‘สมชัย’ อัดยับ กกต. ร่อน จม.เอื้อพรรคใหญ่ ขอความเห็น ปมค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

‘สมชัย’ อัดยับ กกต. ร่อน จ.ม.ถึงพรรค ขอความเห็น ปมค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เอื้อพรรคใหญ่

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบาย พรรคเสรีรวมไทย อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีสำนักงาน กกต.มีหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมือง ส่งแบบสอบถามการทบทวนการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. โดยระบุว่า

“ร้อนวิชา เพี้ยน เอื้อพรรคใหญ่ ไร้ไตร่ตรอง ทำงานเอาง่าย

เห็นหนังสือของสำนักงาน กกต.ที่ส่งมาถึงพรรคการเมือง ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 และให้ตอบกลับภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ว่า จะเห็นชอบในแนวทางที่ กกต.ได้คำนวณ เป็น 2 กรณี คือ

ก. กรณีสภาอยู่ครบอายุ ค่าใช้จ่ายผู้สมัครเขต 6,528,375 บาท ค่าใช้จ่ายบัญชีรายชื่อ 352,328,748.50 บาท

ADVERTISMENT

ข. กรณียุบสภา ค่าใช้จ่ายผู้สมัครเขต 1,740,900 บาท ค่าใช้จ่ายบัญชีรายชื่อ 40,620,998.60 บาท

1.สำนักงานร้อนวิชาเกินไปไหม สามารถคำนวณปัจจัยต่างๆ ละเอียดยิบ จนขนาดกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นเศษสตางค์ แต่ขอโทษ ลืมไปหรือเปล่าว่าเขตเลือกตั้งเล็กลง ต้องเอา 350/400 ไปคูณอีกรอบ หากจะร้อนวิชาจริง

ADVERTISMENT

2.กำหนดวงเงินแบบนี้เอื้อพรรคใหญ่ที่มีเงินหรือไม่ กรณีอยู่ครบอายุ ผู้สมัครใช้เงินได้ถึง 6 ล้านกว่า พรรคได้ถึง 152 ล้าน เป็นการส่งเสริมให้การเมืองต้องใช้เงินมากและมาเอาคืนในอนาคตหรือไม่

3.ที่ประชุม กกต. 7 คน เห็นสิ่งนี้แล้วหรือยัง หรือสำนักงานเขาทำเอง มันตลก และเสียภาพลักษณ์ กกต.นะครับ แต่หากท่านดูแล้ว เห็นชอบให้ส่งหนังสือออกแบบนี้ ก็ทำงานง่ายไปแล้ว

4.พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ กกต.ต้องปรึกษาหารือกับพรรคการเมือง เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ท่านจะจัดประชุมให้มีส่วนร่วมในการถกเถียงแสดงความคิดเห็น คงไม่สิ้นเปลืองสักเท่าไร นี่ส่งจดหมายวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม ติดวันหยุดราชการ 3 วัน จะเอาคำตอบ พฤหัสที่ 15 ธันวาคม 2565 ทำงานง่ายไปแล้ว” 

จากนั้น นายสมชัย ยังได้โพสต์ต่อเนื่องถึงกรณีดังกล่าวอีกว่า “สูตรการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของ กกต. เด็กที่พยายามคิดไม่ผิด แต่ผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องไร้ปัญญา

สำนักงาน กกต. เสนอตัวเลขค่าใช้จ่ายพรรคการเมืองในการหาเสียง กรณียุบสภา 40,620,998.60 บาท

และกรณีอยู่ครบวาระ 152,328,748.50 บาท เห็นแล้วอึ้งว่า เขาคิดละเอียดได้เป็นเศษสตางค์ได้อย่างไร

มาแกะดูวิธีการคิด คือ เอาค่าใช้จ่าย 7 รายการมาเปรียบเทียบระหว่างปี 2565 กับปี 2561 ว่าแต่ละรายการขึ้นไปร้อยละเท่าไร เสร็จแล้วเอามารวมแล้วหาร 7 เป็นเพิ่มร้อยละ 16.06% เอาตัวเลขดังกล่าวมาเป็นตัวปรับจากค่าใช้จ่ายที่กำหนดในอดีตที่กำหนดไว้ 35 ล้านบาท จึงเป็น 35 ล้าน x 1.1606 แต่พี่แกคงใช้ excel เอาทศนิยมอีกไม่รู้กี่หลักมาคำนวณ จึงกลายเป็น 40,620,999.60 บาท

เช่นเดียวกับ กรณีสภาอยู่ครบอายุ ก็คำนวณตามส่วน จาก 60 วัน เป็น 180+45 วัน เลยกลายเป็นยอด 152,328,478.50 บาท

ไม่ผิดที่เด็กจะคิดให้ละเอียด แต่ผู้ใหญ่ต้องช่วยดูว่า เอา 7 รายการมาหารเฉลี่ยนั้น เป็นวิธีการคิดที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น กรณีไวนิล ขึ้นไป 120.37% เมื่อเอามาเฉลี่ยกับรายการค่าใช้จ่ายอื่นเช่น ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ขึ้นไป 6.75% โดยให้มีน้ำหนักเท่ากัน เป็น 1 ใน 7 รายการนั้น มันไม่เข้าท่าตั้งแต่เริ่มต้น

หากเจ้านายใน กกต.คิดคณิตศาสตร์เบื้องต้นแบบนี้ไม่ออก ทักท้วงไม่เป็น ที่เขาบอกว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อคราวที่แล้วมั่วมาก ก็คงเป็นสิ่งที่สมควรเชื่อว่าจริงครับ

ห่วงแต่ประธาน กกต. ท่านมีเครื่องคิดเลขแล้วหรือยัง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image