‘จาตุรนต์’ หวั่น รัฐทุ่มอีอีซีสูญเปล่า ชี้ปีนี้พบต่างชาติลงทุนแค่ 4 หมื่นล. รั้งท้ายที่ 3 ต่ำสุดของอาเซียน

“จาตุรนต์” หวั่น รัฐทุ่มอีอีซีสูญเปล่า ชี้ปีนี้พบต่างชาติลงทุนแค่ 4 หมื่นล. รั้งท้ายที่ 3 ต่ำสุดของอาเซียน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า “เช้าวันนี้ อ.ปริญญา ชวนผมไปร่วมพูดคุยในประเด็น “EEC กับลุ่มแม่น้ำบางปะกง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่จัดคู่กับกิจกรรมพายเรือเก็บขยะ #พายเรือเพื่อบางปะกง 240 กิโลเมตร โดยได้ร่วมพูดคุณพิธา และคุณประโยชน์ครับ

แม่น้ำบางปะกงกับผมมีความทรงจำร่วมกันมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ผมลงเล่นว่ายน้ำในแม่น้ำบางปะกงกับน้องกับเพื่อน ๆ พอเวลาหน้าฝนน้ำหลากลงมา จะเห็นพวกท่อนไม้ที่มาจากพื้นที่ป่าไหลลงมาด้วย แต่หลัง ๆ นี้ไม่เห็นแล้ว

พอมาเป็น ส.ส. ก็จะเห็นปัญหาเรื่องขยะ ที่พบว่าพื้นที่หลายตำบลในบางปะกงไม่มีระบบจัดเก็บขยะ ที่พอทำได้ก็มีที่เทศบาลเมืองที่เปลี่ยนจากเดิมแบบฝังกลบมาเป็นการแยกขยะ ส่วนพื้นที่อื่นเมื่อไม่มีพื้นที่กำจัดขยะก็เลยนำขยะไปกองไว้ยังที่ใกล้ที่สุดก็คือคลอง ท้ายที่สุดขยะเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำไป

สิ่งสำคัญอีกด้านของแม่น้ำบางปะกงครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ไปถึงสระแก้ว นครนายก และจันทบุรี ซึ่งคือพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อผมพยายามคำนวนกดเครื่องคิดเลขมาหลายรอบแล้ว พบว่าปี 2564 มีการทำลายป่าในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและการเกษตรประมาณ 6 แสนกว่าไร่ภายในปีเดียว จำนวนมหาศาลนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ซึ่งการเกษตรที่ว่าก็เพื่อนำเอามาผลิตเป็นอาหารสัตว์ของทุนขนาดใหญ่

Advertisement

ผลที่ตามมาคือสารพิษปนเปื้อนในดินไหลลงในแม่น้ำ สภาพอย่างนี้ไม่ได้รับการดูแลทั่วประเทศ ต่อไปพื้นที่ป่าที่ยังเหลืออาจมีเฉพาะเขาใหญ่ หรือในรอยต่อ 5 จังหวัดก็คงเหลือเป็นหย่อมเล็กๆเท่านั้น พอดูการแก้ปัญหาป่าของประเทศไทยก็ทำไม่ถูกจุดเพราะไม่ได้ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แม้รัฐพยายามจะขายเรื่อง BCG แต่ก็พบว่าไม่ได้ดูแลทั้งเรื่องป่า หรือความหลากหลายทางชีวภาพเลย ที่บางปะกงจะเห็นว่าสัตว์น้ำบางชนิดสูญหายไปเยอะ หรือในป่ารอยต่อ ก็ไม่พบเสือหรือกวางแล้ว

ยิ่งลงไปในทะเล ที่ขณะนี้ขยะพลาสติกทั่วโลกสูงถึง 14 ล้านตันต่อปี ซึ่งประเทศไทยกลับเป็นประเทศติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีปริมาณขยะทะเลสูง

มาที่ประเด็น EEC ถ้าพูดในฐานะนักการเมืองจากพรรคการเมือง ถ้าเราเป็นรัฐบาลแล้วไปล้มเลิกโครงการที่มีการตกลงกับต่างประเทศไว้เยอะแล้วมันไม่สามารถทำได้ แต่ต้องพูดตรงๆว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะมีการลงทุนขนาดใหญ่มากแต่ส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและด้านโลจิสติกส์ เช่น รถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ไม่รู้จะมีใครใช้หรือไม่

Advertisement

ส่วนการลงทุนทางอุตสาหกรรม เกษตรแบบใหม่ นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง กลับเป็นเรื่องของทุนขนาดใหญ่ และยังไม่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่นับรวมการลงทุนนี้ยังถูกตั้งคำถามว่าจะสร้างงาน หรือเกิดแรงงานคุณภาพได้อย่างไร

1.9 ล้านล้านที่อนุมัติไป ถ้าดูจริงๆการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยต่ำเป็นอันดับ 3 จากท้ายในอาเซียน เวียดนามสูงกว่าเราถึง 3.6 เท่า สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ที่สูงกว่าถึง 8 เท่า หรือดูจากที่ครึ่งปีมานี้ EEC ดึงดูดนักลงทุนได้แค่ 4 หมื่นล้าน

แม้สิ่งที่ไทยควรทำคือการร่วมมือกับ EU แต่ก็พบว่าเป็นประเทศที่ตกขบวนทำ FDA กับ EU ไปแล้ว เพราะฉะนั้น EEC ที่วางแผนไว้จึงไม่มีทีท่าจะเป็นจริงและเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล

EU ประกาศออกมาว่า จะไม่รับสินค้าเกษตรที่เกิดจากการทำลายป่า หลักเกณฑ์อันนี้จะทำให้สินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าเราทำลายป่าไม่หยุด เกษตรกรรวมถึงเกษตรกรในฉะเชิงเทราก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน

เรื่องป่า เรื่องโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างน้อย EEC ทำให้เราเห็นว่าการวางมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรม ต้องมีการปรับเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับธรรมชาติครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image