ไทย ‘โปร่งใส’ รั้งอันดับ 101 โลก จาก 180 ปท. ได้คะแนนเพิ่ม แก้ปมรับ-ให้สินบน ‘ดีขึ้น’

เลขาฯ ป.ป.ช. แถลง ค่า CPI ไทยปี’65 ได้ 36 คะแนน รั้งอันดับ 101 โลก บทวิเคราะห์สะท้อน แก้ปม “รับ-ให้สินบน” ดีขึ้น-TI เสนอนานาประเทศ ควรให้ความสำคัญตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 โดยไทยได้ 36 คะแนน อยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ว่า ผลคะแนน CPI 2022 ของไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2021 โดยในจำนวน 9 แหล่งข้อมูลได้คะแนนเพิ่ม 2 แหล่ง คงที่ 5 แหล่ง และลดลงไป 2 แหล่ง

โดยค่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นคือ IMD WORLD การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด 43 คะแนน จากปีที่แล้วได้ 39 คะแนน แสดงว่าปัญหาการติดสินบนและการทุจริตได้ดีขึ้น อาจมีข่าวเรียกรับเงินสินบน แต่ภาพรวมของนักธุรกิจ และนักลงทุนมองว่า เรามีระบบที่มีการป้องกันและเอาจริงเอาจังกับการรับเงินสินบนเพิ่มมากขึ้น และ WEF ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 45 คะแนน จากปีที่แล้วได้ 42 คะแนน ชี้ให้เห็นว่า เกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ ลดน้อยลงไป ไทยมีระบบป้องกัน หรือนำระบบต่างๆ มาใช้ป้องกันการเรียกรับสินบน

ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนที่ตกลงจากปีที่แล้ว มาจาก PERC ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 36 คะแนน และ WJP เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 34 คะแนน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 35 คะแนน

Advertisement

นายนิวัติไชยกล่าวว่า จากค่าคะแนนต่างๆ เข้าสู่บทวิเคราะห์ในมุมมองของผู้ประเมิน โดย TI มีข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ว่า นานาประเทศควรให้ความสำคัญการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางสังคม ให้คนเข้าถึงข้อมูล การจำกัดการใช้อิทธิพลทางการเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยประเทศที่มีคะแนน CPI สูง ควรให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เรื่องสินบนข้ามชาติ และติดตามทรัพย์สินคืน

นายนิวัติไชยกล่าวอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช.เห็นว่า บทบาทภารกิจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ส่งผลกระทบต่อคะแนน CPI โดยตรง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาตรวจสอบทรัพย์สิน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านเครือข่ายต่างๆ การจัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ดังนั้นในภาพรวมดีขึ้น แม้จะมีการเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1 คะแนน

Advertisement

นายนิวัติไชยกล่าวถึงผลคะแนน CPI ในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า สิงคโปร์แม้ได้อันดับ 1 ในอาเซียน แต่คะแนนลดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว 2 คะแนน ส่วนมาเลเซียอันดับที่ 2 คะแนนก็ลดเช่นกัน แต่มองภาพเวียดนาม ปี 2564 ได้ 39 คะแนน ขณะที่ปี 2565 ได้ 42 คะแนน ถือว่าสูงมาก ส่วนไทยได้เพิ่ม 1 คะแนน เป็น 36 คะแนน

นายนิวัติไชยกล่าวว่า บทวิเคราะห์ที่ส่งผลถึงคะแนน CPI สำคัญคือ รัฐแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการติดสินบน และลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง มีการพัฒนาระบบอนุมัติ ความโปร่งใส ลดขั้นตอนปฏิบัติงาน ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ และการประเมิน ITA มีส่วนส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีมาใช้อนุมัติตามนโยบาย Digital Government อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนจากหน่วยงานรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลลงระบบดิจิทัล ทำให้ประชาชนตื่นตัว จับตาการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จึงเกิดการมีส่วนร่วมตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลต่อมุมมองผู้ตอบแบบสอบถาม ทำให้ไทยแก้ปัญหาสินบนได้ดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image