‘ก้าวไกล’ จี้ ‘กกต.’ แบ่งเขตเป็นธรรม อย่าลักลั่นสร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ซ้ำรอยปี 62

‘ก้าวไกล’ จี้ ‘กกต.’ แบ่งเขตเป็นธรรม อย่าลักลั่นสร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบ โชว์สปิริตพิสูจน์ผลงาน อย่าให้ซ้ำรอยเหมือนปี’62

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. จำนวน 400 เขต ว่า เท่าที่ดูเขตเลือกตั้งต่างๆ แต่ละแบบยังมีข้อโต้แย้งอยู่มากของแต่ละพื้นที่ อย่าลืมว่าการแบ่งเขตมีส่วนสำคัญเพราะมีความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองแต่พรรคด้วย ถ้าจะกำหนดรูปแบบให้เป็นธรรมควรต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งมีอยู่แต่ก็มีเวลาจำกัดและกระชั้นชิด แต่เมื่อรับฟังแล้วต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างพื้นที่กับประชากรหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ทางกกต. ต้องทำให้ประชาชนเห็นและเชื่อว่า ไม่ได้เอื้อเพื่อช่วยพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง โดยสิ่งที่จะพิสูจน์ว่ากกต. ทำหน้าที่เป็นกลางหรือไม่ การประชาพิจารณ์ต้องเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง เพื่อให้พรรคการเมืองที่มีส่วนได้เสียไปร่วมรับฟังแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ เพื่อตัดสินรูปแบบที่เหมาะสมโดยไม่เอื้อพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่า กกต. จะสามารถเป็นตัวกลางจัดการเลือกตั้งได้สุจริตเที่ยงธรรม

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 สิ่งที่ประชาชนเกิดข้อสงสัยและเกิดความไม่สบายใจการทำหน้าที่ของกกต. คือ 1.บัตรเขย่ง 2.คะแนนรายหน่วยไม่เปิดเผย 3.คะแนนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเข้ามาล่าช้า และ 4. การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อพิสดาร ทำให้พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขณะนั้นเสียที่นั่งส.ส. 7-8 เสียงให้กับพรรคเล็ก สิ่งเหล่านี้เป็นรอยด่างของการจัดการเลือกตั้ง จึงหวังว่ากกต.จะพิสูจน์และแก้ตัว โดยภารกิจแรกคือ การแบ่งเขตเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ถ้าทำได้จะเป็นนิมิตรหมายที่ดี ทำให้ความเชื่อมั่นกกต. กลับคืนมา แต่ถ้าทำไม่ได้จะเกิดคำถามเดิมเหมือนกับการเลือกตั้งปี 2562

เมื่อถามถึงรูปแบบการแบ่งเขตของกทม. นายธีรัจชัย กล่าวว่า ได้พิจารณารูปแบบการแบ่งเขตทั้ง 5 รูปแบบที่กกต.เผยแพร่แล้ว มี 2 รูปแบบที่มีความใกล้เคียงกัน การออกแบบใดก็มีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งปัจจุบันพรรคก้าวไกล ต่างจากปี 2562 ครั้งนั้น ค่อนข้างฉุกละหุกกับการคัดสรรผู้สมัครและการทำพื้นที่ยังทำได้น้อย แต่ปี 2566 กทม. ซึ่งมี 33 เขต บางเขตเป็นส.ส.และว่าที่ผู้สมัครคนเดิม จึงมีความพร้อมมากกว่าปี 2562 เชื่อว่าแม้จะแบ่งอย่างไร กกต.ต้องหาจุดที่เป็นธรรม ไม่อยากให้ลักลั่นจนทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งเกิดความได้เปรียบหรือทำให้พรรคใดเกิดความเสียเปรียบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image