอย่างต่อเนื่องยาวนาน รอการแก้ไขที่สังคมไทยผ่านพ้นภาวะเช่นนี้ให้ได้ในวันหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image