เสียงสะท้อนถึงนโยบายกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกล เป็นแค่ภาพใน ‘อุดมคติ’

เสียงสะท้อนถึงนโยบายกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกล เป็นแค่ภาพใน ‘อุดมคติ’

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) กล่าวถึงนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อกระจายอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ โดยให้มีการเลือกตั้งนายกจังหวัดทุกจังหวัด และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ว่า แม้จะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก โดยมองว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามการกระจายอำนาจ แต่การถ่ายโอนภารกิจจากหลายหน่วยงาน มายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถถ่ายโอนมาเต็มรูปแบบ ทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้ยาก หากปรับเปลี่ยนการเลือกนายกจังหวัด และนายกอำเภอ เป็นเรื่องยากที่จะทำทันที เพราะจะต้องแก้กฎหมายหลายๆ ข้อ นอกจากนี้ หากทุกระดับเป็นเอกเทศไปหมด จะมีการทำงานกันอย่างไร ประสานการทำงานกันอย่างไร และควบคุมดูแลกันอย่างไร นโยบายเหล่านี้ จะต้องมีความชัดเจนในทางปฏิบัติด้วย

ขณะที่นายปรีชา สุขเกษม นักวิชาการอิสระ จ.สงขลา กล่าวว่า แนวนโยบายดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้ และถือเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ ในอดีต กปปส.เคยเรียกร้องเรื่องของการกระจายอำนาจ กระจายภารกิจ กระจายงบประมาณมาให้จังหวัดจัดการตนเอง ติดปัญหาตรงที่การบริหารรูปแบบเดิม ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่หากทำตามไทม์ไลน์ ที่พรรค ก.ก. นำเสนอนั้น ถือเป็นแนวคิดที่คนไทยอยากเห็น การที่เราปฏิวัติระบบราชการหรือการเปลี่ยนผ่าน เราสามารถคัดเลือกคนที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เช่น ถ้าโจรมีเงินมากแล้วมาซื้อเสียงเราก็ได้โจรมาปกครองเมือง แต่ถ้าเรามีระเบียบราชการ เป็นการคานอำนาจกันก็จะบรรเทาปัญหาได้

“ภาพที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. บอก เป็นภาพในอุดมคติที่อยากเห็น แต่การปฏิบัตินั้น ต้องพัฒนาคนคู่ไปกับเรื่องนี้ เส้นทางที่ทำควบคู่ไปกับแนวคิด ต้องมีองค์กรกลาง ต้องมีหน่วยงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องเข้มแข็ง กว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้น อาจมีทุนต่างชาติ เข้ามาสนับสนุนกลุ่มคนที่จะลงเลือกตั้ง ในขณะที่กระบวนการควบคุมการเลือกตั้งอ่อนปวกเปียกเช่นนี้ จะเกิดผลกระทบแค่ไหน” นายปรีชากล่าว

นายปรีชากล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ นายก อบจ. ก็มีหน่วยงานอย่างท้องถิ่นจังหวัด คอยดูแลอยู่ ซึ่งถือเป็นระบบการคานอำนาจ แต่หากมีการยุบส่วนราชการควบคุมดูแลไป เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น จะมีหน่วยงานใดมาทำหน้าที่ในการถ่วงดุลอำนาจ จึงต้องมีมาตรการรองรับ โดยเฉพาะหากสามารถทำตามแนวนโยบายได้จริงก็จะต้องมีการจัดการอย่างไร การถ่วงดุลอำนาจจะทำอย่างไร โดยเฉพาะที่มาของนายกจังหวัดนั้น มีมาตรการควบคุมที่มาอย่างไรว่าเป็นไปด้วยความสุจริตอย่างแท้จริง

Advertisement

ด้านนายนาวิน สินธุสอาด อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดการปกครอง 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ถ้ายกเลิกส่วนภูมิภาค ไปเลือกตั้งนายกจังหวัดแทน ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอาจทำได้ยาก เพราะกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลราชการส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นคงไม่ยอมง่ายๆ เพราะเป็นการตัดอำนาจ บทบาทหน้าที่ โครสร้าง งบประมาณ และบุคลากรออกไปจากส่วนกลางทั้งหมด

นายนาวินกล่าวว่า ตนเชื่อว่า กระทรวงมหาดไทยต้องต่อต้าน และคัดค้านจนถึงที่สุด เพราะสูญเสียอำนาจ และผลประโยชน์ไปด้วย ที่สำคัญนโยบายดังกล่าว ขัดแย้งกับประเพณีการปกครองของชาติ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ ส่วนตัวมองนโยบายดังกล่าว อาจเป็นการโยนหินถามทาง และหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ให้ชาวบ้านเชื่อเท่านั้น แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ต้องผ่านด่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากอำนาจรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอีก เชื่อว่าทำไม่ได้ อาจถูกมวลชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างรุนแรงก็ได้

ส่วนนายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) กล่าวว่า รัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามจะกระจายอำนาจบริหารประเทศอยู่แล้ว แต่ความเป็นไปได้จะขึ้นอยู่กับเรื่องงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ เพราะการจัดสรรงบประมาณมาบริหารจัดการแต่ละพื้นที่ ก็ต้องดูว่ามีเม็ดเงินงบประมาณเพียงพอหรือไม่ และหากจัดสรรงบลงมาให้ท้องถิ่น ก็ต้องดูภาพรวมการบริหารประเทศด้วยว่า เป็นไปในรูปแบบไหน ตนมองว่าคงจะดำเนินการได้ไม่ง่ายนัก เพราะจะมีปัจจัยสำคัญต่างๆ มาเป็นตัวแปร เช่น ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันควบคุมโรคมาก่อน ทำให้ตัวเลขงบประมาณที่จะจัดสรรลงมาท้องถิ่นถูกตัดทอนลงไปด้วย

Advertisement

นายวีระชาติกล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบ มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการในแต่ละปีน้อยมาก ไม่ถึง 1 ล้านบาทก็มี ต่างจาก อบต.หรือท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง ที่สามารถจัดเก็บภาษีได้มากหรือได้รับการจัดสรรงบได้มาก ก็จะสามารถดำเนินการบริการจัดการได้ตามนโยบายที่วางไว้ นอกจากนี้ เทศบาลตำบลหลายๆ แห่งที่ยกฐานะขึ้นมาจากสุขาภิบาล ก็ได้รับงบประมาณแต่ละปีค่อนข้างมาก ในขณะพื้นที่ดูแลมีแค่นิดเดียว ทำให้งบเหลือจนต้องโยกเอาใช้พัฒนาในด้านอื่นๆ แทน เกิดความแตกต่างภายในท้องถิ่นด้วยกันอยู่แล้ว

นายวีระชาติกล่าวว่า หากพรรคการเมืองจะมาหาเสียงในเรื่องนี้ ตนก็มองว่า น่าจะเป็นนโยบายที่มุ่งเอาใจคนท้องถิ่น เพื่อที่จะให้ช่วยผลักดันและสนับสนุน แต่ในส่วนตัวมองว่า เป็นไปได้ยาก และจะต้องมาดูเรื่องระเบียบต่างๆ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วย ต้องมาขัดเกลาดูระเบียบกันอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันระเบียบดำเนินการหลายอย่างค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เกิดพัฒนาได้ในท้องถิ่น ก็ต้องไปดูเรื่องงบประมาณ จะต้องมานั่งคุยกับสำนักงบประมาณด้วยว่า การจัดสรรงบประมาณลงมาท้องถิ่นที่บอกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกวันนี้ได้มาแค่ประมาณ 28-29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งทุกท้องถิ่นจะต้องจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ เพื่อที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณของปีงบประมาณใหม่ต่อไป โดยท้องถิ่นจะดูตัวเลขงบประมาณทั้ง 4 ไตรมาสของปีก่อนว่าได้มาเท่าไหร่ เพื่อนำมาประมาณการตัวเลขของปีถัดไปแล้วทำข้อบัญญัติออกมา หากเป็นอบจ. ก็ต้องไปชี้แจงแถลงตัวเลขต่อคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องงบประมาณของรัฐสภา แต่หากเป็น อบต. ก็ทำข้อบัญญัติยื่นเสนอนายอำเภอพิจารณาอนุมัติได้เลย

นายวีระชาติกล่าวต่อว่า หากพรรค ก.ก. ได้เป็นรัฐบาลก็คงจะต้องการเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่า หลายๆ รัฐบาลก็อยากจะทำเช่นกัน แต่อาจจะทำได้ยาก จึงไม่กล้าจะผลักดัน ตนมองว่า การที่แต่ละท้องถิ่นมีรายจ่ายประจำค่อนข้างมาก ถ้าในมุมของนักธุรกิจ ก็จะมองว่า มีรายจ่ายประจำมากเกินไป ต้องหาวิธีตัดลดรายจ่ายเหล่านี้ลง เพื่อนำงบมาใช้บริหารในด้านอื่นๆ ได้ เช่น ปรับลดตำแหน่งการจ้างงานลง หรือตัดงบในบางเรื่องออก เป็นต้น ถ้าทำแบบนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบได้ นอกจากนี้ หากจะแก้ไขการจัดสรรงบประมาณลงมายังท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแลดำเนินการบริการจัดการเอง ก็ต้องหาวิธีการจัดสรรงบประมาณลงมาท้องถิ่นให้เหมาะสม โดยอาจจะไปลดทอนงบของกรม กระทรวงอื่น เพื่อเอางบมาเกลี่ยใหม่ จะได้จัดสรรงบลงไปท้องถิ่นได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พรรค ก.ก. จะต้องคำนึงถึง เพื่อทำนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ให้เป็นจริงขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image