สัมภาษณ์พิเศษ : ปลอดประสพ สุรัสวดี อีกมุมแก้แล้ง-รธน.ครอบงำรัฐบาล

โดย ธนกร วงษ์ปัญญา

หมายเหตุ – นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง และข้อเสนอแนะต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

– ต้นเหตุภัยแล้งที่เกิด

มันเกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ผสมสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศโลก “ไคลเมท เชนจ์” เอลนิโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งสามสี่ปีเกิดครั้งหนึ่ง ในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำร้อนขึ้น ทำให้ลมสินค้าซึ่งเคยพัดจากตะวันออกมาตะวันตกอ่อนลง ความชื้นฝั่งตะวันตกคือฝั่งเอเชีย อินโดจีน ถูกนำข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปเทลงที่ทวีปอเมริกา องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกและสำนักงานมหาสมุทรและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา ถือว่าแรงสุดในรอบห้าสิบปี

Advertisement

– ปัญหาของการจัดการคืออะไร

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปโทษใคร เพราะไม่ได้เป็นความผิดใคร แต่รัฐบาลต้องเข้าใจปัญหานี้อย่างจริงจัง ผมยืนยันว่าข้าราชการทุกกรมที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องนี้ดี ที่ไม่เข้าใจคือ บางคนในรัฐบาลกลัวถูกด่า ต้องแก้ปัญหาคือ เข้าใจมันแต่เนิ่นๆ ประกาศให้ประชาชนรับรู้ ทั้งพื้นที่ที่จะแล้ง เวลาจะทำให้เชื่อในสิ่งที่เขาควรเชื่อ แต่ตอนนี้คือ สร้างความเชื่อจากสิ่งที่ไม่จริง

– แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559

Advertisement

จากการดูข้อมูลแล้วเชื่อว่าจะต้องเจอภัยแล้งไปอีกหนึ่งปี เนื่องจากฝนมาช้า และปริมาณน้ำฝนก็น้อยด้วย หากไปดูข้อมูลน้ำต้นทุนจะพบว่าเหลืออยู่น้อยมาก ผมอยากแนะนำให้รัฐบาลต้องสร้างสมมุติฐานอย่างสุดขั้ว ในทางที่อาจเกิดวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดสำหรับปีหน้าว่าจะทำอย่างไร เพราะนี่เป็นการแล้งสูงสุดในรอบหลายสิบปี

– การจัดการภัยแล้งและเรื่องน้ำของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

รัฐบาลที่แล้วแยกการบริหารจัดการน้ำเป็นสองเรื่องคือ เรื่องชลประทาน การส่งน้ำ โดยแยกออกจากเรื่องปัญหาน้ำท่วม สำหรับการกระจายน้ำ ใช้แนวทางปกติของกรมชลประทาน เพียงแต่เรากระทุ้งให้มีการขยายพื้นที่ชลประทานให้มาก ในหนึ่งฤดูกาลเพาะปลูก ให้ได้มากที่สุด และขอให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

– งบประมาณสามแสนล้านบาท จัดสรรเพื่ออะไร

สำหรับงบประมาณกว่าสามแสนล้านบาทนั้น จัดสรรไว้เฉพาะแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้น ความเสียหายเป็นมูลค่าหลายแสนล้าน มันจึงเป็นการวางแผนแบบสุดขั้ว ถ้ามาจะทำอย่างไร ต้นน้ำเราจะชะลอเก็บน้ำอย่างไร เวลาเดินทางมาจะชะลอไว้ไหน เวลาจะออกทะเลจะเร่งรัดอย่างไร ถ้าเอาไม่อยู่ พื้นที่สำคัญจะปกป้องอย่างไร ข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ทั้งหมดให้มาอยู่ที่เดียวกัน กระจายข่าวให้ทั่วถึงทันเวลา ผลพวงจากการทำเท่านี้ จะทำให้มีน้ำเก็บมากขึ้น การกระจายน้ำจะดีตามมา

– การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปัจจุบัน

สำหรับแนวทางของรัฐบาลปัจจุบันคือ การเอามาทำใหม่ ไม่โฟกัส แบ่งการทำงานไม่ถูกต้อง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ทำงานได้ จึงตั้ง กบอ.ขึ้นมา เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่กระจายอยู่ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำนโยบายแผน และระดับปฏิบัติด้วย และเพื่อจะมีส่วนจุนเจือให้มีน้ำใช้เพื่อด้านอื่นๆ ด้วย ส่วนรัฐบาลนี้ ใช้คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำ ท่านจะเจอปัญหาในระดับปฏิบัติ ไม่สามารถรวมศูนย์สั่งการได้ในยามจำเป็น โครงสร้างมันดีอยู่แล้ว ไม่น่าไปเปลี่ยน ผมยังเห็นว่าประเทศไทย ต้องมีกระทรวงน้ำ ยังไม่เห็นรัฐบาลนี้พูดถึง ปล่อยให้หน่วยงานจัดการกระจายแบบนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มาตรการของรัฐบาลต้องเฉียบขาด และแม่นยำ ในแง่เวลา และพื้นที่ให้มาก

– มีการพูดถึงต้นเหตุว่ามาจากรัฐบาลในอดีต

การที่รัฐบาลออกมาตีโพยตีพายว่าต้นเหตุของภัยแล้ง หรือน้ำไม่พอใช้มาจากรัฐบาลในอดีต น่าจะไม่ถูกกาละเทศะมากนัก การที่ออกมาตีฆ้องร้องป่าวเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนอาจเกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ จึงเป็นเพียงการเบี่ยงเป้า ทำสงครามในเชิงจิตวิทยา เพื่อจะลดกระแสให้เบาลง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

– มุมมองต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.เปิดเผยเนื้อหาร่างฯแรก

ฉบับของ กรธ.ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผมมองว่า 1.มีการเปิดทางและชี้นำ เสนอแนะให้เกิดนายกฯคนนอก ไม่ใช่เป็นคนของประชาชน ไม่เคารพประชาชน 2.ประเด็นต่อมาในเรื่อง ส.ว.สรรหา ผมถือว่าไม่ใช่ผู้แทนของปวงชนชาวไทย เพราะขาดการยึดโยงกับประชาชน ถือว่าเป็นผู้แทนของพวกคุณ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้สร้างผู้กำกับรัฐบาล แทนที่จะให้สภาหรือรัฐสภาเป็นผู้กำกับ ให้องค์กรอิสระมากำกับรัฐบาล ไม่ยึดโยงกับประชาชน สร้างองค์กรสูงสุดขึ้นมาคือ 4.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงประชาชน ชี้เป็นชี้ตายได้ อันตรายมาก ผมหาศัพท์ที่แตกต่างไปจากเผด็จการยากเต็มทน 5.สร้างรัฐธรรมนูญที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนได้รับความคุ้มครองต่ำกว่ามาตรฐาน 6.สร้างองค์กรแฝงเร้น ที่ให้มากำกับรัฐบาลในอนาคต อำนาจแฝงเร้น ให้มากำกับรัฐบาล

7.อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คือ การคงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกว่าจะมีรัฐบาล หรือการให้อำนาจองค์กรอิสระมากขึ้น 8.สร้างรัฐธรรมนูญมาจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมประท้วง ที่สำคัญคือ สร้างรัฐธรรมนูญที่กัดกร่อน รัฐบาลของประชาชนจะอ่อนแอ เป็นรัฐบาลผสม และ 9.สร้างประชารัฐอำนาจนิยมขึ้นมา ต้องการระบบอุปถัมภ์ เห็นประชาชนยังยากจน พึงพอใจที่จะจ่ายรายหัวรายครอบครัว ไม่เน้นให้ประชาชนพึ่งตัวเอง ต้องรอรัฐอย่างเดียว

– ให้นิยามร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.

ถ้าจะให้นิยามนี้ ผมจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับผู้รับใช้ เพราะมีคนสั่งให้ร่าง ผู้ร่างเป็นผู้รับใช้เขาอีกรอบ สร้างประชาชนให้เป็นผู้รับใช้อีก ผมรับไม่ได้

– จุดที่น่าห่วงที่สุดสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.

ห่วงที่สุดคือ การมีรัฐบาลที่อ่อนแอ บริหารงานให้ประชาชนไม่ได้ เพราะถูกกำกับควบคุมมาก จนอาจไม่สามารถบริหารประเทศได้ ประเทศเจ๊งแน่นอน

– มองแนวทางการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร

คุณไม่ยอมให้คนไม่เห็นด้วยรณรงค์ได้เต็มที่ มีความพยายามบางอย่างที่เป็นสัญญาณ ประชามติเหมือนการยัดเยียด ผมคุยกับหลายคนในพรรคเพื่อไทย คือขี้เกียจคิดเรื่องการเลือกตั้ง เลือกตั้งไปภายใต้กรอบแบบนี้ก็ทำงานไม่ได้ ถ้ามันจำเป็นต้องไม่รับ แล้วผลพวงให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ก็ไม่เห็นต้องแคร์ ก็จะทำแคมเปญเท่าที่ทำได้ ให้เหมือนผ่าตัดมนุษย์ร่างใหม่ได้เป็นพระเอก แต่บทผู้ร้ายไม่เป็นดีกว่า ไม่ได้กระสันการเลือกตั้ง

– ปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ

ถ้าแก้ไขข้อสังเกตทั้ง 9 ข้อนี้ที่ผมเสนอไปได้ อย่างไรประชาชนก็จะยอมรับ อย่าว่าแต่แก้ 9 ข้อเลย เพียงแค่แก้บางข้อใน 9 ข้อก็ถือว่าพอใจ ประชาชนรับได้แน่นอน ผมกลัวว่าจะสร้างเพิ่มมาอีก ผมเคยทำงานกับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มา ไม่อยากเรียกอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย

– อยากฝากอะไรถึง กรธ. ถ้าหน้าตารัฐธรรมนูญออกมาเป็นแบบนี้

วิกฤตจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะกำลังสร้างความเชื่อในระบบ ในรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก คนไม่ชอบ แล้วมีคนอึดอัด คนมันก็ไม่อยู่นิ่ง อยากจะหาทางแก้ แล้ววิกฤตมันจะเพิ่มขึ้นเพราะตัวของรัฐธรรมนูญเอง ผมฟันธง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image