รายงานหน้า 2 : ถอดรหัส‘หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม’ นำพปชร.ชนะเลือกตั้ง?

ถอดรหัส‘หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม’

นำพปชร.ชนะเลือกตั้ง?

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีนายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมเสนอสูตร “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” เป็นแคมเปญในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ที่ พปชร.จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

วลีที่กล่าวว่า หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือลุงตู่ ยังเป็นจระเข้ขวางคลอง เพื่อที่จะไปต่อด้วยเงื่อนไข โดยหมดที่ลุงตู่หมายความว่าจะไปอีก 2 ปี และต่อด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือลุงป้อมอีก 2 ปี ซึ่งรัฐบาลคนละครึ่งแบบนี้ มองว่าลุงตู่กับลุงป้อมมีท่าทีประนีประนอมกันมากกว่า เนื่องจาก ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีทั้งซีกของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ทำแบบนี้มองว่าเป็นการจัดแจงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ มากกว่าที่จะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเชิงนโยบายของพรรค เป็นการแก้ไขปัญหาภายในพรรคมากกว่าจะแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย คิดว่าคงขายประเด็นให้กับสังคมค่อนข้างยาก เนื่องมาจากมีโพลออกมาว่า ลุงตู่มีคะแนนนำพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อโพลนี้ เพราะไม่ได้สะท้อนความจริงออกมา

ส่วนวลี มีเราไม่มีแล้ง มองว่าสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐแบบนี้คงไปยาก แต่เชื่อว่าจะเจอกับฝูงอีแร้งมากกว่า เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถเป็นแกนนำพรรคเดียวได้ มองยากว่าจะได้ ส.ส.เกิน 200 เสียง จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วม มีโอกาสเจอทั้งอีแร้ง และพญาแร้งค่อนข้างมาก หรือพรรคพลังประชารัฐเองอาจจะเป็นเหยื่อให้อีแร้งรุมขย้ำอีกด้วย

Advertisement

การที่พรรคพลังประชารัฐดิ้นทุกวันนี้ มีความพยายามที่จะแลนด์สไลด์เหมือนกัน แต่ดูจากกระแสสังคม ภาพลักษณ์รัฐบาล ดูจากผลงานที่ผ่านมา สถานการณ์แบบนี้คงแลนด์สไลด์ยาก แต่ด้วยปัจจัยโครงสร้างยังมีความได้เปรียบ อาทิ ฐานเสียงของ ส.ว. รวมทั้งแนวร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความได้เปรียบกว่าพรรคเพื่อไทยค่อนข้างมาก หากจะแลนด์สไลด์ในฐานะเป็นแกนนำของพรรคพลังประชารัฐดูแล้วค่อนข้างยาก กล่าวง่ายๆ คือคำว่า แลนด์สไลด์คงใช้กับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ เผลอๆ อาจจะได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคภูมิใจไทยด้วยซ้ำไป

หากมองในส่วนของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการแลนด์สไลด์ คิดว่าคงยากเหมือนกันเพราะพรรคเพื่อไทยเกิดความระส่ำระสายจากยุทธศาสตร์ของหัวหน้าพรรค ที่ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ประกอบกับท่าทีทางการเมืองของแกนนำพรรคจำนวนมาก ที่มีท่าทีประนีประนอมกับ พล.อ.ประวิตร ผลจากยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจน บวกกับมีการประนีประนอม รวมทั้งมีการครอบงำจาก ทักษิณ ชินวัตร มากเกินไป ส่งผลให้การแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยเป็นไปได้น้อย จึงมองว่าต้องการเอาชนะเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าความต้องการที่จะแลนด์สไลด์ หากมีความต้องการชนะในเชิงยุทธศาสตร์จะประกาศแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเดินหาเสียงทันที ที่สำคัญการไม่ประกาศว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคแต่ไม่มีสิทธิคิดถึงการเป็นนายกรัฐมนตรี อาจส่งผลทำให้การแลนด์สไลด์ลดลง และยากขึ้นทุกขณะที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์

เมื่อดูฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย จะพบว่ากระจัดกระจายค่อนข้างมาก ตอนนี้ถ้าจะเลือกพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นแฟนคลับพรรคเพื่อไทยจริงๆ เท่านั้น โดยไม่สนในเรื่องของแลนด์สไลด์ ส่วนใหญ่ ส.ส.ที่ได้มาของพรรคเพื่อไทยจะมาจากนักเลือกตั้งประจำจังหวัด ช่วงนี้หากมองดูตัว ส.ส.ในอนาคต ส่วนใหญ่จะมาจากฐาน ส.ส.ประจำจังหวัดเป็นฐานหลัก ยกเว้นพรรคก้าวไกลอาจจะได้ ส.ส.จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือบัญชีรายชื่อ โดยได้มาจากนโยบายจริงๆ

ในการแก้ไขปัญหาพรรคพลังประชารัฐที่เกิดความแตกแยก อยากให้กลับไปมองในเรื่องของที่มาของพรรคพลังประชารัฐก่อน ในทางการเมืองถือว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อค้ำยันบัลลังก์อำนาจ เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงคนจากอุดมการณ์ จึงทำให้เกิดปัญหาที่เห็นได้ อย่างทุกวันนี้ เพราะทุกคน ทุกกลุ่มที่เข้ามาก็เพื่อต่อรอง เพื่อมาจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมือง ภายใต้ร่มเงาของพรรคพลังประชารัฐ หากต้องการไปต่อ ก็เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี การปรับกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐไปต่อระยะยาวนั้นคงยาก เพราะตัวพรรคไม่ได้ตั้งขึ้นมา เพื่อทำงานระยะยาว

ชั่วโมงนี้หากมองพรรคพลังประชารัฐมีทางเดียวเท่านั้นคือ ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อได้เป็นรัฐบาล โดย ส.ส.จะต้องไม่น้อยเกินไป อย่างน้อยต้องอยู่ในลำดับที่ 2 เชื่อว่าบารมีของ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งอิทธิพลของ พล.อ.ประวิตรที่มีต่อพรรคร่วมรัฐบาล หรือมีต่อ ส.ว.จะทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลได้อีกสมัยหนึ่ง ส่วนการจะไปต่อคงยาก แต่ทำอย่างไรให้ตัวเองสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เท่านั้น ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 1 ก็ตาม

ส่วนการชูประเด็นพรรคพลังประชารัฐว่ามีฐาน ส.ส.มากถึง 150 คนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมเห็นเป็น 2 ส่วนคือ 1.ทำให้ ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐประเมินแล้วไปไม่ไหว และต้องการย้ายพรรคเกิดความลังเลใจ 2.สร้างความเชื่อมั่นกับบรรดา ส.ส.ในก๊วนต่างๆ แทนที่จะแตกแยกหรือขัดแย้งกัน ขอให้มาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย ส.ส. 150 คนกันก่อน

หากมองว่าที่ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐในอนาคต เมื่อมาดูโครงสร้างนับตั้งแต่การก่อรูปพรรค บรรดาว่าที่ ส.ส.ส่วนใหญ่แล้วคือ มาจากนักการเมืองประจำจังหวัดนั้นๆ ตอนนี้อาจจะเป็น ส.ส.อยู่ในพรรค คนในครอบครัว หรือ
เครือข่ายนักเลือกตั้งประจำจังหวัด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือบรรดาข้าราชการในจังหวัด ที่เกษียณราชการและเติบโตภายใต้ร่มเงาของ คสช. อดีตผู้ว่าฯ อดีตนายอำเภอ อดีตนายตำรวจ อดีตทหาร จะเห็นเด่นชัดในภาคใต้ ที่มีอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุลงมาสมัครพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก เพราะถือว่าตัวเองยังมีชื่อเสียง มีบารมี มีฐานคะแนนเสียงอยู่ซึ่งจะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ส่วนที่ไม่เห็นเลยในพรรคพลังประชารัฐคือคนรุ่นใหม่

ถ้าให้มองว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคตของพรรคพลังประชารัฐ หากประเมินจากกระแส นโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งความล้มเหลวที่ผ่านมาในการผลักดันนโยบาย คิดว่าจะได้ ส.ส. 150 ที่นั่งนั้นคงเป็นไปได้ยากมาก เมื่อประเมินคร่าวๆ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากได้เกิน 100 ที่นั่งถือว่าหืดขึ้นคอแล้วนะ

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐพยายามที่จะไปให้ได้ มองแล้วตลกมาก เนื่องจากพยายามจะตีคู่ทั้งลุงตู่ ลุงป้อม ด้วยความที่ พล.อ.ประวิตร มองความเป็นพี่น้อง และไม่กล้าหักน้อง ในขณะเดียวกันน้องก็ไม่ประเมินตนเองว่า กระแสนั้นไม่เหมือนกับ 7 ปีที่ผ่านมา หากไปต่ออีก 2 ปี ทำให้ตอบคำถามสังคมได้ยากขึ้น ถือว่าไม่เป็นผลดีเลย ทั้งที่มีทางลงแล้ว แต่ไปงัดบันไดทิ้ง ดีไม่ดี โค้งสุดท้าย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะไหลออกไปอีก

ทัศนัย เศรษฐเสรี
อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

กรณีพรรคพลังประชารัฐ ชูสโลแกน หมดที่ลุงตู่สู่ลุงป้อม และ มีเราไม่มีแล้ง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย หรือเป็นการโยนหินถามทาง เพื่อดูกระแสตอบรับประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สนับสนุนมากน้อยแค่ไหนเพราะผู้ที่เคยสนับสนุน ลุงตู่ บางส่วน ไม่เอาลุงตู่แล้ว เนื่องจากไม่ตอบสนอง หรือตอบโจทย์ประชาชน ทำให้ผู้สนับสนุนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจึงหันหลังให้ลุงตู่ ส่วนลุงป้อมที่มาแทนลุงตู่ มีประสบการณ์การเมืองมากกว่า แถมมีอำนาจ วาสนา บารมี และเครือข่ายสนับสนุนอยู่ ทำให้ พปชร.สนับสนุนเป็นผู้นำประเทศ มากกว่าลุงตู่ เพราะ พปชร.ไม่มีใครแล้ว ที่ชูเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม การชูลุงป้อม แทนลุงตู่ ต้องคำนึงถึงศักยภาพ วุฒิภาวะประสบการณ์การเมืองที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพราะผู้นำประเทศถือเป็นหน้าเป็นตาประเทศ ที่ต้องตามทันการเปลี่ยนแปลงโลก แต่ลุงป้อมไม่ใช่แม่เหล็ก ที่ประชาชนให้ความสนใจ หรือสร้างการยอมรับจากนานาชาติได้ เนื่องจากเป็นคนยุคเก่า อายุมาก มีปัญหาสุขภาพ ดังนั้นสมการผู้นำประเทศ หรือรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ ที่อยู่ในกระแสนิยม

หรือความสนใจประชาชน มีวิสัยทัศน์และนโยบายที่ตอบโจทย์ หรือตรงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สำคัญต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนยอมรับ มีความหวัง ที่นำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า แบบยั่งยืนในอนาคต

ดังนั้น ทางเลือก หรือทางออก พปชร. เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องปรับโครงสร้างพรรค มีผู้บริหารพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์และนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ที่ลุงตู่เป็นนายกฯ ไม่ได้ทำตามนโยบาย หรือสัญญาที่ให้กับประชาชนไว้ กระแสความนิยม จึงหดหายไปมาก ซึ่งการชูแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอได้ 3 ชื่อนั้น พปชร.ได้เสนอเพียง ลุงตู่ กับ ลุงป้อมเท่านั้น ยังไม่มีตัวเลือกคนที่ 3 หาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการ พปชร. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แกนนำ พปชร. ยังอยู่ อาจเป็นตัวเลือกคนที่ 3 ของพรรค ส่งผล พปชร.มีโอกาสชนะเลือกตั้ง หรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้

ส่วนประชาชนที่มีความห่วงใย หรือกังวล เกี่ยวกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจ หรือคว่ำกระดานเลือกตั้งสมัยหน้า หากลุงตู่ ลุงป้อม พรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสแพ้เลือกตั้งนั้น เชื่อว่าทำได้ยาก เนื่องจากตัวละครที่เคยอยู่เบื้องหลัง ได้ออกมาอยู่หน้าฉากหมดแล้ว ทำให้ประชาชนรู้กลวิธีดังกล่าวแล้ว ถ้ายังใช้กลยุทธ์ หรือวิธีแบบเดิม เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ออกมาต่อต้าน และคัดค้านถึงที่สุด อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรงในวงกว้างมากขึ้น

บทสรุป ไม่ว่า พปชร.ชูลุงป้อมแทนลุงตู่ หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ เพื่อสกัดแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย หรือพรรคฝ่ายค้าน มองว่ากลยุทธ์ดังกล่าว ไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งได้ เพราะรัฐบาลอยู่มา 8 ปี ประชาชนให้โอกาสมากแล้ว ดังนั้นรัฐบาล ควรเตรียมและจัดการเลือกตั้งให้พร้อมที่สุด และเป็นไปตามกฎกติกา ไม่ใช้วิธีสกปรก หรือมือที่มองไม่เห็นมาช่วย ที่สำคัญต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพื่อให้ประเทศได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยด้วย

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขึ้นอยู่กับความเป็นเอกภาพว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จับมือกัน ทั้งคู่ไม่มีปัญหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่าย พล.อ.ประวิตร ก็เรียกร้องมาให้ทาง พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นสมาชิก พปชร. แต่ยังไม่ชัดเจน ในเมื่อไม่ชัดเจนจึงมีความแตกแยกกัน ไม่เดินไปด้วยกัน

คะแนนทางฝั่งเพื่อไทย ถ้าได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนสมัยไทยรักไทย สมมุติภาคอีสานเขากวาดหมด รวมถึงภาคเหนือที่เคยชนะเลือกตั้งปี’48 หากทำได้อย่างนั้นก็แลนด์สไลด์ไป แต่ลุงตู่ ลุงป้อม ยังลังเล เพราะว่าอาจจะเกิดความไม่มั่นใจ ลุงตู่อาจจะอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น

ส่วนตัวไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรแตกกันจริง อาจจะเป็นลับ ลวง พราง ก็ได้ เรื่องแบบนี้พวกเขาชำนาญอยู่แล้ว อาจเป็นการสับขาหลอก แต่ที่จริงไม่ได้ทะเลาะกัน ถ้าเป็นแบบนั้นจริงจะทำให้น่ากลัว อย่างพรรคที่มีการตั้งออกมาเป็นสาขา มีพรรคใหม่เกิดขึ้นตั้งหลายพรรค ถ้าเกิดมารวมกันแล้วเป็นแบบนั้นจริงทางฝ่ายเพื่อไทยจะลำบาก เพราะมีครบหมดทุกอย่าง มีทั้งกระสุน มีทั้งกำลังพล มีทั้งปืน กำลังทรัพย์ และอำนาจ พร้อมหมดทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นรัฐบาลด้วย ตรงนี้ได้เปรียบ อย่างตอนน้ำท่วมทาง กกต.ไม่ให้ ส.ส.แจกของ

ที่โดนมากสุดคือ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เดินทางไปเยี่ยมเฉยๆ ก็ไม่ได้ ถ้าไปตัวเปล่าชาวบ้านจะรู้สึกอย่างไร อาจคิดว่าไปเยี่ยมทำไม ไม่เห็นเอาอะไรมาช่วยเลย ทำให้คะแนนตกหมด

ถ้าหากสุดท้ายทาง พปชร.ไม่ได้แตกกันจริงๆ แต่เป็นการสับขาหลอก เป็นลับ ลวง พราง ทางภูมิใจไทยเขาจับมือกันอย่างแน่นอน ทางประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง ทั้งยังมีสิทธิเป็นพรรคที่ต่ำกว่า 50 คือ เขาไม่แคร์ ถ้าได้ภูมิใจไทย และพวกพรรคเล็กมาหลอมรวมกันอีก

ถามว่าเหล่าองคาพยพจะเอาใครนำใครตาม เดาว่าคงกำลังตกลงกันอยู่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์คงกำลังรักษาชื่อ รักษาหน้า จึงอาจจะขออยู่ต่อไป ขอเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ปี แต่พอ 2 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องลง อาจจะตกลงกันก็ได้ หากเป็น พล.อ.ประวิตรขึ้นมาแทนก็ขึ้นได้ถ้ายังมีแรงอยู่ คงเดินไหวอยู่ ส่วนตัวไม่มั่นใจเท่าไหร่ คิดว่าคงกำลังหาดีลที่ลงตัวให้ทุกคนทุกฝ่ายพอใจ

ถามถึงทางออกของ พปชร.ในการหาเสียง คิดว่าถ้าหากตกลงกันได้จริงๆ ไม่เห็นลำบากตรงไหน โดยเฉพาะพรรคที่ตั้งชื่อ พรรคนู้น พรรคนี้ ดูเหมือนเป็นคนละพรรคกัน สุดท้ายที่จริงแล้วเป็นพรรคเดียวกัน แตกแบงก์ เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยเคยทำในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว คิดว่าเอาให้ชนะเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน ถ้าลุงตู่จะให้อยู่ต่อเพื่อรักษาชื่อเสียง เกียรติประวัติจนถึงปี’68 ก็ลงจากตำแหน่ง พอเลือกตั้ง ส.ส.ยังเหลืออีก 2 ปีแล้วเลือกคนอื่นขึ้นมา อยู่ตรงที่ พปชร.ว่าจะเสนอชื่อใครบ้างมาเป็นนายกฯ

ส่วนตัวคิดว่าจะยากตรงไหนที่จะเสนอทั้งลุงตู่ ทั้งลุงป้อม แล้วใครอีกคนก็ได้ เพราะมันเสนอตั้ง 3 คน มีทางเลือกตั้งเยอะแยะ

ส่วนประเด็นที่ว่าสุดท้าย พปชร.จะชู 3 ป.เลยหรือไม่ คิดว่าก้ำกึ่งกัน ทางลุงป้อมที่ควบคุมขุมกำลัง ควบคุมองค์กรอิสระ ควบคุม ส.ว.บางส่วน แต่ลุงตู่อาจจะมีกำลังภายในที่หนักแน่นกว่า สุดท้ายนี้ใครคิดว่าจะเป็นตัวชี้ขาดจริงๆเด็ดขาดจริงๆ คิดว่าลุงตู่ยังได้เปรียบอยู่ เพราะเป็นนายกฯมากี่ปีแล้ว แล้วยังมีกองเชียร์แน่นหนา ถ้าสมมุติเป็นอย่างที่ว่าจริงๆ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ใครจะไปรู้ ถ้าคุมกำลังได้ดีจริงๆ ถ้าเกิดเลือกตั้งแล้วเกิดหนักแน่น แน่นหนามาอีก มีการแก้รัฐธรรมนูญ เหมือนประธานาธิบดีจีน อย่างสี จิ้นผิง เพื่อที่จะต่ออายุไปอีก ทำไมจะทำไม่ได้ แต่ก็หวังว่าอย่าให้เกิดขึ้นมาก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image