ที่มา | ทีมข่าวเฉพาะกิจ |
---|
การขุดคอคอดกระ ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา หัวข้อหนึ่งคือ “ปัญหาการขุดคอคอดกระ” โดยมีเนื้อความว่า
“เรื่องเดิมที่ปัจจุบันยังไม่มีการตัดสินใจดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์นาวีโดยตรงคือโครงการขุดคอคอดกระหรือการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน(แลนด์บริดจ์)ที่เคยมีดำริมาก่อนแต่ถูกระงับไปด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ สนใจที่จะสร้างเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า ที่ช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่าย อันเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นแผ่นทอง เพื่อประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยการริเริ่มสร้างเส้นทางใหม่ๆ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนและสติปัญญาความสามารถของพวกเราเอง”
นำมาสู่การถกเถียงอีกครั้ง ว่าการขุดคอคอดกระ จะเดินหน้าหรือทิ้งลงถัง?
ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มกราคม ว่า การขุดคอคอดกระ อยู่ในช่วงของการศึกษาข้อดีข้อเสีย ปัญหาชายแดนภาคใต้แก้ได้หรือยัง ยังมีพื้นที่อื่นที่มีปัญหาอีก ไม่ใช่ว่าขุดแล้วจะมีคนมาใช้ ถ้าแพงกว่าของเดิม เขาจะมาไหม ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าดีหรือไม่ดี มีหลายอย่าง โครงการคอคอดกระ มีสะพาน ถนนข้าม แต่ถามว่าเงินมีไหม จะเอาเงินจากไหน ถ้าคิดก็คิดได้หมดแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
“ผมยังไม่ทำ ยังมีความจำเป็นอื่นเร่งด่วนกว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ทำ ไม่อย่างนั้นคนที่อยากทำก็มาโจมตีผมอีก… ต้องพิจารณาหารายละเอียด ศึกษาผลดีผลเสีย ด้านความมั่นคงด้วย ถ้าเขียนอย่างนี้ผมไม่โกรธเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
การตอบข้อสงสัยดังกล่าว อาจเป็นคำตอบกลายๆว่า “รอไปก่อนนะ”
ตั้งแต่สมัย “พระนารายณ์”
เห็นควรว่าต้องขุด
คอคอดกระ หรือกิ่วกระ ส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู อยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กว้างเพียง 50 กิโลเมตร มีการพูดถึงแทบทุกยุคสมัยในเรื่องการขุดเชื่อมทะเล 2 ฟากคืออันดามัน กับอ่าวไทย เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม สามารถนับย้อนไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่สยามเปิดประเทศติดต่อกับชาติยุโรป กระทั่งถึงปัจจุบัน มีเส้นทางที่เป็นไปได้ถึง 12 เส้นทาง ยุคที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ พ.ศ.2544 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ โดยเรียกว่า “คลองไทย”
วันนี้ เมื่อมีการเสนอขุด “คอคอดกระ” อีกครั้ง และคนที่เสนอก็ไม่ใช่ธรรมดา แต่มีตำแหน่งถึงองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี จึงมีหลายเสียงตามมา ทั้งต่อต้านและขานรับ อาทิ นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า เห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในอดีตมีการศึกษามานับสิบปี มีเส้นทางที่เหมาะสมหลากหลาย แต่ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากมีปัญหาหลายด้าน ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งที่การขุดนั้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิขของประเทศแบบก้าวกระโดด ทั้งการจ้างงาน การสร้างรายได้ ไม่ควรหวั่นวิกฤติด้านความมั่นคงเกินไป
“ไม่ควรวิตกเรื่องการแบ่งประเทศ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการทหารทันสมัย สามารถแก้ปัญหาได้ และรัฐบาลควรยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมวางแผนให้ชัดเจนเพื่อโอกาสทางการค้าและการลงทุน ทราบว่ามีต่างชาติสนใจมาลงทุน เพื่อเชื่อมเส้นทางการเดินเรือจากยุโรปไปเอเชียเหนือ จากเดิมต้องเสียเวลาวิ่งอ้อมผ่านแหลมมลายู หากเป็นประเทศอื่นคงขุดไปนานแล้ว เพราะจะมีเรือผ่านคอคอดกระมากกว่าคลองปานามา”
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานีและประธานสมาพันธองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ภาคใต้ บอกว่า ผู้มีอำนาจไม่ควรวิตกจริตกับความเชื่อเก่าๆ เรื่องความมั่นคงหรือการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งผลประโยชน์จากบางประเทศที่ไม่ต้องการให้มีการขุดคอคอดกระ อย่าให้ปัญหานี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีความเหมาะสมแทบทุกด้าน เชื่อว่าประชาชนทั้งภาคใต้จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รัฐบาลต้องชี้แจงเรื่องผลประโยชน์ที่คนทั้งประเทศจะได้รับในระยะยาว
นายณรงค์ ขุ้มทอง นักวิชาการอิสระ บอกว่า ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ขนส่งใหม่ของโลกที่ครอบคลุมประชากร 4 พันล้านคนหรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก จากการศึกษาในอดีตมองว่าเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดคือ เส้นทาง 9 A ตั้งแต่ อ.รัชดา จ.กระบี่ มาถึง จ.ตรัง ผ่าน อ.ป่าพยอม จ.พัทลุง และ อ.ทุ่งสง อ.ปากพนัง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช รวม 159 กิโลเมตร ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยเพราะไม่แตะต้องทะเลสาบสงขลา อาจเสียป่าพรุควนเคร็งบ้าง แต่โดยรวมแล้วหลายจังหวัดได้ประโยชน์
“จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ 3-4 ล้านคน เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัศมี 20-30 กิโลเมตรตลอดแนวเส้นทาง ส่วนงบที่ใช้คาดว่าอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท คลองกว้างประมาณ 300- 500 เมตร ความลึกไม่น้อยกว่า 50 เมตร ให้เรือขนาด 5 แสนเดดเวตตัน ทำเป็น 2 เลนคือขาเข้าและขาออก หากเกิดขึ้นเต็มศักยภาพจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางสายไหม 7 เส้นทางที่จีนมีแผนจะพัฒนาด้วย
“ปัจจุบันช่องแคบมะละกาของสิงคโปร์ค่อนข้างแออัดมีเรือผ่านเข้าออกถึงปีละ1แสนลำ(น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน3แสนเดดเวตตัน)เต็มศักยภาพของช่องแคบแล้วและขยายช่องแคบไม่ได้เพราะติดหมู่เกาะของอินโดนีเซียการขุดคอคอดกระของไทยจึงช่วยระบายความแออัดของการเดินเรือที่ช่องแคบมะละกาได้เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าจำนวนเรืออาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนลำต่อปี” นายณรงค์ กล่าว
พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก อดีตผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การขุดคลองกระจะทำให้กองเรือซึ่งอยู่ในอ่าวไทย สามารถร่นระยะเวลาในการเดินทางไปยังฝั่งอันดามันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านความมั่นคง และภารกิจช่วยเหลือกู้ภัย หากเกิดภัยพิบัติ
เหตุผลเดิม “ไม่ขุด”
แบ่งแยกประเทศ?
นั่นคือเสียงที่ออกมาสนับสนุนการขุดคอคอดกระ ขณะที่อีกด้าน ค้านด้วยเหตุผผลว่าไม่เหมาะสมในหลายด้าน
คนที่ออกตัวแรงที่สุด ค้านหัวชนฝาคือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อ้างว่าประเด็นนี้มีการพูดคุยอย่างละเอียดแล้ว เมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มองว่ายังมีวิธีหารายได้หรือพัฒนาเศรษฐกิจวิธีอื่นที่สามารถทำได้ดีกว่า ทั้งการสร้างทางรถไฟ หรือตัดถนนต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องตัดพื้นที่ประเทศออกเป็นสองส่วน เพราะมีผลผูกพันทั้งด้านจิตใจและภูมิศาสตร์
ด้าน นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า บอกว่า กรมเจ้าท่ายังไม่มีข้อมูลและผลการศึกษาการขุดคอคอดกระ ข้อมูลที่มีอยู่เป็นข้อมูลที่มีนานแล้ว ยังไม่มีผลการศึกษาใหม่ออกมา ปัจจุบัน บริบทแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ แตกต่างจากผลการศึกษามาก อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายในพม่า ทางภาคใต้ของไทยก็มีท่าเรือเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันออกค่อนข้างมากแล้ว ไม่รู้ว่าการขุดคอคอดกระจะคุ้มค่าหรือไม่ อีกทั้งเทคโนโลยีการขนส่งก็พัฒนาไปมาก อาจไม่จำเป็นต้องขุดคลองเพื่อขนส่งทางน้ำ อาจทำทางรถไฟซึ่งมีความคุ้มค่ามากกว่า
ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่เป็นระบบมากที่สุดครั้งแรกที่นำเสนอต่อรัฐบาลคือเมื่อ พ.ศ.2516 โดย TAMS หรือบริษัท Tippetts-Abbett-McCarthy-Stratton ที่บอกว่า แนว 5A เป็นไปได้มากที่สุด ในการขุดคลองที่มีความลึก 33.5 เมตร กว้าง 490 เมตร ยาว 107 กิโลเมตร สามารถให้เรือ 5 แสนเดดเวตตันแล่นผ่านได้ โดยใช้งบ 22,480 ล้านดอลลาร์ (ขณะนั้น)
สำนักข่าวซีซีทีวีของจีนรายงานเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมาว่าการก่อสร้างจะใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาทและใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 ปี โดยรัฐบาลจีนกำลังศึกษาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทย
ขุด-ไม่ขุดยังไม่มีการสรุปความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียอยู่ที่ว่าใครเป็นคนชั่งน้ำหนักและตาชั่งนั้นมีความเที่ยงแค่ไหน