วงเสวนาชี้ ไทยก้าวไม่ข้ามอำนาจนิยม-ระบบอุปถัมถ์ เด็กอนุบาลยังต้องฝากเข้า

นักการเมือง-นักวิชาการ ชี้ ชนชั้นนำ รากฐานปัญหาของรัฐธรรมนูญ เผยเหตุของวงจรรัฐประหาร คือไม่ก้าวข้ามอำนาจนิยม

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่โรงแรมนูโว เขตพระนคร กรุงเทพฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดสัมมนาเรื่อง ‘สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน’

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและการเมืองไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ผ่านการรัฐประหารมา 12 ครั้ง มีการรัฐประหารที่ไม่ประสบผลสำเร็จ 13 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาเฉลี่ย 3 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 1 ครั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสถานะทางสังคมการเมืองไทยมีความไม่แน่นอน และขณะเดียวกันก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบอำนาจนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่มีความเข้มแข็งพอในการที่จะต่อต้านกับระบอบการปกครองที่เลวร้าย และบรรยากาศในการประชุมวันนี้เราคงจะได้มารับทราบว่าการปฏิรูปประเทศ การวางยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีปัญหาอะไร และทำไมเราจึงต้องมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการและกำหนดแนวทิศทางการบริหารประเทศในอนาคต (อ่านข่าว ประธาน ครป. ชี้ องค์กรอิสระอ่อนเปลี้ย ปฏิรูปล้มเหลวทุกมิติ ยก 10 เหตุผลต้องมีรธน.ฉบับประชาชน)

ด้าน นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า การเกิดรัฐประหารในประเทศไทยเกิดวนเวียนมาหลายครั้ง คำถามคือทำไมเราจึงก้าวข้ามสิ่งนี้ไปไม่ได้ อะไรเป็นสาเหตุใหญ่ที่วงจรนี้วนเวียนอยู่อย่างนี้ ตนตอบได้แค่อย่างแรกคือ เพราะเรายังติดยึดกับวัฒธรรมและความคิดแบบอำนาจนิยม

Advertisement

“แม้แต่ตัวเราทุกคนก็มีลักษณะนี้อยู่ไม่น้อย ระบบโซตัสก็เป็นอำนาจนิยมอย่างหนึ่ง การหาพวกหากลุ่ม หาระบบอุปถัมภ์เพื่อที่ตัวเองจะได้มีความสำคัญ เด็กอนุบาลจะเข้าเรียนยังต้องมีการฝากเข้า มีการวิ่งเต้น เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังต้องมีการติว แต่จริงๆ แล้วตัวเราคือตัวที่กำหนดชะตาทั้งเราเองและพี่น้อง” นายโภคินกล่าว

ดร.พิชชา ใจสมคม อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยที่ศึกษาว่าในการปรับปรุงโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการปฏิรูปประเทศควรจะมีหลักการที่สำคัญอะไรบ้าง ทางทีมวิจัยจึงได้ศึกษาและตั้งโจทย์ว่าควรมีหลักการที่สำคัญและสามารถวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมได้ โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการจำกัดการใช้อำนาจของรัฐและเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล และที่สำคัญคือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การมองปัญหาของรัฐธรรมนูญต้องมองที่รากฐานของโครงสร้างสังคมไทย ซึ่งในรัฐธรรมนูญนั้นพยายามพูดถึงสิ่งที่ดูดี อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พูดถึงการแบ่งแยกอำนาจ แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่

“โครงสร้างของคนไทยเป็นโครงสร้างของชนชั้นนำที่ส่งเสริมให้ชนชั้นนำนั้นมีอำนาจในการปกครองประเทศ คนเหล่านี้เดิมทีอาจจะมาจากอะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อขึ้นสู่อำนาจเขากลายเป็นชนชั้นนำเต็มตัวและตัดสินตามประโยชน์ของชนชั้นนำในสังคม ต่อมาคืออำนาจในส่วนบริหารซึ่งอาจจะมาจากนิติบัญญัติ นั่นคือโอกาสที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเลือกส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ แต่อำนาจในส่วนนี้ของประชาชนยังถูกชนชั้นนำครอบงำอยู่ หมายความว่ากลุ่มชนชั้นนำก็จะมีพรรคการเมือง มีตัวแทนของเขาเข้ามาต่อสู้และช่วงชิงอำนาจ ในส่วนของนิติบัญญัติถ้าหากคุณเป็นฝ่ายของประชาชนและขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหารคุณก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าคุณเป็นฝ่ายประชาชนที่ถูกเลือกโดยประชาชนแต่กลับทรยศประชาชน ไปอยู่กับชนชั้นนำก็จบกัน นี่คือโครงสร้างของสังคมที่เราคิดว่าเป็นปัญหาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข” นายสมชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image