เช็กขุมกำลัง ‘250 ส.ว.’ โชว์ ‘แลนด์สไลด์’ ตีกลับ

เช็กขุมกำลัง‘250 ส.ว.’ โชว์ ‘แลนด์สไลด์’ ตีกลับ

กลับมาเป็นประเด็นร้อนในทางการเมืองอีกครั้งกับบทบาทในการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน  ตามมาตรา 272 บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 ในช่วง 5 ปีแรกของการทำหน้าที่ของสภาสูง โดยเฉพาะอำนาจการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ทั้ง 500 คน โดยแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองใดจะได้รับการโหวตเลือก จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน ไม่ต่ำกว่า 375 เสียง

ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 250 คน จึงเปรียบเสมือนพรรคการเมืองหนึ่งที่มีเสียงเป็นเอกภาพ เรียกได้ว่าเป็น “แลนด์สไลด์” ของจริง เห็นได้จากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ส.ว.ทั้ง 250 คน โชว์ความเป็นเอกภาพ ด้วยการลงมติโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั่งเป็นนายกฯ อีกสมัยด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 คะแนน เอาชนะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยในจำนวน 500 เสียงที่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นของ ส.ว.ถึง 249 เสียง ขาดเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ที่ลงมติงดออกเสียง ตามมารยาทของประมุขสภาสูง

ยิ่งสัญญาณล่าสุดที่ส่งผ่าน วันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่ออกมาระบุถึงท่าทีและสัญญาณของ ส.ว.ต่อการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ภายหลังการเลือกตั้งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 โดยพุ่งเป้าไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยว่า หากพรรคเพื่อไทย (พท.) รวมเสียง ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งได้ไม่ถึง 376 เสียง ทาง ส.ว.จะไม่โหวตสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ให้เป็นนายกฯ เพราะมองเรื่องวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ และประสบการณ์ยังไม่มี พร้อมกับให้ระวัง 250 ส.ว.จะแลนด์สไลด์ตีกลับ

แม้จะมี ส.ว.บางคน บางกลุ่ม ออกมา  ระบุว่า เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของนายวันชัย ต่อการโหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ทั้งหมด

Advertisement

แต่หากเปิดสถิติการโหวตของ ส.ว. ในห้วงการทำหน้าที่เกือบ 5 ปีนั้น ในส่วนของกฎหมายสำคัญๆ ที่รัฐบาลส่งมายังสภาสูง การลงมติของ 250 ส.ว.แทบจะไม่มีใครแตกแถว อาทิ ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ส.ว.ลงมติเห็นชอบ 242 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2

พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท) ส.ว.เห็นชอบ 206 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2565 ส.ว.ก็เห็นชอบ 200 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2564 ส.ว. เห็นชอบ 218 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 5 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ส.ว.เห็นชอบ 215 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

Advertisement

ชัดเจนว่าเมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ในทางการเมืองที่จะต้องอาศัยเสียง ส.ว.ชี้ขาด ความเป็นเอกภาพของ ส.ว. ย่อมไม่ทำให้ผู้มีอำนาจผิดหวัง สะท้อนถึงที่มาของ ส.ว.ทั้ง 250 คน ที่รัฐธรรมนูญวางกลไก การคัดสรรและแต่งตั้ง แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ มาจากการคัดเลือกกันเอง เริ่มจากเปิดรับสมัครมาโดย 10 กลุ่มอาชีพ แล้วให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกกันเอง

จนให้ได้จำนวนเหลือ 200 คน หลังจากนั้นจึงส่งรายชื่อดังกล่าวให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นหัวหน้า คสช. รวมทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองหัวหน้า คสช. คัดเลือกรอบสุดท้ายให้ได้ ส.ว. 50 คน ประเภทที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา มีอำนาจสรรหา คัดสรรบุคคลที่เหมาะสม จำนวนทั้งสิ้น 400 คน แล้วส่งให้ คสช. คัดเลือกจากรายชื่อดังกล่าวในขั้น

ตอนสุดท้ายให้ได้ ส.ว. 194 คน ประเภทที่ 3 กำหนดให้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) 3.ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) 4.ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) 5. ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  แม้จะแบ่งการคัดเลือก ส.ว. มาจากบุคคล 3 ประเภท แต่สุดท้ายปลายทาง ยังเป็นอำนาจของ คสช. ที่จะคัดเลือกว่าจะให้ใครได้ทำหน้าที่สภาสูง ทั้ง 250 คน

โดย ส.ว.250 คน ที่ผ่านการคัดเลือก ในทางการเมืองแยกย่อยแบ่งเป็นขุมกำลังที่ล้วนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพที่ล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) กับทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” รวมทั้งอดีตข้าราชการ และผู้บริหารของภาคเอกชนที่มีสายสัมพันธ์
ระดับคอนเน็กชั่นสายตรงกับผู้นำ “คสช.” ทั้ง 250 ส.ว. จึงมีการแยกธาตุ

แบ่งกลุ่มกันตามสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ โดยมีการแบ่งคราวๆ ว่า ส.ว.สาย “บิ๊กตู่” มีประมาณ 120 คน ส่วนสายของ “บิ๊กป้อม” มีประมาณ 80-100 คน  ขณะที่ ส.ว.สายอิสระ คือ กลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 30-50 คน ที่แสดงออกผ่านการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ยินยอมให้ปิดสวิตช์ตัวเองผ่านการโหวตเลือกนายกฯ แม้จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวไม่สำเร็จ แต่พอจะเห็นสัญญาณการทำหน้าที่ของ ส.ว.กลุ่มดังกล่าวได้ ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30

ะเป็นไปตามสัญญาณที่ “วันชัย” ประกาศไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามในวันประชุมรัฐสภา ชี้วัดพลังของพรรค 250 ส.ว.ต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image