วิโรจน์ ชวนติดตามพ.ร.บ.การศึกษา รับอ่านแล้วตกใจ ล้าสมัย มุ่งล้างสมอง ยัดเยียดให้เด็กรู้

วิโรจน์
วิโรจน์

วิโรจน์ ชวนติดตามพ.ร.บ.การศึกษา รับอ่านแล้วตกใจ ล้าสมัย มุ่งล้างสมอง ยัดเยียดให้เด็กรู้ 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานครพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง [ เมื่อลูกกำลังจะถูกครอบ ด้วย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ] โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก Amazon เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 Google Search เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 Alibaba เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 Facebook เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 YouTube เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ระบบ Cloud Computing เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 iPhone รุ่นแรก เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ระบบปฏิบัติการ Android เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของ Tesla วางขายในปี พ.ศ. 2551 ระบบ Blockchain เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 ธุรกรรม Bitcoin เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 LINE เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 Grab เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 Tinder เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 TikTok เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559

ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน เราจะจินตนาการถึงสิ่งเหล่านี้ที่ได้จริงๆ หรือ โลกในปัจจุบันหมุนเร็วมาก เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ทำให้วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพ ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

และ ในอนาคตเวลาจะหมุนเร็วขึ้นอีก เทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็วขึ้นกว่านี้อีก

Advertisement

การศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคน จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นการเรียนรู้เพื่อดักอนาคต ไม่ใช่เอาเรื่องที่รู้แล้วในอดีตมาสอนให้เด็กจำ

การศึกษาต้องไม่ใช่การเอาเรื่องราวทีก่ำลังล้าสมัย มายัดเยียดให้เด็กรู้ มาดูดเวลาเด็กให้หมดไปวันๆ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้เฉพาะทักษะพื้นฐานที่จำเป็น แล้วเปิดโอกาสให้เด็กได้มีเวลาในการใช้ความรู้นั้น ในการค้นคว้าหาความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะด้วยตนเอง

การศึกษาต้องไม่ใช่ระบบในการใช้อำนาจนิยม และการปลูกฝังความเชื่อให้เด็กทุกคนคิดเหมือนๆ กัน เชื่อเหมือนๆ กัน และพร้อมทำตามที่สั่งเหมือนในยุคสงครามเย็น แต่ต้องเป็นระบบที่เด็กมีเสรีภาพในการคิดสร้างสรรค์ ฝึกการยับยั้งชั่งใจ และการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจด้วยตนเอง

การศึกษาต้องไม่ใช่เครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ใช้ในการควบคุมพลเมือง แต่ต้องเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพื่อให้คนแต่ละคน มีทักษะในการวิ่งตามความฝันที่ยิ่งใหญ่ของตนเอง

เศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีต ที่เติบโตได้ในระดับที่สูงกว่า 5% ต่อปี นั้นเกิดจากอัตราการเกิดของประชากร แต่ปัจจุบันจำนวนการเกิดได้น้อยกว่าจำนวนการตายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่นับวันจะมีประชากรในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ การที่ประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมายืนในระดับ 5% ได้อีกครั้ง มีอยู่ทางเดียวก็คือ การพัฒนา Productivity และ Creativity ของคนในประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และสอดรับกับยุคสมัย

ผมตกใจมากๆ เมื่อได้อ่านเนื้อหาของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญของระบบการศึกษาของประเทศ ที่กำลังจะถูกพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 10-11 นี้ กลับมีเนื้อหาที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม เป็นระบบล้าสมัย ที่มุ่งล้างสมองเด็กให้โตขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมถูกบงการจากผู้มีอำนาจ เท่านั้น แทนที่โรงเรียนจะเป็นพื้นที่ที่เด็กรู้สึกปลอดภัยในการตั้งคำถาม และคิดสร้างสรรค์ โรงเรียนกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าการถูกกดขี่จากอำนาจนิยม เป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับโดยไม่ต้องสงสัย

ไม่มีคำว่า “เสรีภาพในการเรียนรู้” ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้

ในมาตรา 8 แทนที่จะกำหนดให้หลักสูตร และการพัฒนาผู้เรียนมีความยืดหยุ่น ที่เป็นไปตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน กลับกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนตามช่วงวัยแบบล็อคสเป๊ค คิดว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน ต้องเป็นเหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการ และความสนใจที่แตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคนเลย

ทุกคนต่างรู้ดีว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ นั้นเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ เป็นแค่แผนล้าสมัยของกลุ่มศักดินาที่ไม่เข้าใจ และหวาดกลัวต่ออนาคต พยายามจะวางกรอบขังประเทศให้อยู่กับอดีต และความเหลื่อมล้ำที่ตนเองได้เปรียบ แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ในมาตรา 80 กลับผูกตัวเองไว้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ อย่างแนบแน่น

ที่เลวร้ายที่สุด ก็คือ มาตรา 88-96 ที่เป็นการยึดอำนาจทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มาที่ Super Board ที่เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ” ซึ่งมีที่มาจากข้าราชการเป็นหลัก ไม่มีตัวแทนจากนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญของระบบการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมเลย แต่กลับมีอำนาจบาตรใหญ่ ที่สามารถแทรกแซงการบริหารโรงเรียน และหลักสูตรการเรียนการสอนได้ แถมมติของคณะกรรมการนโยบายการศึกษา ยังมีผลผูกพันส่วนราชการในฐานะอีกด้วย นั่นหมายว่า ต่อให้มติของคณะกรรมการชุดนี้ จะโง่เขลาเข้ารกเข้าพงแค่ไหน จะอย่างไรก็ต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามก็อาจมีโทษตามกฎหมาย

ในฐานะของคนเป็นพ่อ ผมอยากจะเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ช่วยกันติดตาม ในวันที่ 10-11 มกราคมนี้ แล่ะร่วมกันเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ได้ โดยเฉพาะในมาตรา 8 มาตรา 80 และมาตรา 88-96 ถ้าปล่อยผ่านกฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลกระทบกับอนาคตของลูกอย่างมาก และเมื่อลูกเราโตขึ้นอย่างสูญเปล่า โดยที่เราไม่สามารถเรียกคืนเวลาที่สูญเสียของลูกกลับมาได้เลย ถึงเวลานั้นต่ออยากจะไปชี้หน้าด่าคนที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ ก็ทำไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นคงตายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว ทำได้อย่างมาก ก็แค่เผาพริกเกลือ จุดธูปสาปแช่ง ให้ตายไปไม่ได้ผุดได้เกิด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image