‘ก้าวไกล’ บีบบิ๊กตู่ ยุบสภาหลังซักฟอก โวยอย่าใช้ปมแบ่งเขต ยื้อเวลา ให้พรรคตัวเองพร้อม

‘ณัฐวุฒิ’ ชง ยุบสภาฯ หลังศึกซักฟอก ซัด ‘กกต.’ 4 ปีไม่ทำงาน หยุดอ้างแบ่งเขตไม่เสร็จ แฉ ผู้แทนกกต. แจงกมธ.ฯ เตรียมกม.ลูกมานานแล้ว

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ระบุถึงสาเหตุสภาฯล่มว่า มีการลากกฎหมายไปเล่นเกมทางการเมือง ว่า เป็นอีกครั้งที่นายกฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร และอดีตแคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่ง ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แสดงความไม่เข้าใจและไม่รับผิดชอบต่อกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายเกือบทุกฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ มาจากรัฐบาล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลต้องผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย แต่ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถรักษาสถานะองค์ประชุมได้ เป็นการไม่สะท้อนต่อความรับผิดชอบต่อสภาฯ และประชาชน

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า พรรครวมฝ่ายค้านเองให้ความร่วมมือมาโดยตลอด และพยายามแสดงให้เห็นว่าสภาฯ เป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และพล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยตอบกระทู้ถามในสภาฯ แม้แต่ครั้งเดียว สิ่งที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งคือแทนที่ในช่วงสุดท้ายของสภาฯ สมาชิกจะช่วยกันทำงาน แต่กับกลายเป็นว่าผู้นำรัฐบาล ใช้ช่องทางนี้มาแข่งขันกันเอง เพื่อสร้างคะแนนนิยม ไม่ว่าจะ 2 ป. หรือ 3 ป. โดยหมิ่นเหม่ต่อการใช้อำนาจรัฐในการลงพื้นที่เพื่อหาเสียงให้กับพรรคพวกของตัวเองมากกว่าแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุด สิ่งที่สะท้อนออกมาไม่ได้ออกมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่มาจากรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ของพรรคฝ่ายรัฐบาลเอง ที่บอกว่าให้ยุบสภาฯ ดีกว่า แม้ตนจะยังไม่อยากให้ยุบสภาฯ เนื่องด้วยติดเงื่อนไขของกฎหมายที่ยังพิจารณากันอยู่ แต่เมื่อสภาฯ ไปต่อไม่ได้ นายกฯ จึงควรยุบสภาฯ และคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายไปมากกว่า

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ความจริงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลาเตรียมตัว ทั้งการแบ่งเขต 400 เขต และจำนวนประชากรที่ต้องรอนับในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ก็รู้มาตั้งนานแล้ว สำหรับกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผู้แทนกกต. ที่มาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการฯ ช่วงที่กำลังพิจารณากฎหมายลูกได้บอกว่ากฎหมายรองต่างๆ มีทีมงานที่เตรียมการไว้ หากเกิดการยุบสภาฯ ขึ้นก่อนหน้านี้ 1 ปี จะทำอย่างไร ตอนนี้คือการยุบสภาฯ ในนาทีสุดท้ายแล้ว ยุบหรือไม่ยุบก็ไม่ต่างกัน ตนเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่กกต. มีศักยภาพสามารถผลักดันระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาได้รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอ 30 วัน หรือ 45 วันตามที่บอก ตนไม่เห็นว่ามีเหตุจำเป็นที่จะไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ แต่อย่างไรก็ตามอย่านำเงื่อนเวลานี้มาเป็นตัวตั้งหนีการตรวจสอบของฝ่ายค้าน หรือลากยาวรอให้พรรคของตัวเองมีความพร้อมก่อน ตนจึงเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภาฯ คือหลังการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image