‘นาค’ ก่อนครม.ยกเป็นเอกลักษณ์ชาติไทย คือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ‘บรรพสตรี’ แห่งอุษาคเนย์

เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เมื่อครม.เห็นชอบให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน โดยระบุว่าเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตสะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน (อ่านข่าว รัฐบาล ยก ‘นาค’ เอกลักษณ์ประจำชาติ เกี่ยวพันวิถีชีวิตไทยมานาน ต่อยอดเป็น Soft Power)

อย่างไรก็ตาม นาค ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะไทย หากแต่เป็น ‘สัตว์ศักดิ์สิทธิ์’ ของชาวอุษาคเนย์  หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มชนสองฟากแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลยูนนานลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงในเขตเขมรกับญวน มีลัทธิบูชานาค เชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลอง เกิดความอุดมสมบูรณ์ และอาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติได้ เช่น ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเมืองล่มจม

นาค สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ศาสนาดั้งเดิม

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และเจ้าของผลงานหนังสือเล่มสุดฮิตเกี่ยวกับนาค ได้แก่ นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ และนาคมาจากไหน ? เผยข้อมูลว่า นาค เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาดั้งเดิม กล่าวคือ ระบบความเชื่อหรือศาสนาดั้งเดิมของกลุ่มชนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่หนองแสลงมาถึงลุ่มแม่น้ำโขง เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการ บูชางู ที่เรียกกันภายหลังว่า นาค

Advertisement

ภาชนะเขียนสีที่บ้านเชียงซึ่งเป็นรูปวงกลม ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงูหรือนาค ลายเขียนสีบางชุดมีรูปหัวงู ซึ่งท่านอาจารย์ชิน อยู่ดี นักปราชญ์ไทยด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงู

นาค เป็นสิ่งที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เกิดแม่น้ำ หนอง บึง ภูเขา และแหล่งที่อยู่อาศัย นาคในอุษาคเนย์มีที่อยู่ใต้ดิน เรียกว่าบาดาล หรือนาคพิภพ

ครั้นวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะพราหมณ์กับพุทธแพร่หลายเข้ามา ก็มีนาคชุดใหม่อยู่บนฟ้าตามคติอินเดีย  ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่

Advertisement

ดังนั้น จะเห็นว่าเรื่องพระพุทธเจ้าทรงทรมานนาคก็ดี เรื่องพระอิศวรกับพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) รบกับพญานาคก็ดี ในตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นการแสดงถึงชัยชนะของศาสนาใหม่ที่มีต่อระบบความเชื่อหรือศาสนาเก่า

 

แม่น้ำโขงเกิดจาก นาคต่อสู้กัน

นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่บอกเล่าว่า แม่น้ำโขง เกิดจากนาคต่อสู้กัน ดังปรากฏใน “ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” (อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 72) จดไว้ในรูปนิทานว่า

พวกนาคที่อยู่หนองแส (ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของจีน) เกิดทะเลาะวิวาทกัน นาคพวกหนึ่งต้องหนี

การหนีตายของนาคพวกนี้ทำให้เกิดการคุ้ยควักแผ่นดินที่ผ่านไปเป็นร่องน้ำ แล้วกลายเป็นแม่น้ำโขง ดังมีความพิสดารต่อไปนี้

“ครั้งนั้นมีพญานาค 2 ตัว เป็นสหายกัน อาศัยอยู่ใน หนองกระแสหลวง เมื่อได้บริโภคอาหารสิ่งใดก็แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งไปให้แก่สหายเสมอมิได้ขาด

อยู่มาวันหนึ่ง พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งอยู่ทิศใต้หนองกระแสหลวงได้กุญชรตัวหนึ่งก็แบ่งเนื้อกุญชรส่งไปให้แก่สหายซึ่งอยู่ทิศเหนือหนองบริโภคส่วนหนึ่ง

วันหนึ่ง พญาสุตตนาคตัวเป็นสหายซึ่งอยู่ทิศเหนือหนองได้สรกา คือเม่นตัวหนึ่ง ก็ได้แบ่งเนื้อเม่นส่งไปให้สหายส่วนหนึ่งดังหนหลังนั้นแหละ

ครั้งนั้นฝ่ายพญาศรีสัตตนาค เมื่อได้แลเห็นเนื้อเม่นน้อยก็มีความโกรธแก่พญาสุตตนาค เรียกร้องเอาบริวารของตนได้ 7 โกฏิ พากันไปถึงที่อยู่ของพญาสุตตนาคก็เห็นขนเม่น จึงกล่าวว่าสหายนี้ไม่รักกันแท้หนอ เมื่อได้อาหารตัวใหญ่โตถึงเพียงนี้เหตุไรจึงแบ่งไปให้เราแต่นิดหน่อย แม้แต่เพียงดมก็ไม่พอจักเหม็นสาบ

พญาสุตตนาคจึงกล่าวว่า สัตว์นี้มีขนโตก็จริง แต่ตัวเล็ก เราได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่งไปให้ท่านส่วนหนึ่งดังที่เคยกระทำมาแล้ว

แม่น้ำโขงไหลผ่านเมืองเชียงแสน

พญาศรีสัตตนาคจึงกล่าวว่า ชาติสัตว์ตัวมีขนใหญ่ถึงปานนี้ เหตุไรท่านจึงว่าตัวเล็กเล่า กูไม่เชื่อฟังถ้อยคำมึงละ มึงนี้หาความสัตย์บมิได้ แล้วก็ได้พาเอาบริวารของตนเข้ากระทำยุทธกับบริวารของพญาสุตตนาค มีเสียงอันทึกก้องโกลาหนสนั่นหวั่นไหว ประดุจดังว่าสระหนองกระแสนี้จักแตกทำลายไป

แต่รบกันอยู่นานได้ 7 วัน 7 คืน

ส่วนพญาศรีสัตตนาคเป็นผู้ที่หาความสัตย์มิได้ พลอยมากล่าวว่าพญาสุตตนาคผู้มีสัตย์ว่าหาสัตย์มิได้ ดังนั้นบริวารของตนก็พ่ายแพ้แก่บริวารของพญาสุตตนาค ครั้นแล้วพญาศรีสัตตนาคก็พาบริวารหนีไปยังที่อยู่ของตน

ส่วนพญาสุตตนาค เห็นว่าพญาศรีสัตตนาคไม่สามารถจะต้านทานเอาชัยชนะแก่ตนได้ ดังนั้นก็พาบริวารขับไล่พญาศรีสัตตนาคพร้อมทั้งบริวารไปถึงที่อยู่แห่งพญาศรีสัตตนาค

ฝ่ายพญาศรีสัตตนาคเห็นว่าพญาสุตตนาคพาบริวารตามมาถึงที่อยู่แห่งตนเช่นนั้น ก็พาบริวารคุ้ยควักพ่ายหนีออกไปทางทิศหรดี เที่ยวอาศัยอยู่ตามซอกห้วยถ้ำภูเขา

แต่นั้นมาน้ำหนองกระแสก็ไหลตามคลองที่พญานาคและบริวารคุ้ยควัก แล้วได้ชื่อว่า แม่น้ำขลนที คือ แม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำของ

นางนาค บรรพสตรี

ไม่เพียงเท่านั้น นาคยังมีความสัมพันธ์กับคนในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษ และมักแสดงสัญลักษณ์เป็นเพศหญิงหรือตัวเมีย เรียกว่า “นางนาค”

นางนาคเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงพื้นเมือง ที่เป็น “แม่” ผู้ให้กําเนิดชีวิตและเป็น “เจ้าแม่” ผู้ถือครองแผ่นดินและน้ำให้ความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์

มีนิทานทั้งของอินเดียใต้และของบ้านเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ยกย่องว่านางนาคเป็นบรรพบุรุษของตน โดยเฉพาะตำนานของอาณาจักรจามปาและอาณาจักรฟูนันในเวียดนาม ตำนานของอาณาจักรกัมพูชาในเขมร ล้วนระบุว่านางนาคเป็นเจ้าแม่ครองแผ่นดินอยู่ก่อน ภายหลังจึงมีพราหมณ์จากเมืองไกลมาสมสู่เป็นผัวนางนาคจนได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น

ในเมืองไทยเองก็มีนิทานเรื่องพระร่วงกษัตริย์แคว้นสุโขทัยเป็นลูกนางนาค รวมทั้งนิทานแถบโยนก-ล้านนาอีกหลายเรื่องจะเกี่ยวข้องกับนางนาค

ยังมีนิทานประจำนครธมในเขมรบอกว่า นางนาคเป็นเจ้าแม่ผู้ถือครองปราสาทนครธมและเป็นเจ้าแผ่นดินทั้งราชอาณาจักร ทุกคืนจะกลายร่างเป็นหญิงสาวรูปงามเพื่อเสพสังวาสกับกษัตริย์กัมพูชา หากคืนใดกษัตริย์ไม่ขึ้นไปเสพสังวาสตามหน้าที่จะมีเหตุร้ายให้บ้านเมืองพินาศล่มจม

ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน ในนครธม เชื่อว่าเป็นภาพที่เล่าเรื่องกษัตริย์กับ “นาค” ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

นิทานเรื่องนางนาคประจำนครธมนี้เชื่อกันว่าเป็นเรื่องเดียวกับนิทานพระทอง-นางนาค และเป็นที่มาของเพลงพระทอง-นางนาคครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ใช้บรรเลงในงานแต่งงานมาแต่สมัยโบราณ

น่าสงสัยว่านิทานเรื่องนางนาคจากเขมรจะมีอิทธิพลให้เกิดนิยายสมัยใหม่เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” ด้วย

ในประเพณีทำขวัญหรือบายศรีสู่ขวัญของกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาว จะใช้เพลงนางนาคประโคมขับกล่อม หมายถึงการแสดงความอ่อนน้อม และวิงวอนร้องขอความมั่นคงและมั่งคั่งหรือความอุดมสมบูรณ์จากนางนาคหรือเจ้าแม่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและแผ่นน้ำให้แก่ผู้รับทำขวัญนั่นเอง

เมื่อรับคติทางพระพุทธศาสนาแล้ว เพลงนางนาคก็สอดคล้องกับประเพณีบวชของสังคมไทยที่กำหนดให้ลูกชายที่จะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ ต้องโกนผมห่มเครื่องเรียกว่านาคก่อน แล้วมีพิธีทำขวัญนาค ที่หมอขวัญจะขับลำคำร่ายบรรยายกำเนิดของผู้เป็นนาคตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์ของแม่ กระทั่งคลอดเป็นตัวเป็นตนจนเติบใหญ่ได้อายุครบบวช ซึ่งหมายความว่าลูกชายกำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็นพระสงฆ์ที่แม่จะต้องกราบไหว้ต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกชายคือ (ลูก) นาคไม่ลืมพระคุณของแม่คือนางนาคนั้นเอง

ขบวนแห่เพื่อนำนาคไปอุปสมบทที่วัด (จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เขียนสมัยรัชกาลที่ ๕)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image