จุดประทัดเปิดศักราชแห่งความหวัง รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผ่าภูมิ(ยุทธ)ศาสตร์ จีน-ไทย

เข้าสู่ศักราชใหม่อย่างน่าจับตายิ่ง เนื่องด้วยเป็นตรุษจีนแรกของการกลับมา เปิดประเทศž ของสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทางการจีนยุติการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติ รวมถึงการออกหนังสือเดินทางให้กับชาวจีนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสแห่งศตวรรษในต้นปี 2020

8 มกราคมที่ผ่านมา จีนกลับมาออกหนังสือเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง ถือเป็นอีกก้าวใหญ่หลังมาตรการคุมเข้มภายใต้นโยบาย โควิดเป็นศูนย์ž ยาวนานเกือบ 3 ปี และไทยแลนด์ยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ชาวจีนค้นหามากที่สุด

นับจากตรุษจีนนี้เป็นต้นไป คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยจะกลับมาเป็นภาพคุ้นตาอีกครั้งดังที่เคยเป็นมา จุดไฟแห่งความหวังท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญของการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ

ย้อนไปเมื่อ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือสุดยอดผู้นำเอเปค ครั้งที่ 29 ส่งสัญญาณที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิดต่อ

Advertisement

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานเล่มล่าสุด ผ่าภูมิศาสตร์เอเชีย จาก โซเมีย ถึง อี้ไต้ อี้ลู่ และ อินโด-แปซิฟิก วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภายหลังการเปิดประเทศของจีนอย่างลึกซึ้งในหลากหลายมิติ

ไม่เพียงในฐานะนักวิชาการ หากแต่ยังเป็นคนไทยคนแรกที่คว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ด้านรัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ สำนักเดียวกับ ดร.ซุน ยัตเซน ผู้นำปฏิวัติซินไฮ่ ทั้งยังซึมซับวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่เยาว์วัยด้วยการปลูกฝังจากคุณย่า ผู้มีเชื้อชาติจีนเต็มสายเลือด ในชุมชนชาวจีนย่านตลาดหัวรอ พระนครศรีอยุธยา

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

นักท่องเที่ยวจีนไหลบ่า ดึงเศรษฐกิจสู่สัญญาณบวก

Advertisement

เริ่มต้นด้วยประเด็นการเปิดประเทศของจีน ซึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาคมองถึงแง่บวกสำหรับประเทศปลายทางที่เป็นเป้าหมายการเดินทางว่าคงมีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เนื่องด้วยมีกำลังซื้อสูงมาก ทั้งยังสอดรับกับเทศกาลตรุษจีน ย่อมส่งผลดีต่อร้านอาหาร โรงแรม ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์ถึงการเชื่อมต่อการเดินทางและการค้าชายแดนอีกด้วย

“การเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะมาทางเครื่องบิน หรือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดนระหว่างภาคเหนือของประเทศไทยที่โยงไปในลาว เมียนมา และทะลุจีนได้ ตรงนี้ก็จะมีอานิสงส์หลายอย่าง ก็ดูว่านักท่องเที่ยวจีนจะเล็งเป้าไปที่ไหนของเมืองไทยเป็นพิเศษ อาจจะเป็นกรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งในล้านนาก็น่าสนใจ เพราะมีการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์กับจีน

ตรุษจีนนี้มีหลายเรื่องที่ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางบวก นั่นคือเมื่อมีคนจีนเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศมากขึ้น มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่นมากขึ้น ตามโครงสร้างพื้นฐาน เม็ดเงินที่อัดฉีดร่วมมือกันไปก็จะทำให้ตรุษจีนนี้เป็นปีแห่งความหวังŽ” รศ.ดร.ดุลยภาควิเคราะห์ ก่อนชวนย้อนอดีตด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวใน 5 เชียง คือ 1.เชียงราย 2.เชียงใหม่ ในไทย 3.เชียงทอง หลวงพระบาง ใน สปป.ลาว 4.เชียงตุง ในรัฐฉานของพม่า และ 5.เชียงรุ่ง ในสิบสองปันนาของจีน ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ โลจิสติกส์ ผู้คน และวัฒนธรรม

จีน-ไทยแนบชิดภูมิศาสตร์สหรัฐสู้ไม่ได้ สัมพันธ์ชิดใกล้ทุกระดับ

ถามถึงกระแสที่คนจีนนิยมเข้ามาเที่ยวไทย ไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ผลไม้ถูกปาก หรือวัฒนธรรมที่คุ้นเคย ทว่า นักวิชาการท่านนี้มองลึกถึงนโยบายด้านการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ

”ภาพลักษณ์ของไทยถูกนำเสนอ หรือเป็นที่รับรู้ได้อย่างดีในสายตาคนจีน โดยอาจมองว่าไทยเป็นประเทศที่สะดวกสบาย ไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่ในเรื่องของกรอบปฏิบัติต่างๆ อาหารการกินอร่อย และไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศจีน จะมาทางบก หรือมาทางเครื่องบินก็ได้ ทุกอย่างสะดวกหมด

ที่สำคัญคือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีน ในช่วงร่วมสมัยนี้อาจจะเห็นว่าไทยพยายามสานสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับจีน ไทยเป็นประเทศที่มีมิตรไมตรีที่ดีต่อชาวจีน ยังไม่นับความสัมพันธ์ของทางราชวงศ์ หรือความสัมพันธ์ในกลุ่มชนชั้นนำ หรือชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาประสบความสำเร็จทางธุรกิจในเมืองไทย และเป็นกลุ่มอำนาจที่สำคัญในประเทศ

ประเมินหลายๆ มิติก็มีแต่การส่งเสริมความร่วมมือที่กระชับแน่นขึ้น เป็นเชิงบวกแบบชื่นมื่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนเชื่อมโยงกันหลายระดับ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสิ่งที่เรียกว่าความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญ และสหรัฐอเมริกายังเป็นรองจีน ยังสู้เรื่องนี้จีนไม่ได้

การแผ่ความสัมพันธ์ของจีนที่มีต่อประเทศอื่นๆ จีนสามารถตั้งด่านการค้าชายแดนได้กับประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) หรือประเทศทางบกที่อยู่ติดกับจีน จึงทำได้เต็มที่ มีด่านการค้ามากมาย มีรถไฟและด่านการค้าระหว่างลาวกับจีน จีนกับเมียนมา และจีนทะลุมาภาคเหนือของไทย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นความได้เปรียบที่จีนเล่นในเรื่องความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์กับภูมิศาสตร์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับจีนได้Ž” รศ.ดร.ดุลยภาคอธิบาย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลไทยที่ ไม่แบ่งแยกž พร้อมดูแลนักท่องเที่ยวจีนและคนไทยตามมาตรฐานสากล โดย รศ.ดร.ดุลยภาคชี้ว่า น่าจะส่งผลดีต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซียที่รัฐบาล อันวาร์ อิบราฮิม ออกมาส่งสัญญาณชัดว่าชีวิตคนมาเลเซียสำคัญที่สุด แสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับคนในชาติมากกว่าการรับชาวจีนอย่างเต็มที่ ซึ่งสวนทางกับประเทศไทย

จีนž ผู้เล่นหลัก เอเปคž
สี จิ้นผิงž โฟกัสเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนไฮไลต์ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเอเปค ซึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาควิเคราะห์ในภาพรวมว่า จีนถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ นับเป็นผู้เล่นหลัก การมาเยือนไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้

“จีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำคัญ เขตบริหารพิเศษ อย่างเช่น ฮ่องกง เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ สำหรับเอเปค มีจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ไซบีเรียที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีอินเดีย เพราะฉะนั้น ในมุมนี้จะมีจีนเป็นผู้เล่นหลักอยู่แล้ว แต่ก็มีมหาอำนาจอื่นๆ ประกอบกันบ้าง เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น

สิ่งที่น่าจับตามองคือกิจกรรมทางการทูตของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเวทีแบบนี้ท่านไม่พลาด โดยเวทีที่ไทยเป็นเจ้าภาพท่านก็มาด้วยตนเอง แต่ผู้นำในบางประเทศไม่ได้มา เพราะฉะนั้น ท่านสี จิ้นผิง เก็บแต้มคะแนนทางการทูตได้ ส่วนเวทีอื่นที่จัดคู่ขนานกันไป ทั้งอินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ในระยะไล่เลี่ยกัน ท่านสี จิ้นผิง ก็ไปหมด สะท้อนว่าผู้นำจีนให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านไม่พลาดแมตช์ต่างๆ ผิดกับผู้นำมหาอำนาจอื่นที่มาประชุมวงหนึ่ง แต่อีกวงหนึ่งไม่มา ใช้การส่งตัวแทนมา ตรงนี้ก็น่ามองในแง่จุดยืนในการเข้าร่วมประชุม

ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้จัดก็น่าจะมีความภาคภูมิใจ เพราะท่านสี จิ้นผิง เป็นผู้นำของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ในระดับโลก เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งแบบทวิภาคี หรือตอกย้ำความโดดเด่นของอิทธิพลจีน ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิกโดยรวม ตรงนี้คิดว่าน่าจะสำคัญŽ” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

อี้ไต้ อี้ลู่ž พิมพ์เขียวยักษ์ขีดอนาคตชาติ
แผนภูมิรัฐ-เศรษฐศาสตร์ยิ่งใหญ่

นักวิชาการท่านนี้ยังมองยุทธศาสตร์ของผู้นำว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแผนภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก คือ อี้ไต้ อี้ลู่ž หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนไปควบรวมกับประเทศกำลังพัฒนา และดินแดนที่อยู่รายรอบทั้งที่ติดทะเลและไม่ติดทะเล จนทำให้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนแผ่ขยายในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา รวมถึงมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย

”นี่คือแผนพิมพ์เขียวที่ใหญ่โตมากในการกำหนดอนาคตชาติจีนในการพัฒนาเป็นมหาอำนาจ และสร้างความเจริญร่วมกับชาติอื่นๆ แถบจะย่อยออกมาเป็นระเบียงบกทางเศรษฐกิจ 6 แห่ง โดยมี 2 แถบที่มาตกทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน และลงไปสิงคโปร์ ตรงนี้ครอบคลุมประเทศไทย ครอบคลุมรถไฟจีน-ลาว และท่าเรือสำคัญของจีน-กัมพูชา ส่วนอีกประเทศหนึ่ง คือเมียนมา ก็อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจของจีนอีกวงหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมจีน เมียนมา บังกลาเทศ และอินเดีย

สำหรับปรากฏการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคข้างเคียง ถูกแปลงรูปเปลี่ยนสัณฐานในทางภูมิศาสตร์มากมายจากพลังทุนและพลังโลจิสติกส์ของจีนที่มาจากหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อีกทั้งจีนก็ให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้ จีนมองความมั่นคงในไต้หวันว่าเป็นส่วนที่คาบเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ปะติดปะต่อเชื่อมโยงกัน

จีนวางกำลังรบ วางเรือรบในทะเลจีนใต้ ไปถึงท่าเรือจีนในแอฟริกา รวมถึงหมู่เกาะโซโลมอนในแปซิฟิกใต้ ซึ่งท้าทายกับวงของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือ Aukus (ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดของทั้ง 3 ประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งเน้นไปที่ขีดความสามารถทางการทหาร) เพราะฉะนั้น โลกยุทธศาสตร์ทางทะเล โลกการค้าทางบกทางทะเลจีน อยู่ในแถบประเทศไทยและละแวกข้างเคียงทั้งสิ้น”Ž รศ.ดร.ดุลยภาควิเคราะห์

การทูตทางชาติพันธุ์วรรณนาž มิติที่น่าส่งเสริม

ย้อนกลับมาที่การส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-ไทยในปีนี้และต่อไปข้างหน้า รศ.ดร.ดุลยภาคมองว่า ต้องโฟกัสไปที่เรื่องท่องเที่ยว แต่อาจไม่ใช่แค่เมืองท่องเที่ยวหลักๆ ที่ได้รับความนิยมอีกต่อไป อาจจะขยายไปยังเมืองรอง หรือพื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งน่าจะรับนักท่องเที่ยวได้มาก

“ต้องเช็กว่ามีจังหวัดไหนมีศักยภาพ อย่างเช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ฝั่งอันดามัน หรืออ่าวไทย ตรงนี้ก็น่าจะช่วยได้ อีกเรื่องหนึ่งคือการเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีนในระดับเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ไปเชื่อมกับเชียงรุ่ง ในสิบสองปันนาได้ เราใช้การทูตวัฒนธรรม การทูตทางเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ซึ่งใช้ภาษาไท-กะได สื่อสารกันพอรู้เรื่องในบางคำ บางประโยค นับเป็นเครือญาติเหมือนกับคนไทยในภาคเหนือ หรือโซนอื่นๆ เรามีวัฒนธรรมและความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ นี่คือ
การทูตทางชาติพันธุ์วรรณนา ตรงนี้ก็เป็นมิติที่น่าจะส่งเสริมได้Ž รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว ก่อนไปต่อยังประเด็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และการทหารระหว่างจีน-ไทยที่ไม่ห่างเหิน

ในการทหาร ในภาพรวมเราค่อนข้างแนบแน่น มีความร่วมมือกัน เช่น เรื่องเรือดำน้ำ อาวุธยุทโธปกรณ์ อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่า ความสัมพันธ์ในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ การซ้อมรบ จะมีลักษณะอย่างไร แต่ผมก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สหรัฐอเมริกาคงจ้องมองดูความสัมพันธ์นี้อยู่ด้วยเช่นกันŽ”

นับเป็นมุมมองน่าคิดในห้วงศักราชใหม่ที่ใบไม้กำลังผลิบาน เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของโลก รวมทั้งการไปมาหาสู่ระหว่างชาวจีนและคนไทย พี่น้องที่ไม่เคยห่างไกลในความสัมพันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image