อ.ธรรมศาสตร์ เขียนถึงนักการศึกษา อย่าปล่อยคนรุ่นใหม่สู้ลำพัง

อ.ธรรมศาสตร์ เขียนถึงนักการศึกษา อย่าปล่อยคนรุ่นใหม่สู้ลำพัง

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊กถึงเพื่อนนักการศึกษา มีเนื้อหากล่าวถึงบทบาทของครู สังคมที่กำลังมีปัญหา อนาคตของชาติที่ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ ความดังนี้

ถึงเพื่อนนักการศึกษาทุกคนครับ

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ในฐานะนักการศึกษาคนหนึ่ง คนที่ยังเชื่อว่าอนาคตของประเทศชาติขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่จะต้องช่วยกอบกู้สังคมจากวิกฤตปัญหามากมายที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้

ในบทบาทของครู ผมมักจะบอกนักศึกษาเสมอว่าขอให้เรามีความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา อย่าปฏิเสธมันด้วยการทำเป็นมองไม่เห็น เพราะการเลือกเผชิญหน้า ถึงแม้จะทำให้เราอึดอัด หรือเจ็บปวด แต่มันจะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตได้ในที่สุด ถึงแม้สุดท้ายเราอาจจะทำไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเราจะสามารถมองตาตัวเองในกระจกได้ว่าเราไม่ได้เลือกหนีปัญหาเพราะความขลาดกลัว

วันนี้สังคมไทยมีปัญหาจริงๆ ครับ และเราต้องอาศัยความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมัน ประวัติศาสตร์สอนเราว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดจากการที่มีคนจำนวนไม่มากเริ่มต้นตั้งคำถาม ท้าทาย และไม่สยบยอมต่อความคิดความเชื่อที่ครอบงำผู้คน ณ ช่วงเวลานั้น พวกเขายอมที่จะถูกเกลียดชัง เข้าใจผิด ใส่ร้ายป้ายสี หรือแม้กระทั่งทำลายล้างเพื่อให้เสียงของตัวเองดังไปที่ในต่างๆ ปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ตื่นขึ้น

ADVERTISMENT

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นและได้ยินเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อสารถึงปัญหาที่สะสมทับถมในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน พวกเขาพยายามเรียกร้องให้สังคมหันกลับมาตระหนักถึงปัญหาความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่รอบตัว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับพวกเขา แต่อย่างน้อยเราต้องไม่ลืมว่าอนาคตของประเทศไทยเป็นของพวกเขาด้วยเช่นกัน การเฉยเมย ไม่ยอมรับฟัง ปฏิเสธ ข่มขู่ หรือรุนแรงจนถึงขั้นลงโทษเพียงเพราะพวกเขากำลังตั้งคำถามหรือคิดต่างจากเรา นอกจากจะไม่ได้ช่วยสร้างความสงบสันติสุขดังที่หลายคนเชื่อและชอบอ้างแล้ว กลับยิ่งทำให้ปัญหาสะสมจนกลายเป็นชนวนที่พร้อมระเบิดสังคมให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในเร็ววัน

ถึงแม้ผมจะทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ ตะวัน และ แบม เลือก แต่ผมเคารพในการตัดสินใจของทั้งคู่ รวมทั้งของเยาวชนอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ที่ยุติธรรมกว่า ที่เท่าเทียมกว่าให้กับคนรุ่นของพวกเขา และรุ่นต่อๆ ไป พวกเขาเอาชีวิต เอาอิสรภาพ เข้าแลกกับสังคมที่ยุติธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนทุกคน ไม่ใช่แค่ของพวกเขาหรือเพื่อนพ้องของพวกเขาเท่านั้น

หลายคนอาจสงสัยว่าชีวิตที่พวกเขากำลังเอาเข้าแลกนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่าเสียงของพวกเขาจะถูก “ได้ยิน” จากผู้มีอำนาจในประเทศนี้บ้างหรือไม่ ผมเองยังไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้ว่านี่คือทางเลือกที่พวกเขาสามารถทำได้ในสภาวะที่จิตสำนึกของผู้คนในบ้านเมืองส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอัมพาตเช่นที่เป็นอยู่นี้

ในฐานะนักการศึกษา ผมเชื่อมั่นว่าผู้คนเปลี่ยนความคิดได้ สังคมเองก็เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ถึงแม้จังหวะเวลาของการเปลี่ยนแปลงอาจจะคาดเดาได้ยาก หรือไม่ได้เป็นอย่างที่ใจเราต้องการเสมอไป แต่เราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ครับ เราเลือกที่จะมองเห็นความทุกข์ยากของผู้คน เลือกที่จะได้ยินเสียงคร่ำครวญของผู้ที่ถูกลงโทษเพียงเพราะตั้งคำถามกับความไม่ชอบธรรมในสังคม เลือกที่จะส่งเสียงเล็กๆ ที่ดูไร้อำนาจของเราขยายออกไปให้ผู้คนที่ชินชา หรือเหนื่อยหน่ายกับความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้รับฟัง อย่างน้อยก็ขอให้เราไม่นิ่งดูดาย รอคอยความล่มสลายของสังคมที่คนรุ่นใหม่หมดสิ้นความหวังและเลิกล้มความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกต่อไป

ในฐานะนักการศึกษา เราสามารถเริ่มต้นบทสนทนากับคนใกล้ตัว กับลูกศิษย์ของเรา กับเพื่อนร่วมงาน หรือกับคนแปลกหน้า ชวนกันคิด ชวนกันตั้งคำถาม ชวนกันจินตนาการถึงสังคมที่ผู้คนมีความเท่าเทียมกัน สังคมที่ความยุติธรรมคือความเป็นปกติ สังคมที่เราสามารถทำตามความฝันได้โดยไม่ต้องร้องขอความเมตตาจากคนมีอำนาจ สังคมที่เราสามารถมีอิสรภาพในชีวิตโดยไม่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของตัวเอง

อย่าปล่อยให้คนรุ่นใหม่สู้ตามลำพังเลยครับ ช่วยกันสู้ร่วมกับพวกเขา ในวิถีที่เราพอทำได้ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา และเพื่อให้ตัวเราสามารถบอกกับลูกศิษย์ในอนาคตว่า ครูเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมนี้เช่นกัน

ขอบคุณที่รับฟังครับ

อดิศร จันทรสุข
6 กุมภาพันธ์ 2566
#ตะวันแบม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง