ธำรงศักดิ์ ย้อนวิจัยเชิงลึก ปม ‘กปปส.’ ชี้คนกรุงเทพฯ 61.83 ไม่เห็นด้วย ฝ่ายหนุน-โนคอมเมนต์สูสี

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยผลวิจัยส่วนบุคคลโดยเก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน

ข้อคำถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ.2556-พฤษภาคม พ.ศ.2557”

​ผลการวิจัย สรุปดังนี้

​1.คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. จำนวน 742 คน คิดเป็นร้อยละ 61.83 คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. 239 คน คิดเป็นร้อยละ 19.92 ส่วนไม่แสดงความเห็น 219 คน คิดเป็นร้อยละ 18.25

Advertisement

​2. คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. คือคนที่จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557

​3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. นั้นมีคำอธิบายว่า เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ทหารทำรัฐประหาร เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐทหารศักดินา เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่วางแผนทำลายประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ทำลายเศรษฐกิจของชาติ เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อรักษาระบอบเก่า

​คนกรุงเทพฯ ที่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. นั้นมีคำอธิบายว่า เป็นการกู้ชาติ เป็นการกำจัดระบอบทักษิณ เป็นการกำจัดตระกูลกินเมือง เป็นการต่อต้านประชาธิปไตยของทุนสามานย์ เป็นการต่อต้านเผด็จการรัฐสภา เป็นการชุมนุมเพื่อทำลายพวกธนกิจการเมือง เป็นการสร้างพลังประชาชนที่แข็งแกร่ง เป็นการต่อต้านนิรโทษกรรมสุดซอย เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อการสร้างระบอบการเมืองใหม่ที่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
​ข้อมูลพื้นฐาน

Advertisement

​งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

​เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483 คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)
​อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

​อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

​รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)
​ทีมผู้ช่วยวิจัย : นายสหรัฐ เวียงอินทร์ นายชนวีย์ กฤตเมธาวี นายศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image