สภาล่มอีก! หลังฝ่ายค้าน รุมอัดมาค่อนวัน กม.จริยธรรมสื่อฯ สุดท้ายรบ.-ส.ว.ไม่อยู่โหวต

เสียเวลาพูด สภาล่มอยู่ดี หลัง”ฝ่ายค้าน”รุมฉะ ‘ร่าง กม.จริยธรรมสื่อฯ’ อัดเป็นกม.ย้อนยุค – อำนาจนิยม ยื่นดาบให้รัฐปิดปากสื่อตรงข้าม – ไม่เชียร์ตัวเอง หวั่น ตีความ ‘จริยธรรม’ ไร้มาตรฐานวัด ด้าน ‘เท่าพิภพ’ สะท้อนชีวิต ‘นักข่าว’ ปากกัดตีนถีบ ทำงาน 5 ปี เงินขึ้น 500 บาท ลั่น ปากท้องสื่อดี จริยธรรมถึงเกิด

เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ในวาระรับหลักการ โดยมีนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มาชี้แจง

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ คือ ให้มีสภาผู้ประกอบการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนระดับชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งยังรับรองให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีเสรีภาพเสนอข่าวหรือแสดงความเห็นแต่ต้องไม่ขัดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น ทั้งนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่มีผลเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อฯ โดยไม่ถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิต้องคำนึงถึงภารกิจหน่วยงานที่สังกัด เป็นต้น

โดยส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างถี่ถ้วน และพบว่าตลอด 16 วันที่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย ก็มีแค่ 1 คนที่มาแสดงความเห็น นอกจากนี้ ยังมองว่ากฎหมายฉบับนี้วางโครงสร้างและกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการทำหน้าที่ และจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในการนำเสนอข้อมูลตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแสดงความกังวลต่อการตีความประเด็นจริยธรรมสื่อ เพราะไม่มีมาตรฐานในการวัดที่ชัดเจน

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายย้อนยุค ยืนอยู่บนหลักคิดของอำนาจนิยม เพื่อใช้ควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย และอยากให้รัฐบาลถอนร่างออกไปก่อน แล้วค่อยเสนอกลับมาใหม่

Advertisement

ด้าน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า เป็นเรื่องตกยุคล้าสมัย และเป็นภาพลวงตา สื่อในฐานะฐานันดรที่ 4 ของสังคม มีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผิดฝาผิดตัว เพราะมีเรื่องจริยธรรมที่วัดกันยาก ตอนนี้มีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน 30 กว่าฉบับ ทำให้สื่อถูกดำเนินคดีไม่หวาดไม่ไหว กฎหมายนี้ออกมาควบคุมสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐโดยเฉพาะ ตามหลักนานาชาติวิเคราะห์ถึงการกำกับดูแลสื่อ ไว้ 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 การตั้งองค์กรดูแลตัวเอง ประเภทที่ 2 การกำกับดูแลร่วมกับรัฐ และ กฎหมายฉบับนี้อยู่ประเภทที่ 3 ที่ถูกควบคุมโดยรัฐ เพราะมีการบังคับ และทำเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ เหมือนกับประเทศ ลาว เวียดนาม และจีน แล้วเราจะล้าหลังถึงขนาดนี้หรือ เหตุการณ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่นายกฯ ไปให้การสนับสนุนพูดออกอากาศบอกว่าช่องทีวีช่องหนึ่งนั้นดี สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเลือกข้างและแตกแยกหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้กฎหมายนี้ออกไปจะทำให้มีการดำเนินการกับสื่อที่อยู่ตรงข้ามหรือไม่เชียร์ท่าน ทั้งที่ ควรจะให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพ และนำเสนอข้อมูลหลายด้าน การเมืองตอนนี้เรารู้อยู่แล้วว่า จะมีเลือกตั้ง ดังนั้นท่านอย่ามาเอาเปรียบให้สื่อมาเชียร์ท่านอย่างเดียว

ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า เมื่อสักครู่ตนเดินลงไปหาพี่น้องสื่อมวลชนรัฐสภา ตนจึงจะขอสะท้อนเสียงจากใต้ถุนสภาฯ จากการพูดคุย 30 นาที ได้ข้อมูลมากกว่าที่กฤษฎีกาไปฟังมา 1 คน จริยธรรมสามารถตีความได้หลากหลาย เป็นเรื่องแปลกที่คนคาดหวังจากสื่อมาก แต่ไม่มีใครทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้สื่อเลย ทุกคนรู้หรือไม่ว่า หลายครั้งที่ไปทำข่าว โดยเฉพาะข่าวการชุมนุม สื่อไม่กล้าห้อยป้ายว่าอยู่สำนักไหน แม้ว่าเขาอาจจะสนับสนุนการชุมนุม แต่ต้นสังกัดของเขาอยากได้อีกแบบหนึ่ง จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ เพราะสื่อมีหมด ทั้งสื่อซ้าย สื่อขวา สื่อกลาง สื่อเสี้ยม สื่อตบทรัพย์ ซึ่งคิดว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีน่าจะเข้าใจในคำนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออย่างไรก็ไม่ควรควบคุมเขา เพราะสังคมประชาธิปไตยมีฟรีสปีช เรื่องที่สำคัญกว่านี้คือเราต้องมองปัญหาให้ชัดเจน

Advertisement

“งานนักข่าวลำบากมาก เงินเดือนน้อย โอทีไม่มี สวัสดิการให้ไปสมัครประกันสังคมเอง ไม่มีวันทำงานที่ชัดเจน จนทำให้เกิดข่าวเศร้าเหมือนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บางที่ทำงาน 5 ปี เงินเดือนขึ้นมา 500 บาท ถูกไม่ให้ตั้งสหภาพ เพื่อไม่ให้เรียกร้อง เมื่อปากท้องไม่ดี จริยธรรมไม่เกิด การจะทำให้นักข่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปากท้องและสวัสดิการต้องสมเหตุสมผล เมื่อสื่อดีขึ้น ประเทศไทยจะมีอนาคต ทุกคนจะได้รับรู้ความเห็นที่แท้จริง และถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนนำไปคิดต่อว่า จะตัดสินเหตุการณ์นั้นอย่างไร จนอาจจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ดังนั้น เมื่อร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีเรื่องที่ผมพูดมา ผมและพรรค ก.ก. จึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้” นายเท่าพิภพ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแล้ว นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซงสื่อ ซึ่งในอดีตตนเคยเป็นสื่อมาก่อนเข้าใจวิถีชีวิตสื่อเป็นอย่างไร ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่มีการเข้าแทรกแซงสื่อ แต่จะเป็นการส่งเสริมจริยรรมในการทำงานของสื่อมวลชน

จากนั้น เวลา 17.25 น.ที่ประชุมลงมติ แต่ขณะที่กดออดเรียกสมาชิกประมาณ 5 นาที นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสถา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งว่า ขณะนี้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 667 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 334 คน ขอให้สมาชิกแสดงตน ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็ปิดประชุม

ทำให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย(พท.)ในฐานะวิปฝ่ายค้าน อภิปรายว่า นายพรเพชร กดออดเรียกก่อนที่รัฐมนตรีจะตอบ ใช้เวลาประมาณ20 กว่านาที ขณะนี้ดูด้วยสายตายังขาดอยู่เยอะ ตัวเลขหน้าในจอยังขาดอยู่ 180 คน ดังนั้น คงจะไปต่อลำบาก แต่กฎหมายนี้เสนอโดยครม. พวกตนแสดงชัดเจนว่า ไม่เห็นชอบ แต่ก็ร่วมอยู่ลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านอยู่กันเต็มห้อง แต่ส.ว.อาจจะไม่ได้ให้ความเห็นชอบจึงอยู่กันบางตาซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่กฎหมายนี้ส่งมาโดยครม. แต่ท่านไม่เอากันเอง ตนไม่รู้จะทำอย่างไร และไม่อยากให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นปัจจัยในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 ก.พ.จึงอยากให้ลงมติในวันนี้ให้จบ แต่ถ้าลงมติไม่ได้ ประธานฯจะมีแนวทางออกอย่างไร และกังวลว่าการประชุมร่วมฯในวันที่ 8 ก.พ.จะไม่ราบรื่น และเมื่อร่างพ.ร.บ.สื่อฯไม่ผ่านก็ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในการเลือกตั้งก็แล้วกัน

จากนั้นนายชวน ได้แจ้งว่า ขณะนี้มีผู้เข้าประชุมที่แสดงตนจำนวน 182 คนถือว่าไม่ครบองคืประชุม เพราะองค์ประชุมต้อง 334 คน และสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.45 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือว่า การประชุมร่วมรัฐสถาล่มเป็นครั้งที่ 4

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image