กกร.จี้รัฐชะลอขึ้นค่าไฟ ต้นทุนพุ่ง-นักลงทุนหนี

สนั่น อังอุบลกุล 

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 กกร.ได้ยื่นหนังสือถึง พล.. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบเรื่องผลกระทบแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 นี้

กกร.อยากฉายภาพว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีความเปราะบางมาก และมีปัญหาหลายอย่างเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าส่งผลกระทบทุกด้าน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น กระทบอัตราเงินเฟ้อประเทศเพิ่มขึ้นอีก 0.5% จากเดิมเงินเฟ้อปี 2566 อยู่ที่ 3% อาจจะไปแตะที่ 3.5% ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หยุดชะงัก เนื่องจากในปี 2564 รายได้จากภาคการผลิตมีสัดส่วน 27% ต่อจีดีพี

Advertisement

การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) แล้วก็ไม่อยากให้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่กำลังเพิ่มขึ้นต้องชะงักเพราะค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาและอุปสรรคหรือทำลายบรรยากาศภาคการบริการและการท่องเที่ยวด้วย เห็นแล้วว่านักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในไทยเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็พร้อมอยู่แล้ว

เกรียงไกร เธียรนุกุล 

Advertisement

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) 

สิ่งที่ภาคเอกชนมีความกังวลจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนมกราคมเมษายน 2566 ส่งผลหลายด้าน ไม่ว่าจะเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ และที่สำคัญ คือ ความน่าสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นต้นทุนที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณา

จากปัญหาทั้ง 3 เรื่อง ทำให้กังวลและอยากขอให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าไฟฟ้าออกไป หลายภาคส่วนมีข้อเสนอมากมายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาแต่ละจุดว่าควรต้องปลดล็อกอะไรบ้าง การที่รัฐบาลตัดสินใจช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาคครัวเรือนนั้น เอกชนเห็นด้วย แต่รัฐบาลควรจะจัดสรรเงินขึ้นมา ไม่ใช่ผลักภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าไปที่ภาคอุตสาหกรรม แก้ปัญหาหนึ่งและไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่า

ในฐานะภาคเอกชนอยากสะท้อนปัญหา และดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ร่วมช่วยกันคิดแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างพลังงานของไทย เพราะเป็นต้นทุนสำคัญ และแนวโน้มในอนาคต จะต้องก้าวข้ามเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ไปสู่สิ่งที่จะเป็นโอกาส อาทิ เรื่องพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจสีเขียว เชื่อว่าถ้ามีเวทีร่วมภาครัฐและเอกชน เรื่องพลังงานก็จะทำให้มีโอกาสหารือกัน และมองปัญหาได้รอบด้าน

การสำรวจข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคการผลิตใช้ไฟฟ้าประมาณ 45% ภาคครัวเรือนอีก 28% และภาคบริการอีกกว่า 20% สะท้อนให้เห็นว่า ในขณะที่ไทยกำลังฟื้นตัว และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ถ้าผ่านพ้นปัญหาได้ และไม่ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ

ขณะนี้เป็นโอกาสสำคัญ หลังเกิดปัญหาสงครามการค้า การที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และพยายามหาที่ลงทุนใหม่ ประเทศไทยเองก็อยู่ในสายตาเรดาร์ของนักลงทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปถึงเรื่องค่าไฟฟ้าที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ราว 2-3 บาทต่อหน่วย แต่ไทยกำลังขึ้นไปที่ 5.69 ต่อหน่วย และจะมีผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อาจจะทำให้นักลงทุนลังเล เปลี่ยนใจไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกกว่า ทำให้ไทยเสียศักยภาพ และโมเมนตัม ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นๆ ของไทยไป

การที่มีการลงทุนใหม่ๆ เม็ดเงินเข้ามาในประเทศ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดกำลังซื้อในประเทศ เป็นผลดีอีกหลายด้าน ขอฝากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณา และรับฟังภาคเอกชน จะตอบรับได้ไหม ช่วยตรึงราคาค่าไฟ ไม่ปรับขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2566 นี้ เพราะหลังจากนี้ทิศทางค่าพลังงานของโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง ไม่ว่าราคาน้ำมันดิบ 

ขณะนี้อยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าก๊าซธรรมชาติ ช่วงนี้อาจจะแพงขึ้นเนื่องจากหน้าหนาว แต่ในอีก 3-4 เดือนก็จะลดลงเช่นกัน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี 

นายกสมาคมโรงแรมไทย

ก ารแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พักมีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวปีหน้ายังมีภาวะความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้าง วัตถุดิบ ค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงขึ้น 6-8% หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11% เทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% ไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น หรือสายการบินในต่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมให้ฟื้นตัว 

ช่วงเวลาที่ประเทศยังต้องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขอยกเลิกค่าระวางขั้นต่ำ (Minimum Charge) สำหรับธุรกิจโรงแรมให้ธุรกิจได้มีโอกาสฟื้นตัว เสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในเครื่องจักร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน และการลงทุนนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในโรงแรม เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยคาร์บอน 

และสอดรับกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาลดหย่อนภาษีเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

เรากำลังประสบวิกฤตซ้อนวิกฤต ขณะที่เพิ่งฟื้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซียยูเครน ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อ ส่งผลกระทบรุนแรงทุกภาคส่วน สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมา พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนและ

ผลกระทบต่อผู้บริโภค หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที ในระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทย

สำหรับต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120% ขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจสถานการณ์และเห็นใจประชาชน จึงนำเรื่องการปรับค่าไฟมาพิจารณาอีกครั้ง 

เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไทยยังคงมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก

ญนน์ โภคทรัพย์ 

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคค้าปลีกและบริการถูกล็อกดาวน์หลายครั้ง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ธุรกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเพียง 1 ใน 4 จากช่วงก่อนโควิด-19 ในปีนี้ภาคค้าปลีกและบริการ ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินมีการปรับดอกเบี้ย ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น และค่าพลังงานที่เป็นค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยปกติ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการเป็นสัดส่วน 20-50% แล้วแต่ประเภทธุรกิจ ปัจจุบันมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่ เป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

หากต้องปรับเพิ่มค่าเอฟที จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 พันล้านบาท ภาคค้าปลีกและบริการเอง ได้พยายามแก้ไขปัญหาและจัดการด้านพลังงานด้วย การหาพลังงานทดแทนมาเสริม เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ใช้อุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน การปรับใช้แสงธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอี 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอด จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ 

1.ขอให้ภาครัฐมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการเหมือนกับที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันครั้งที่ผ่านมา ไฟฟ้ามีความสำคัญเทียบเท่ากับน้ำมัน มีผลกับต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก 2.ขอให้มีมาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และ 

3.ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่าเอฟทีให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต

ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สุวัฒน์ กมลพนัส 

 ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส... 

 ากการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ของไทยฉบับปี 2561-2580 (PDP 2018) ประมาณการว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า (แอลเอ็นจี) จะอยู่ในระดับ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นระยะเวลาไปอีก 20 ปี ทำให้มีแผนพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 53% แต่จากภาวะที่ผันผวนของราคาพลังงานในปัจจุบันไม่ว่าจะปัจจัยจากโควิด-19 หรือสงครามที่ยืดเยื้อ ราคาของก๊าซธรรมชาติเหลวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ในปีนี้บางขณะมีราคาสูงถึง 60 เหรียญต่อล้านบีทียู ปัจจุบันอยู่ในจุดที่คงที่ประมาณ 30 เหรียญต่อล้านบีทียู และยังมีแนวโน้มที่จะคงค่าอยู่ในระดับนี้ไปอีกนาน

สมมุติฐานเดิมที่ใช้ในการทำแผน PDP ว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะมีราคาคงที่ในระดับต่ำน่าจะไม่ใช่สมมุติฐานที่ถูกต้อง อาจทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคตจะมีราคาสูงเกินไปตามราคาก๊าซธรรมชาติ ในทางกลับกัน ราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทที่ไม่มีเชื้อเพลิง ได้แก่ ลมและแสงอาทิตย์ จะมีราคาคงที่ตลอด 25 ปี เนื่องจากต้นทุนหลักมาจากค่าก่อสร้างแค่ในครั้งแรก ดังนั้น ค่าไฟฟ้าจึงสามารถกำหนดได้ในระยะยาวและคงที่อย่างแท้จริง ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกล ทำให้ต้นทุนการตั้งโรงไฟฟ้าทั้งลมและแสงอาทิตย์ มีราคาที่ถูกลง

จะเห็นได้จากการรับซื้อไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน จะทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเพียง 2.16 บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และ 3.1 บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่มีแบตเตอรี่ เพื่อให้จ่ายไฟได้คงที่ตลอดช่วงเวลาที่ต้องการใช้ ก็มีราคารับซื้อเพียง 2.83 บาทต่อหน่วย จะเห็นว่าราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกในปัจจุบันอย่างมาก ที่สำคัญราคารับซื้อนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุสัญญา 25 ปี แม้ว่าราคาพลังงานในโลกจะสูงหรือต่ำเพียงใด 

ทางกลุ่มพลังงานหมุนเวียนของ ส... จึงเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนสมมุติฐานในการทำแผน PDP ใหม่ ลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ต้องนำเข้า และไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะค่าไฟฟ้าสูงเช่นนี้ เพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาร่วมด้วยเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าเป็นราคาที่คงที่ 

อีกทั้งยังเป็นไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...)

ที่ผ่านมา ส...ติดตามสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด การประชุม กกร.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟทีเดือนมกราคมเมษายน 2566 ออกไปก่อน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ข้อเสนอในหนังสือที่ กกร.ได้ยื่นให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้า มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ และภาครัฐควรเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง 2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ส่วนแรกขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดสำหรับผู้ใช้ไฟน้อยก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ใช้ไฟเยอะ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัว เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off-Peak) มากขึ้น 4.เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ส่งเสริมโซลาร์เซลล์ในช่วงวิกฤตพลังงาน สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อกเรื่องใบอนุญาต รง.

4.ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์และอุปกรณ์ เช่น 

อินเวอร์เตอร์ และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ (Net metering) สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ 

และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image