บก.ฟอรั่ม : น.4 วันที่ 27 พ.ย. 59

แฟ้มภาพ

ผักตบ
เรียน บก.มติชนรายวัน
ขอเขียนเรื่อง “ผักตบชวา” ที่เป็นปัญหาถึงกับท่านนายกรัฐมนตรีต้องพูดถึง คงเนื่องมาจากภาพ (ประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.59) ผักตบลอยเป็นแพแน่นขนัด ติดอยู่ที่ประตูกั้นน้ำแห่งหนึ่ง ทอดยาวไปตามลำน้ำหลายร้อยเมตร หน่วยงานรัฐดูแลพื้นที่นั้นคงจัดการไม่ไหว ทหารจึงออกมาช่วยตักออกไป ประมาณว่ามีน้ำหนักเกือบร้อยตันท่านนายกรัฐมนตรีคงกำชับให้เร่งกำจัด หลายจังหวัดที่มีพืชดังกล่าวจึงต้องรีบดำเนินการ เห็นภาพข่าวในมติชนรายวัน (10 พ.ย.’59 หน้า 10) ผู้ว่าฯ, รองผู้ว่าฯ นครปฐมและนายอำเภอบางเลนอยู่ในเรือกำลังตักผักตบชวากอใหญ่ เป็นการเปิดโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ คลองสวย น้ำใส กำจัดผักตบชวา”เมื่อเห็นคำว่า “ประชารัฐร่วมใจ” ในชื่อโครงการ ถ้าการปฏิบัติงานเป็นไปตามนั้นก็เชื่อได้เลยว่างานนี้ต้องสำเร็จลุล่วงแน่นอน อีกไม่นานผักตบชวาในแม่น้ำลำคลองลำกระโดงในจังหวัดนครปฐม จะไม่มีให้เห็นอีก ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันทำงานแต่การกำจัดผักตบชวาให้หมดเกลี้ยงไม่เหลือเยื่อใยคงไม่ง่ายนัก เศษเสี้ยวของรากโคนที่หลงเหลือ (หรือมีวิธีแพร่พันธุ์อื่นๆ) อาจงอกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อได้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วก็แพร่กระจายออกไปเหมือนเดิมดังนั้น ประชาชนในพื้นที่จึงเป็นคนสำคัญ เป็นตาคอยมองหาว่าพืชดังกล่าวจะเริ่มโผล่ตรงไหน ก็ช่วยกันกำจัดเสีย เป็นการกำจัดที่ “ต้นตอ” ถ้าทุกจังหวัดที่มีผักตกชวาอยู่ในขณะนี้ใช้โครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาตั้งแต่ต้นตอ ปีหน้าก็จะไม่เห็นผักตบชวาให้รกตาเช่นที่ผ่านมาเป็นความเห็นของพลเมืองคนหนึ่งที่นั่งดูอยู่วงนอก และคิดว่าน่าจะเป็นไปได้จึงเสนอมาเพื่อพิจารณา

ด้วยความนับถือ
คนไทยคนหนึ่ง

ตอบคุณคนไทย
โดยหลักการแล้วใช่เลยครับ แต่ในทางปฏิบัติจะมีปัญหาอยู่พอสมควร ระหว่างความคิดที่อาจไม่ตรงกัน มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน และอื่นๆ อีกสารพัด ต้องมีทางราชการเข้าไปสอดส่องดูแลด้วยครับ

เสร็จเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

เรื่อง ชี้แจงข้อร้องเรียนร้องทุกข์ กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างถนนในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน
ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ได้เผยแพร่ข่าวหัวข้อ “สุดทน! ชาวบ้านเหลืออด จวกเทศบาล ปล่อยผู้รับเหมาปิดถนน 6 เดือน งานไม่คืบ” ระบุว่าเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำและระบบส่งน้ำประปาใต้ดิน แต่ผู้รับเหมาทำงานล่าช้า มีการปิดถนนทำให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อนนั้นจังหวัดอุตรดิตถ์ขอแจ้งให้ทราบว่า เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ได้ดำเนินการเร่งรัดผู้รับจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างทุกโครงการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว แต่เนื่องจากโครงการแต่ละโครงการมีความซับซ้อนของเนื้องาน และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางจึงได้มีการปิดถนนเป็นบางจุด และปัจจุบันบริเวณก่อสร้างสามารถสัญจรได้ตามปกติ และการดำเนินการก่อสร้างแต่ละโครงการใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์สามารถที่จะใช้งานได้ตามปกติแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ
นายสุมิตร เกิดกล่ำ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

ชี้แจง
เรื่อง ชี้แจงข้อร้องเรียนถนนเลียบคลองชลประทานชำรุด
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์
ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ฉบับ
วันพุธที่ 7 กันยายน 2559 ได้เผยแพร่ข่าวหัวข้อชาวบ้านรุมโวย ถนนเลียบคลองชลประทานพังยับ ไร้หน่วยงานดูแล รถยนต์วิ่งอันตราย โดยนายชัยวัฒน์ ศรีการะเกตุ ร้องเรียนว่าถนนเลียบคลองชลประทานระหว่างถนนพาดวารี กับถนนศรีชาววัง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ พังเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และมีฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเข้าสู่ที่อยู่อาศัยของประชาชน นั้นจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดังนี้1.อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ โดยเทศบาลตำบลบ้านเกาะ แจ้งว่าถนนดังกล่าวเป็นคันคลองชลประทานที่สร้างขึ้นจากการขุดลอกคลองชลประทานแล้วนำดินมาสร้างเป็นถนนลาดยางให้ประชาชนทั่วไปใช้สัญจร เมื่อถนนชำรุดเทศบาลตำบลบ้านเกาะเคยประสานโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ เพื่อขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก2.โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ แจ้งว่าถนนดังกล่าว ระยะทางรวม 1,920 เมตร เดิมใช้เพื่อขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ต่อมาเทศบาลตำบลบ้านเกาะได้ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีต ระยะทาง 680 เมตร ขณะนี้เทศบาลตำบลบ้านเกาะได้ขออนุญาตก่อสร้างถนนเพิ่มเติมแต่เอกสารประกอบยังไม่ครบถ้วน อนึ่ง โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ได้จัดทำแผนงานและดำเนินการซ่อมบำรุงถนนเป็นประจำ แต่ไม่สามารถก่อสร้างใหม่ได้ เนื่องจากภารกิจก่อสร้างถนนมิใช่ภารกิจของกรมชลประทาน และโครงการชลประทานอุตรดิตถ์จักได้ถ่ายโอนภารกิจบำรุงรักษาผิวทางให้เทศบาลตำบลบ้านเกาะรับผิดชอบต่อไปจึงเรียนมาเพื่อทราบ ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แจ้งเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวให้เทศบาลตำบลบ้านเกาะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Advertisement

ขอแสดงความนับถือ
นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ
รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

นิวเคลียร์-หมอฟัน
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงข่าวจากหนังสือพิมพ์
เรียน บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ตามบทความที่อ้างถึง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2559 (กรอบบ่าย) ได้ลงข่าวในหัวข้อข่าว “พลังงานนิวเคลียร์ที่กระเทือนอาชีพหมอฟัน” โดย ทพ.สมชัย สุขสุธรรมวงศ์ ซึ่งมีเนื้อหาข่าวเสนอให้ทบทวนและหาทางออกร่วมกันระหว่างทันตแพทยสภา ซึ่งเป็นตัวแทนวิชาชีพกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ที่ต้องขออนุญาตเครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม และต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) นั้น
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ประเด็นที่ 1 การยกเว้นขอใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี หรือเครื่องเอกซเรย์สำหรับงานทางทันตกรรมข้อชี้แจง เนื่องจากเครื่องเอกซเรย์สำหรับงานทางทันตกรรม เมื่อมีการใช้งานตามปกตินอกจากผู้ป่วยที่ได้รับรังสีตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานทางการแพทย์โดยทันตแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลแล้วยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่อาจได้รับรังสีได้ เช่น ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ญาติผู้ป่วย ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง อันเนื่องมาจากการสะท้อนกลับของรังสี ความหนาของผนังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การซ่อมบำรุงโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลทั่วไปอาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น หรือได้รับอันตรายจากรังสีได้ ดังนั้น ปส.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ดังกล่าว ต้องได้รับการกำกับดูแล โดยระบบการขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 (สำหรับงานทันตกรรม) เครื่องละ 1,000 บาท ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีประเด็นที่ 2 การยกเว้นการสอบใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี สำหรับงานทันตกรรมข้อชี้แจง จากมติที่ประชุมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และทันตแพทยสภา รวมทั้งผู้แทนกลุ่มทันตแพทย์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยให้ ปส.หารือร่วมกับสภาวิชาชีพเพื่อวิเคราะห์หลักสูตรวิชาที่สามารถเทียบเท่าตามสมรรถนะหลักของ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีที่ 1 หากเทียบเท่าได้ จะสามารถขอรับใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องสอบ ซึ่งหากขาดเนื้อหาเพียงบางส่วนก็สามารถเรียนหรืออบรมเพิ่มเติมได้กรณีที่ 2 หากวิเคราะห์แล้ว ไม่มีวิชาที่สามารถเทียบเท่าได้ จำเป็นต้องสอบเพื่อขอใบอนุญาตตามกฎหมายต่อไปปส.จะจัดทำขั้นตอนมาตรฐานการปฏิบัติงาน สำหรับการใช้งานรังสีทางทันตกรรม ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในหน่วยงานของตนต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และโปรดเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าวให้เป็นที่เข้าใจกันต่อไปด้วยจะขอบคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์
รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขา
ธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

เชียร์เต็มที่
เรื่อง ขอสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทุจริต
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนและกำลังดำเนินการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการ พวกเราเป็นประชาชนทั่วไป เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เอาจริง เอาจัง ในทุกวงการอย่างเป็นระบบ แต่ยังมีข้อสงสัยบางเรื่อง และอยากทราบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้1.กรณีข้าราชการทั้ง ทหารและตำรวจ ตั้้งแต่ยศนายพลขึ้นไปการนำบุคคลไปรับใช้ส่วนตัวและครอบครัว โดยเฉพาะไปประจำที่บ้านเพื่อบริการบุคคลในครอบครัว เฉลี่ยครอบครัว ประมาณ 2-5 นาย ไม่ว่ารับส่งลูกหลานไปโรงเรียน ไปตลาด ทำงานบ้านทุกชนิด ไม่ต้องทำงานในหน้าที่ และบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ มักได้ดิบได้ดี ได้รับการพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบคนอื่น โดยกินเงินเดือนหลวง ใช้สิทธิของราชการในการเบิกทุกอย่างของรัฐ อยากทราบว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ข้อเสนอ ควรให้ทุกนาย กลับหน่วย หรือต้นสังกัดไปปฏิบัติหน้าที่ของตนตามตำแหน่ง
2.ข้าราชการผู้ใหญ่ ทุกกระทรวง ทุกกรม ทุกหน่วยงาน ที่มีรถประจำตำแหน่งจะนำไปใช้ส่วนตัว ไม่ว่ารับส่งภรรยา หรือคู่สมรสและบุตรหลาน ไปทำธุระหรือเที่ยวต่างจังหวัดโดยเฉพาะวันหยุด หรือเสาร์ อาทิตย์ ใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษา และค่าน้ำมันจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัด รถทุกคันตกแต่งอย่างดี แต่รถที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง กลับชำรุด เสียบ่อย ไม่ค่อยได้รับการดูแล จำกัดการใช้น้ำมัน หากไม่พอใช้ภายในเดือนก็ต้องหยุดใช้ หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ต้องมีการเฉลี่ยหาเงินเพื่อซื้อน้ำมันมาเติมกันเองก็มี
ข้อเสนอ หากผู้บริหารคนไทย อยากจะใช้รถไปต่างจังหวัดหรือนอกเวลาราชการ เช่น วันหยุด หรือกลางคืน ต้องขออนุมัติหน่วยงานผู้บังคับบัญชา และควรประชาสัมพันธ์ให้สื่อช่วยจับตามอง เป็นหูเป็นตาแทนรัฐ3.เวลาในการปฏิบัติหน้าที่ มาสาย กลับก่อน เซ็นชื่อแทน เซ็นชื่อย้อนหลัง เบิกเบี้ยเลี้ยงเป็นเท็จข้อเสนอ ทุกหน่วยงาน ต้องควบคุมเวลาเข้า-ออก โดยการสแกนนิ้ว หรือสายตา มีการเชื่อมข้อมูลไปยังหน่วยงาน เหนือขึ้นไปตามลำดับชั้น จนถึงกรมบัญชีกลาง หรือกระทรวง คาดว่า เมื่อทุกคนถูกควบคุมอย่างมีระบบแล้ว น่าจะทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่น่าจะมานอนหรือพักผ่อนที่ทำงานเป็นหลัก4.กรมเรื่องวินัยจราจร ของรถราชการรถของทางราชการทุกหน่วยงานทั้ง ตำรวจ ทหาร กรมการปกครอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ฝ่าฝืนกฎจราจร จอมเสียบ จอมปาด สรุปง่ายๆ คือ ฝ่าฝืนทุกเรื่องเนื่องจากรถของทางราชการไม่ต้องเสียภาษีสามารถต่อทะเบียนได้ทันที ถึงแม้ว่าได้รับใบสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม เลยไม่สนใจไม่เกรงใจเจ้าหน้าที่ข้อเสนอ หากหน่วยงานใดได้รับใบสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ ต้องเรียกค่าปรับจากพนักงานขับรถ หรือเอาผิดวินัย หรือลงโทษตามลำดับขั้น เมื่อรถของทางราชการปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี แล้วใครเล่าจะไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนและน่าจะแก้ไขปัญหารถติดได้ระดับหนึ่ง

จาก ประชาชนผู้หวังดี
และขอสนับสนุนรัฐบาล

ตอบคุณประชาชนฯ
ฝากให้หน่วยงานปราบโกงทั้งหลายพิจารณาครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image