แวดวงนักการเมือง – นักวิชาการ ร่วมอาลัย “ลิขิต ธีรเวคิน”ราชบัณฑิต

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 23.30 น. ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคมะเร็ง โดยเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ ญาติได้เคลื่อนศพ ศ.ดร.ลิขิต จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาบำเพ็ญกุศลที่ศาลาสิทธิยามการ วัดธาตุทอง เขตวัฒนา เวลา 17.00 น. ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระพิธีธรรม-สวดพระอภิธรรม ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน และมีการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศพิธีรดน้ำศพว่า มีครอบครัว นักการเมือง และนักวิชาการ ทยอยมาร่วมพิธีจำนวนมาก อาทิ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้จักกับ ศ.ดร.ลิขิต มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทำงานร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญ ศ.ดร.ลิขิต เป็นมีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติและอยากเห็นประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนา และอยากเห็นการเมืองของประเทศไทยพัฒนาไปในทางที่ดี อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบยุติธรรม ทั้งนี้ น่าเสียดายที่เวลาที่จะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศนั้นมีน้อยเกินไป แม้จะ ศ.ดร.ลิขิต จะอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่เป็นผู้ที่มีความรู้สมภาคภูมิ อย่างไรก็ตามขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ ศ.ดร.ลิขิต มาในโอกาสนี้ด้วย

Advertisement

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ได้เรียนกับ ศ.ดร.ลิขิต โดยตรงเนื่องจากอยู่คนละมหาวิทยาลัย แต่ว่าตำราของ ศ.ดร.ลิขิต ถือว่าเป็นตำราหลักเล่มหนึ่งในวิชาการเมืองไทย ในยุคสมัย 2530 ศ.ดร.ลิขิต จะมองการเมืองไทยเน้นความเป็นจริง ต่อมามีการสนับสนุนพลังของประชาธิปไตยมากขึ้น ความนิยมของในช่วงหลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกง่ายๆว่า ศ.ดร.ลิขิตพูดที่ไหนนั่นคือประชาธิปไตย รู้สึกใจหายที่ท่านจากไป

ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจและเสียดายมากๆ ตนและศ.ดร.ลิขิต มีความสนิทกัน เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เดียวกัน รุ่นเดียวกัน ตนเรียนนิติศาสตร์ ส่วนศ.ดร.ลิขิต เรียนรัฐศาสตร์ ในวงการรัฐศาสตร์ ศ.ดร.ลิขิตถือเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่ง ดังนั้นการจากไปของท่านนำมาซึ่งความเสียใจและเสียดายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ศ.ดร.ลิขิต ทิ้งมรดกไว้ให้คนรุ่นหลังเยอะมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการงานเขียน ใครก็ตามที่ต้องการเรียนรู้เรื่องของรัฐศาสตร์หรือเรื่องของการเมืองไทย หนีไม่พ้นงานเขียนของ ศ.ดร.ลิขิต

ส่วนนายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ศ.ดร.ลิขิต เป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านการเมืองเพื่อที่จะเห็นที่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในการเมืองไทย เด็กรุ่นหลังๆไม่ว่าคณะใดจะได้เรียนหนังสือที่มีชื่อว่า “วิวัฒนาการทางการเมือง” ของ ศ.ดร.ลิขิต ถือเป็นตำราพื้นฐานในการเรียนรู้ระบอบการปกครองของไทย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้มีนักการเมืองและนักวิชาการส่งพวงหรีดมาร่วมไว้อาลัยจำนวนมาก อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายทักษิณ ชินวัตร นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ นายสุรเกียรติ์-ท่านผู้หญิงสุธาวัล เสถียรไทย นายนิกร จำนง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดจัดพิธีสวดพระอภิธรรม ศ.ดร.ลิขิต วันที่ 21-27 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. จากนั้นวันที่ 28 พฤศจิกายน 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ศ.ดร.ลิขิต เป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองไทย อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (พ.ศ. 2540) อดีตหัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท (30 มิถุนายน พ.ศ. 2549-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) และ เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2545-2548 และ พ.ศ. 2549) งานด้านวิชาการ เคยได้รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2531 ได้รับการยกย่องเป็นกีรตยาจารย์ (อาจารย์ผู้มีเกียรติ) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2540 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น ราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2547 ในปีเดียวกัน ยังได้เป็น ศิษย์เก่าดีเด่นในรอบ 70 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (27 มิถุนายน พ.ศ. 2547) ได้รับรางวัล “ปากกาขนนกทองคำ” สำหรับหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 15 สาขาวิชา สาขาวิชารัฐศาสตร์ เรื่อง วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงหาคม พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในสื่อแขนงต่างๆ รวมถึงหนังสือพิมพ์มติชน ทั้งยังเป็นเจ้าของวลี “อัศวินม้าขาวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตกม้าตายทั้งนั้น”และ “ไม่มีอีกแล้วอัศวินม้าขาวในประเทศนี้”

15127483_1282680688438491_1872399071_o

15146839_1282680618438498_886937003_o

15152874_1282685431771350_310203832_o

15146902_1282702071769686_1873320113_o

ขอบคุณภาพจาก เฟชบุ๊ก Ekachai Chainuvati
ขอบคุณภาพจาก เฟชบุ๊ก Ekachai Chainuvati

15126275_1282649251774968_1620679535_o

15134001_1282642611775632_1492349117_o

15184084_1282641415109085_1615786714_o

15152920_1282641478442412_1498948084_o

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image