เสียงสะท้อนนโยบายหาเสียง ต้องทำได้จริงไม่ใช่‘ขายฝัน’

หมายเหตุความเห็นนักธุรกิจและหอการค้าจังหวัดต่างๆ ต่อนโยบายพรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีความเหมาะสมหรือไม่ และมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง

ธนวัฒน์ พูนศิลป์

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

Advertisement

การนำเสนอนโยบายในการหาเสียงของพรรค การเมืองต่างๆ ที่มีอย่างหลากหลาย เกือบทุกพรรคการเมืองที่เตรียมที่จะส่งว่าที่ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส..ในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ โดยส่วนตัวเท่าที่ติดตามเห็นการนำเสนอนโยบายของพรรค การเมืองต่างผ่านสื่อรวมถึงแผ่นป้ายหาเสียงแนะนำตัวนั้น ยังไม่มีนโยบายไหนเข้าตา จนถึงขนาดเห็นด้วย หรือรู้สึกมีส่วนร่วม หรือพึงพอใจ เนื่องจากพบว่านโยบายในการหาเสียงนั้นยังเป็นการหาเสียงเป็นนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหายาเสพติด การปรับขึ้นค่าแรง การแก้ปัญหาหนี้สิน เรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตร การสร้างงาน สร้างคน สร้างรายได้ ทั้งหมดมองว่าเป็นนโยบายเป็นนามธรรม ไม่มีอะไรจับต้องได้ มีแต่การนำเสนอนโยบาย ไม่เห็นว่าแนวปฏิบัติจะสามารถทำได้อย่างไร

นโยบายที่นำเสนอกันนั้น มองว่าเป็นการนำปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันมาเป็นการหาเสียง เป็นการเขียนนโยบายในภาพกว้าง ขายฝัน ไม่สามารถยืนยันการปฏิบัติได้จริง ตนว่ายังไม่มีนโยบายจะสามารถทำได้ชัด ในนโยบายเขียนออกมาจะต้องปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่นโยบายขายฝันเพื่อหาเสียง นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแล้วนั้น เป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อหาเสียงกับคนในระดับกลางถึงล่าง อาจจะไม่ได้วิเคราะห์อะไรมาก เมื่อประชาชนเลือกเข้าไปก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามนโยบายที่เขียนเอาไว้ ครบวาระ 4 ปี ก็กลับมาเขียนนโยบายจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมานำเสนอกับประชาชนใหม่ ไม่ได้เกิดประโยชน์มากนัก

สิ่งที่พรรคการเมืองควรทำนั้น การเขียนนโยบายไม่ว่าจะเรื่องใด ก็ควรจะมีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้นโยบายนั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผลในช่วงเวลากำหนด ควรจะมีการเขียนนโยบาย พร้อมแผนยุทธศาสตร์จะสามารถปฏิบัติเพื่อให้นโยบายนั้นๆ เป็นรูปธรรมได้ หากมีพรรคการเมืองที่เขียนนโยบายที่ชัดเจนพร้อมแนวปฏิบัติเป็นไปได้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติในระยะยาว แทนที่จะนำเสนอนโยบายขายฝันเช่นในปัจจุบัน

Advertisement

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์  

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

พรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียง เพื่อเรียกความนิยมการเลือกตั้ง ส..สมัยหน้า พรรคการเมืองประกาศนโยบายต่อสาธารณชนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประชานิยมและรัฐสวัสดิการ ยังไม่ใช่นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจแท้จริง ยังไม่ตอบสนอง หรือตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักลงทุนมากนัก เพราะนโยบายดังกล่าวพุ่งเป้า เพื่อเรียกคะแนนหาเสียงให้กับพรรค และผู้สมัครเท่านั้น ก่อนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล และได้ผู้นำประเทศคนใหม่

สังเกตนโยบายพรรคเพื่อไทย (พท.) ค่าจ้างวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และทักษะฝีมือแรงงาน ดังนั้นรัฐต้องพัฒนาการศึกษา พร้อมยกระดับทักษะฝีมือ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการพร้อมจ่ายค่าจ้างดังกล่าว แต่เป็นห่วงแรงงานต่างชาติได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ดังนั้นต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน ว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้

ส่วนนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บัตรคนจนคนละ 700 บาท/เดือน ต้องดูว่ากระทบระบบการเงินการคลัง หนี้สาธารณะประเทศ และอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ มีหลายประเทศใช้นโยบายดังกล่าวมีปัญหา หากฐานะการเงินการคลังอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ถ้าฐานะการเงิน การคลัง มีเสถียรภาพสามารถทำได้เช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก

ด้านพรรคก้าวไกล (..) เสนอนโยบายรัฐสวัสดิการ ต้องใช้งบประมาณมากนั้น ต้องดูว่าจัดเก็บภาษีได้มากน้อยแค่ไหนและนำภาษีไปใช้ในด้านไหน เกิดประโยชน์และคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ขณะเดียวกันนักธุรกิจต่างชาติถือวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ได้เสียภาษีดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบ เพราะต้นทุนสูงกว่า ทำให้สินค้าและบริการสูงขึ้นด้วย

ดังนั้นพรรคการเมือง ต้องปรับนโนยาย เพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ การเพิ่มรายได้ชนชั้นกลาง และล่าง ลดหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะประเทศ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เพื่อลดต้นทุนผลิต ประกอบการต่ำลง โดยเฉพาะค่าจ้าง และพลังงาน ถือเป็นต้นทุนการผลิต 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด

นอกจากนี้ รัฐต้องเปิดตลาดส่งออกใหม่ เช่น ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ แอฟริกา ผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากบางประเทศมีกำลังซื้อสูงขึ้น ดังนั้นต้องลดขั้นตอนส่งออก การเก็บภาษี อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการธุกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เป็นตัว

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าด้วย

สิ่งที่เป็นห่วงและกังวลมากที่สุดคือ การทุจริต หรือคอร์รัปชั่น เกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบการ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ หรือเงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนแฝง ส่งผลให้สินค้าและบริการสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งเกิดการลงทุนข้ามชาติมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา และอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ดังนั้นรัฐต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่นโยบายแก้ทุจริต แต่ทำไม่ได้ ส่งผลให้เกิดทุจริตในวงกว้างมากขึ้น จึงไม่เกิดประโยชน์อะไร

ภาพรวมนโยบายพรรค ต้องเป็นนโยบายปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน ทำไม่ได้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายภายหลัง ที่สำคัญประชาชนต้องรับรู้ มีส่วนร่วม ตรวจสอบนโยบายได้ว่ามีผลดี ผลเสีย ใครได้ประโยชน์อย่างไร ต้องรอดูอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ว่าพรรคการเมือง จะชูนโยบายเศรษฐกิจทิศทางไหน เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาปากท้องประชาชนอย่างไร เป็นเรื่องน่าติดตาม ก่อนใช้ดุลพินิจ และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งหน้า

หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ    

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาช่วงนี้ ถือว่าไม่เซอร์ไพรส์อะไรนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นนโยบายประชานิยม แจกเงินฟรี ทำได้ง่าย ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน ถูกใจคนรากหญ้ามาก นโยบายหลักของแต่ละพรรคการเมืองมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 700 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐ ต้องใช้เงินงบประมาณสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ถามว่ารัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมาจ่าย เป็นเงินกู้หรือไม่ ต้องชี้แจงแหล่งที่มาของเงินให้ชัดเจน ถ้ารัฐบาลไทยบริหารประเทศดี มีเงินงบประมาณเกินดุล มีรายได้มากกว่ารายจ่าย การแจกเงินลักษณะนี้ตนก็เห็นด้วย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ แจกเงินประชาชนทั้งที่ยังบริหารประเทศขาดดุลอยู่ ถ้าชูนโยบายเช่นนี้ต่อไปอีก คงจะไม่ดีแน่นอน

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย สร้างความฮือฮามาก เพื่อไทยระบุว่าจะทำให้ได้ภายใน 4 ปี จะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ และเทคโนโลยี เข้ามาสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชนปีละ 2 แสนบาทต่อครอบครัว เป้าหมายจะทำให้ได้ประมาณ 20 ล้านครอบครัว ถ้าทำได้จริงก็จะมีเงินในระบบเศรษฐกิจมากถึงปีละ 4 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่จะเป็นนโยบายขายฝันหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูในเรื่องของรายละเอียดอีกครั้ง

นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดเงินต้น ปลอดดอกเบี้ย ของพรรคภูมิใจไทย งงมาก เพราะถ้าปลอดดอกเบี้ย 3 ปี แล้วหลังจาก 3 ปีก็ต้องมาจ่ายอยู่ดี ขณะเดียวกันระหว่างปลอดดอกเบี้ย 3 ปี ใครจะจ่ายดอกเบี้ยแทน รัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายให้หรือ เพราะธนาคารปล่อยเงินกู้ ก็เป็นการนำเงินของลูกค้าฝากเงินไว้กับธนาคารไปปล่อยกู้ ธนาคารก็ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้าฝากเงินกับธนาคาร ดังนั้นนโยบายนี้ตนไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันนโยบายจ่ายเงินตอบแทนให้ อสม.เดือนละ 2,000 บาท เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ถ้าไม่ได้ อสม.เหล่านี้มาช่วย คงจะเอาไม่อยู่แน่นอน

นโยบายยกเลิกระบบแบล๊กลิสต์ ในระแบบเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) ของพรรคชาติพัฒนากล้า ถ้าจะยกเลิกระบบแบล๊กลิสต์ก็ได้หรือใช้ระบบเครดิตสกอริ่งก็ได้ แต่การปล่อยกู้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้กู้ด้วย ถ้ายกเลิกแบล๊กลิสต์คนปล่อยกู้จะกล้าปล่อยกู้หรือไม่ ส่วนเครดิตสกอริ่งคือคะแนนเครดิต ตัวชี้วัดคะแนนจากรายได้ แต่ถ้าคนไม่มีรายได้สม่ำเสมอเทียบกับคนมีรายได้ทุกเดือน มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ปล่อยกู้หรือยกเลิกการติดแบล๊กลิสต์ไป แล้วคนไม่ปล่อยกู้ก็ไม่สามารถกู้ได้ จะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นนโยบายพรรคชาติพัฒนากล้าต้องบอกก่อนว่า ประชาชนจะหารายได้จากไหน มีรายได้อย่างไร เพราะถ้าประชาชนมีรายได้ก็จะมีคะแนนในเครดิตสกอริ่ง ถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ และยกเลิกแบล๊กลิสต์ตนเห็นด้วย

นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ของพรรคสร้างอนาคตไทย มีการเพิ่มเงินและเพิ่มสิทธิประโยชน์มากมายให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เหมือนนโยบายขายฝัน เพราะช่วงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย บริหารประเทศอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ทำนโยบายต่างๆ ออกมา ประเทศขาดดุลโดยตลอด เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายมากกว่าสร้างรายได้ ถ้าจะทำนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หมายความว่าต้องไปกู้เงินต่างชาติเข้ามาอีกมหาศาล เพื่อใช้จ่ายในโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ทำให้ประเทศชาติมีหนี้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียว

นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องดี แต่ต้องใช้เงินมหาศาล การประกันรายได้ใน 1 ปี คาดว่าใช้เงินไปกว่า 1 แสนล้านบาท ถือว่าเยอะมาก แบ่งจ่ายเงินส่วนต่างพืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพด นโยบายนี้ยังส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรด้วย เช่น ปลูกข้าว เมื่อถึงเวลานำข้าวไปขายแล้วได้ราคาถูก ก็ได้รับส่วนต่างจากรัฐบาล ทำให้การแข่งขันของเกษตรกรลดลงตามไปด้วย ส่วนเงินช่วยเหลือชาวนา 30,000 บาท/ครัวเรือน ตรงนี้กระอักเลือดแน่นอน เพราะไทยมีชาวนาอยู่กว่า 47.5 ล้านครัวเรือน ต้องใช้เงินอีกกว่า 1.4 แสนล้านบาท ถึงจะช่วยชาวนาทั้งประเทศได้ ยังไม่รวมกับประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพด ไหนจะพี่น้องชาวประมงฐานเสียงภาคใต้ ต้องอุดหนุนอีกปีละ 100,000 บาท ฉะนั้นโครงการต่างๆ เหมือนเป็นโครงการแจกเงินเฉยๆ ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพต่อการผลิต จะหาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน หรือจะเอาเงินภาษีไปแจก ตนไม่เห็นด้วย มองไม่เห็นความยั่งยืน ถ้าเปลี่ยนจากช่วยเหลือเป็นเข้าไปพัฒนาเกษตรกรแล้วแต่บริบท ดีกว่าจ่ายเงินทีเดียว แต่เกษตรกรไม่พัฒนา การคิดประกันรายได้ควรคิดราคาต่ำสุด พออยู่ได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น ประกาศราคาสูงกว่าความจริงมาก รัฐต้องแบกรับส่วนต่างกว่า 1 แสนล้านบาท แสดงถึงความไม่ถูกต้องชัดเจน

นโยบายปลดล็อกเครดิตบูโรให้ประชาชน ของพรรคไทยสร้างไทย ไม่เข้าใจว่าจะได้ประโยชน์อะไร เครดิตบูโรเหมือนคนปล่อยกู้ ต้องตรวจสอบคนกู้เงินค้างชำระมากน้อยเพียงใด เพื่อระมัดระวังการปล่อยกู้ครั้งต่อไป ดังนั้นการปลดล็อกเครดิตบูโร เหมือนการแก้ปัญหาปลายเหตุ ถ้าคนไม่อยากจะปล่อยกู้ เขาก็ไม่ปล่อยกู้อยู่ดี ต่อให้คุณจะปลดล็อกเครดิตบูโรให้ประชาชนก็ตาม เรื่องนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงจะไม่เกิดการกู้ยืมเงินขึ้นมาในอนาคต

สรุปว่า นโยบายแจกเงิน ตนเห็นด้วย แต่จะต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ มากกว่ารายจ่ายเสียก่อน ไม่ใช่การกู้เงินมาแจกอย่างเดียว เมื่อใช้เงินหมดแล้วก็แจกอีก ไม่ยั่งยืน ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีงาน มีเงินอย่างแท้จริง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ควรชี้แจงให้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อมีเงินเพิ่มขึ้นจะได้นำเงินส่วนนี้มาจ่ายเป็นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายหาเสียงไว้ ที่สำคัญนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ หากทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ ตนอยากให้มีบทลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นนโยบายขายฝัน หรือเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปได้สูงจะได้รัฐบาลผสม ไม่ต้องไปอ้างว่าทำตามนโยบายหาเสียงไว้ไม่ได้ 

เพราะพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเป็นรัฐบาลผสม แล้วได้คุมกระทรวงที่รับผิดชอบนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็ควรทำตามนโยบายได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหาเสียงกระทรวงใดไว้ เมื่อไม่มีโอกาสเข้าไปคุมกระทรวงนั้นๆ ก็ไม่ควรนำมาหาเสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image