ศิริกัญญา เตรียมฟ้อง ป.ป.ช. ‘กสทช.’ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดีลควบรวมทรู-ดีแทค

แฟ้มภาพ

ศิริกัญญา เตรียมฟ้อง ป.ป.ช. ‘กสทช.’ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดีลควบรวมทรู-ดีแทค

จากกรณีที่ที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น

วันเดียวกัน (20 ตุลาคม) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยทางเฟซบุ๊กกรณี เดินหน้าเตรียมฟ้อง กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังปฏิเสธอำนาจ “การให้อนุญาต” ควบรวมทรู-ดีแทค

น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า หลังจากผลการลงมติ กสทช.เสียงข้างมาก ออกมาว่า “รับทราบ” การรวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่คาดเดาได้จากพฤติกรรมต่างๆ ของ กสทช.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะตามมากับประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งสภาพการแข่งขันที่ลดลง แนวโน้มค่าบริการที่จะสูงขึ้น และคุณภาพของการให้บริการที่อาจด้อยลงในอนาคต ตลอดจนถึงความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจะยิ่งถ่างออก

ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า กสทช.มีความพยายามมาโดยตลอดที่ตีความกฎหมายที่มีอยู่ว่าตัวเองไม่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต และทำได้เพียงรับทราบ แม้จะตรงกันข้ามกับความเห็นของทั้งอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ตั้งขึ้นมาเอง ความเห็นของศาลปกครอง รวมถึงความเห็นของกฤษฎีกา ที่ย้ำชัดว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่ที่จะอนุญาต หรือไม่อนุญาต เนื่องจากเป็นเข้าถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน

Advertisement

การที่ กสทช.อ้างว่าทรูและดีแทคไม่ได้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันจึงทำได้แค่รับทราบเท่านั้น การรวมธุรกิจจึงไม่ต้องขอการอนุญาตนั้นค้านสายตาคนทั้งประเทศ จะด้วยเหตุผลว่าทรูไม่ได้เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ในขณะที่ดีแทคถือใบอนุญาตธุรกิจ Wi-fi หรือจะด้วยเหตุผลว่าบริษัทที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ (New Co.) ที่จะโอนย้ายหุ้นไปไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ก็ฟังไม่ขึ้นแทบทั้งสิ้น

แม้จะมีเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะออกมา แต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้คืนสภาพการแข่งขันให้เหมือนกับการมีผู้ให้บริการ 3 รายได้ และมาตรการต่างๆ ไม่ได้สร้างแรงจูงใจมากพอที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด นับว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชน

ในเมื่อ กสทช.ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด เราจำเป็นต้องยื่นฟ้อง กสทช.ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image