วิษณุไขข้อข้องใจ’ทศพิธราชธรรม’ใช้กับ ขรก. เอกชนได้หรือไม่ พร้อมแจงขั้นตอนประกาศใช้ รธน.-เลือกตั้งละเอียดยิบ!

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทศพิธราชธรรม นำทางราษฎร์-รัฐ” ในงานสัมมนา “THAILAND 2017 ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมของชนชั้นผู้ปกครอง นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ยังรวมถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด พ่อค้า ผู้ทำธุรกิจ และธรรมของประชาชนด้วย ทศพิธราชธรรมเป็นคุณธรรมที่ดีเป็นคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศสำหรับพระราชาเท่านั้น ทั้งนี้ ทศพิธราชธรรมยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล ซีเอสอาร์ การปฏิบัติการกฎระเบียบโดยเคร่งครัดซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนกำลังผลักดันและหยิบขึ้นมาพัฒนาอยู่ในขณะนี้

“ทศ แปลว่า สิบ ส่วนพิธ แปลว่าชนิดประเภทสิ่งต่างๆ จึงรวมว่าธรรมสิบอย่าง สิบประการ ตามด้วย ‘ราชธรรม’ ราชแปลว่าผู้ปกครอง ซึ่งเดิมแปลว่าผู้ที่ทำให้คนอื่นพอใจ ซึ่งคนที่ทำให้คนอื่นพอใจคือ กษัตริย์ ซึ่ง ข้าราชการ เสนาบดี พ่อค้าก็ต้องทำให้ประชาชนพอใจ การทำธุรกิจก็ต้องทำให้คนอื่นพอใจเช่นกัน ทศพิธราชธรรมคือ ธรรมสิบประการที่ทำให้คนอื่นพอใจ” นายวิษณุกล่าว

ทั้งนี้ การบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินในอดีตต้องปฏิญาณเรื่องทศพิธราชธรรมเสมอ ในอดีตเมื่อพระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระแท่นในพิธีบรมราชาภิเษก พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่เราเรียกว่าถวายราชสมบัติ รับราชสมบัติ ซึ่งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มีความหมายแทรกอยู่หลายอย่าง เช่น พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่มีน้ำหนักมากเตือนให้พระมหากษัตริย์ทราบว่าหลังจากนี้จะมีภาระปกครองประเทศหนักยิ่งกว่านี้มาก ธารพระกร (ไม้เท้า) คือต้องมีหลักยึด พระแสงขรรค์ชัยศรี (ดาบสองคม) คือ ตัดสินความด้วยความเที่ยงตรงดุจใช้พระขรรค์ตัด พระแส้จามรี คือต้องปัดเป่าความเดือดร้อนให้ประชาชน ฉลองพระบาทเชิงงอน(รองเท้า) เพื่อต้องการให้ทราบว่าพสกนิกรเหมือนรองพระบาท เมื่อสวมแล้วจะป้องกันหนามและเสี้ยนต่ำ ความปลอดภัยของพระราชาอยู่ที่ประชาชนเป็นฐานรองรับเสมือนหนึ่งรองพระบาท สิ่งที่เราพูดกันว่า “จะขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป” คือจะขอเป็นเหมือนฉลองพระบาทเชิงงอนไว้รองรับพระบรมเดชานุภาพ

สำหรับทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.ทานคือการให้กับบุคคล 2.ศีล การประพฤติตน 3.บริจาคคือการให้กับคนทั่วไป 4.อาชวะ คือความซื่อสัตย์ 5.มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน 6.ตยะ คือ ความเพียร 7.อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ 8.อวิหิงสา คือการไม่ว่าร้าย 9.ขันติ คือความอดทน 10.อวิโรธนะ คือ การรักษากฎเกณฑ์กติกาอย่างเคร่งครัด

Advertisement

ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเรื่องการมองเศรษฐกิจไปถึงปี 2560 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น “มาก” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ในระดับปฏิรูปหรือ Reform ปี 2560 ประเทศไทยจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ไม่นานเราจะเปลี่ยนแผ่นดิน เปลี่ยนรัชกาล ซึ่งเราก็ทราบดีส่วนจะมีขึ้นเมื่อใดมาถึงเมื่อใด อยู่ในพระราชวินิจฉัย การเตรียมการมีได้ แต่การจะกำหนดเวลานั้นไม่สมควร การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และในนั้นใส่อะไรไว้มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก

“อย่าถามว่าจะประกาศใช้เมื่อไร แต่ให้รู้ว่าเมื่อรัฐบาลถวายไปแล้วเป็นพระราชอำนาจ 90 วัน”

จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาคือการต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้อะไรที่กำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 120-240 วัน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี ทั้งหมดจะเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงได้เวลาฟรีในการร่างกฎหมายเตรียมไว้เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะสามารถประกาศสิ่งที่ร่างไว้ได้ทันที
ขั้นตอนต่อไปที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสาหัส คือ การออกกฎหมายลูก 10 ฉบับ ไม่ว่าจะมีปัญหาขนาดไหนก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ซึ่งเชื่อว่าทำเสร็จแน่นอน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ต้องทำกฎหมายลูก 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน โดย 10 ฉบับนี้จะแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 4 ฉบับกลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งกลุ่มที่สองคือ 6 ฉบับถึงแม้ว่าจะต้องทำให้เสร็จแต่ไม่เป็นไปคนไม่ได้สนใจทะเลาะกันเท่าใดนัก แต่อีก 4 ฉบับแรกที่คนทะเลาะกันทุกวัน เพราะประกอบด้วย 1.กฎหมาย กกต. 2.กฎหมายพรรคการเมือง 3.กฎหมายว่าด้วยพิธีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งที่จะมาถึงพิสดารจากเดิมที่เราเคยเลือกมาตั้งแต่เกิด 4.กฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

Advertisement

“เมื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กรธ.จะทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยเร่งทำ 4 ฉบับแรกก่อน เมื่อ กรธ.ร่างเสร็จต้องนำเข้าการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำให้เป็นกฎหมาย ทีนี้ถ้า สนช.ไม่แก้ก็เร็ว ถ้า สนช.แก้ก็ช้า โดย สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน แต่ถ้าไม่เสร็จก็ต้องยึดตาม กรธ.ทำมา กว่าจะถวาย กว่าจะประกาศใช้ ตรงนี้ไม่มีใครไปขีดเส้นว่าต้องลงพระปรมาภิไธยเมื่อใด เพราะอยู่ในพระราชอำนาจ”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าหลังกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเสร็จจะจัดการเลือกตั้งภายใน 1 เดือนได้หรือไม่ คำตอบคือสามารถจัดได้ แต่หากจัดการเลือกตั้งภายใน 1-2 เดือนนั้น อาจมีปัญหาเรื่องพรรคการเมือง เพราะกฎหมายพรรคการเมืองเพิ่งออกมาได้ไม่นานนัก แปลว่ายังไม่เคยมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่เลย จะเหลือเพียงพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วถ้าไม่เกิดกรณีเซตซีโร่ แล้วจะเลือกตั้งภายใน 1-3 เดือนทันหรือไม่ เพราะกว่าจะหาเสียง หาสมาชิก จดทะเบียนก็ไม่ทั่วถึง หากเลือกเร็วจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน จึงต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรม ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจจะเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของเดือนที่ 5

ทั้งนี้ เมื่อดูบริบทแล้วจึงคาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2560 ตามขั้นตอนที่วางไว้ แต่อย่าลืมกรุณาให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะมีตัวแปรต่างๆ เข้ามาแทรกได้ วันนี้อาจยังมองไม่เห็นตัวแปร แต่วันหนึ่งที่เกิดขึ้นและสามารถปรับได้ก็จะยืนในปี 2560 แต่หากปรับไม่ได้ก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด ผมยังยืนยันว่าจัดการเลือกตั้งในปี 2560 แต่อย่าไปไกลถึงขนาดมีรัฐบาลใหม่ในปี 2560 เพราะสมัยก่อนจะให้เรียกประชุมสภาภายใน 1 เดือน แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประกาศผลภายใน 2 เดือน หาก กกต.ประกาศเดือนที่ 2 ก็จะล้ำออกไปอีก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าจะใช้เวลาประกาศภายใน 2 เดือน เพราะอาจมีการเสนอใบเหลือง ใบแดง หลังจากนั้นก็เสด็จฯเปิดสภา และเลือกประธานสภาและเลือกนายกฯ ส่วนจะเดือนไหนก็สุดแต่การจัดการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image