ฎีกาแก้โทษจำคุก”สนธิ”1ปี รอลงอาญา2ปี เพิ่มโทษปรับ2แสน คดี“ภูมิธรรม” ฟ้องหมิ่นประมาท

ภาพจากแฟ้ม-(ซ้าย)นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมช.คมนาคม และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย - (ขวา)นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 10 .00 น.วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมช.คมนาคม และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการ บจก.ไทยเดย์ นายพชร สมุทวณิช กรรมการ บจก.ไทยเดย์ นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ผู้จัดการ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ นายมรุชัช รัตนปรารมย์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ นายวิรัตน์ แสงทองคำ ผู้ดูแลเว็บไซต์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีเมื่อที่ 25 พฤศจิกายน 2548 เวลากลางคืน นายสนธิ จำเลยที่ 5 และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และยังมีการบันทึกเป็นวีซีดีออกเผยแพร่ รวมทั้งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับเสาร์อาทิตย์ 26-27 และ 28 พฤศจิกายน 2548 และเว็บไซต์ผู้จัดการ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยการเผยแพร่วีซีดีและดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พิพากษาให้ปรับเงิน 200,000 บาท และให้ทำลายวีซีดี ดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งที่ 10 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 26-27 และ 28 พฤศจิกายน 2548 รวมทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 3 วัน โดยให้จำเลยที่ 1 และ 5 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

ต่อมานายภูมิธรรม โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-4 และ 6-10 ด้วย ส่วนบริษัท ไทยเดย์ จำเลยที่ 1 และนายสนธิ จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์ว่าการจัดรายการของจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาใส่ร้ายโจทก์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของนายสนธิ จำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นการติชมด้วยความสุจริตและเป็นธรรม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย ทั้งที่พิพากษาโทษตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยสิ่งบันทึกเสียง และภาพ และสื่อสิ่งพิมพ์ไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารุนแรงเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ เพราะเมื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 328 แล้วก็ไม่จำต้องพิจารณาโทษตามมาตรา 326 อีก จึงพิพากษาแก้โทษนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นจำคุก 6 เดือน ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ให้ลงโทษจำเลยอื่นนั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยอื่น ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

Advertisement

ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยอื่นด้วย ขณะที่บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้พิพากษาลดโทษปรับ และนายสนธิ จำเลยที่ 5 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ

โดยนายวันนี้ จำเลยทุกคนเดินทางมาศาล มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัว นายสนธิ จากเรือนจำ โดยนายสนธิมีสีหน้าเรียบเฉย

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 และนายสนธิ 5 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษจำคุก 6 เดือนนายสนธิจำเลยที่ 5 โดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ จึงเห็นควรให้แก้โทษเสียใหม่ จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 1 ปี แต่สาเหตุที่จำเลยที่ 5 กระทำความผิดนั้น เกิดจากการที่โจทก์ให้สัมภาษณ์พาดพิงจำเลยว่าใช้เว็บไซต์ ต่อต้านรัฐบาลขณะนั้น โดยจำเลยที่ 5 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน ดังนั้นมีเหตุควรปราณีและสมควรให้โอกาส กลับตัวกลับใจ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรให้เพิ่มโทษปรับด้วยเป็นเงิน 2 แสนบาท ส่วน บริษัทไทยเดย์ จำเลยที่1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษปรับ 2 แสนบาทนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว นอกเหนือจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้แล้ว ส่วนอื่นก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image