‘ม็อบชาวนา’ นับพัน ปักหลัก ทวงแก้หนี้ ชี้ 8 เดือนไร้รูปธรรม หลังได้มติ ครม. ลุง 67 น้ำตาคลอ สู้มา 10 ปี

ม็อบชาวนาปักหลักเรียกร้อง 4 ธนาคาร เกือบ 8 เดือนหลังออกมติ ครม. แต่ยังไม่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ชาวนาน้ำตาคลอเป็นหนี้ 1.5 แสน พ้อสู้มา 10 ปี

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินกลาง เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยกว่า 40 จังหวัด ปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องเเก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตร กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง ที่ขอให้ผ่านเอาเข้า ครม.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ว่าการชุมนุมประท้วงของกลุ่มชาวนาเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย มีการกางเต็นท์ปูเสื่อเต็มบริเวณทางเท้ายาวไปถึงหน้ากระทรวงคมนาคมและหน้า สน.นางเลิ้ง โดยไม่ลงไปยังผิวจราจรบนถนนราชดำเนินกลาง บางรายนั่ง นอน รับประทานอาหาร เครื่องดื่ม พูดคุยและอื่นๆ โดยมีรถสุขาจาก กทม.ให้บริการตามจุดต่างๆ

นางปิ่นแก้ว แก้วสุกแท้ ผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ ’มติชน’ ว่าตอนนี้หน้ากระทรวงเกษตร รวมถึงหน้ากระทรวงคมนาคม และหน้า สน.นางเลิ้ง เป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากคนเยอะจึงล้นออกไป วันนี้ตนอยู่ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โดยมี นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาและแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ประจำอยู่บริเวณเวที หน้ากระทรวงเกษตร เบื้องต้นมียอดผู้ชุมนุมประมาณ 3,000-4,000 คน ซึ่งปักหลักมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Advertisement

“เรามาติดตามเรื่องเดิม ซึ่งเมื่อต้นปี 2565 ที่เราปักหลักอยู่หน้ากระทรวงการคลัง 66 วันในครั้งนั้น เพื่อเรียกร้องเเก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตร กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง โดยขอให้ผ่านเอาเข้า ครม.เมื่อ 22 มีนาคม 2565 ซึ่งตอนนี้มติ ครม. 4 ธนาคารของรัฐยังไม่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม หมายความว่าได้มติมาแต่ยังไม่ปฏิบัติ เราจึงมาติดตาม ให้ลงรายละเอียด เช่น ลูกหนี้ 50,000 ราย ที่มติ ครม.เคาะมานี้จะปรับโครงสร้างหนี้ การลดปรับเงินต้น 50% ระหว่างตัวสมาชิกกับกองทุนฟื้นฟูและเจ้าหนี้คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่างรายละเอียดต่างๆ ในการปรับโครงสร้างหนี้ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ ยังไม่เสร็จ และตอนนี้ระยะเวลาล่วงเลยมาถึงเกือบเดือนที่ 8 แล้ว เราจึงมาติดตามเรื่องเดิม ไม่ได้มีประเด็นใหม่” นางปิ่นแก้วกล่าว

Advertisement

นายไพรินทร์ กองอาษา เกษตรกรวัย 67 ปี เดินทางมาจาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่าปัจจุบันตนมียอดหนี้อยู่ 150,000 บาท และสุขภาพที่ไม่สามารถทำงานในระยะเวลานานได้ พร้อมให้ผู้สื่อข่าวดูใบรับรองแพทย์

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า การมาม็อบแบบนี้ทุกคนขัดสน เช่น น้ำดื่มไม่มี เราต้องซื้อกินเอง ชาวบ้านที่มาก็ใช้เงินตัวเองทั้งหมด ต้องทิ้งบ้านทิ้งงานมา ภรรยาเป็นโรคหอบหืดก็ต้องทิ้งมา เพราะถ้าเขายึดที่ดินไปก็ไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน

“เราต่างคนต่างเดินทางออกค่าใช้จ่ายกันมาเอง ใช้ทุนของตัวเอง บางคนห่อข้าวห่อน้ำมาหุงกินที่นี่ อาศัยร้านค้าละแวกคอยช่วย เรามาเรื่องหนี้ของเราเรื่องเดียว เรื่องทุกข์ของเรา ใครจะช่วยใช้หนี้ให้เราแค่นั้นเอง ต่อสู้มา 10 กว่าปีแล้ว” นายไพรินทร์เผย

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงสิ่งอำนวยความสะดวก นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า รถห้องน้ำสาธารณะมาถึงตั้งว่าให้ใช้ แล้วก็ไปเลย อย่างผู้หญิงบางครั้งต้องขอเข้าห้องน้ำในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กลับถูกต่อว่ามาทำพื้นที่เขาสกปรก เราเลยไปขอเข้าที่ สน.นางเลิ้ง ที่เขาให้ความอนุเคราะห์ให้เรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องห้องสุขา ผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งให้ข้อมูลว่ามีคนมาช่วยดูเรื่องทำความสะอาดห้องสุขาเคลื่อนที่ให้ แต่ด้วยผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก และผู้สูงอายุบางคนกดชักโครกไม่เป็น จึงมีบางส่วนไม่ได้กดบ้าง จึงมีกลิ่นและความสกปรก จึงไปใช้บริการที่ สน.นางเลิ้ง โดยในช่วงแรกกระทรวงเกษตรอนุญาตให้เข้าไปใช้ห้องน้ำได้ แต่ภายหลังถูกห้าม จึงไปที่ สน.นางเลิ้ง เป็นส่วนใหญ่

ไพรินทร์ กองอาษา เกษตรกรวัย 67 ปี เดินทางจาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image