‘เครือข่ายแรงงาน’ โกยสารพัดปัญหา แถลง ‘นโยบายเลือกตั้ง’ 4 ด้านที่ ‘พรรคการเมือง’ ต้องฟัง!

‘เครือข่ายแรงงาน’ โกยทุกปัญหา ล้อมวงแถลง แนะ ‘นโยบายเลือกตั้ง 4 ด้าน’ ที่ พรรคการเมืองต้องฟัง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดเวทีเสวนา “จากเครือข่ายแรงงานฯ ถึงพรรคการเมือง: เวทีนำเสนอนโยบายเลือกตั้ง 2566” ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น หารือร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อนำข้อเสนอไปปรับใช้ในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ว่านโยบายแรงงานที่ดีควรเป็นอย่างไร

โดยมี ตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ อาทิ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม, นางศรีไพร นนทรีย์, นายเซีย จำปาทอง และพี่น้องแรงงานร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการสร้างสังคมที่อยู่ดีกินดี มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดำเนินรายการโดย วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว

สำหรับ ข้อเสนอนโยบายด้านแรงงาน ที่เสนอถึงพรรคการเมือง แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดแรงงาน หมวดสังคม หมวดรัฐธรรมนูญ และหมวดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตามรายละเอียด ดังนี้

Advertisement

1. หมวดแรงงาน

1.1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว, ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง, ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา และฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรง และการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน รวมถึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับหลักการอนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับ

1.2.ประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 723-789 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำให้กลายเป็น “อัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต” ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า (อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปี 2565)

Advertisement

1.3.ปราบปรามการค้ามนุษย์ในการจ้างแรงงานข้ามชาติ ลดขั้นตอนการ-ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากในรอบปี 2563-2565 รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติกว่า 15 มติ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ ซ้ำยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายราคาสูงให้กับแรงงานข้ามชาติในการมาทำงานด้วย

1.4. คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน มิใช่จากการแต่งตั้งดังเช่นปัจจุบัน และสำนักงานประกันสังคมต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2566 นอกจากนี้ต้องเพิ่มเงินสมทบฝ่ายรัฐบาลให้เท่ากับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตน

1.5.บังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสถานประกอบการ โดยให้นายจ้างและลูกจ้าง ส่งสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน

1.6.จัดให้มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง โดยจัดเก็บเงินจากฝ่ายนายจ้างฝ่ายเดียว หรือจัดเก็บเงินจากฝ่ายนายจ้างโดยมีเงินอุดหนุนจากรัฐสมทบเข้ากองทุน เพื่อป้องกันกรณีนายจ้างปิดกิจการหนีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง

1.7. นักศึกษาฝึกงานต้องได้เงินค่าจ้าง และได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตามมาตรฐานเดียวกันกับลูกจ้างทั่วไป

1.8. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ตีตราและจำกัดสิทธิผู้ค้าบริการทางเพศ (sex worker) ยกเลิกการรีดส่วย รวมถึงคืนสิทธิแรงงานให้ sex worker

1.9 . แรงงานแพลตฟอร์ม เช่นไรเดอร์ ต้องอยู่ภายใต้ความคุ้มครองสิทธิในฐานะลูกจ้างหรือแรงงานในระบบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้าง

2. หมวดสังคม

2.1 รัฐต้องเปลี่ยนมาก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำภาษีมาจัดรัฐสวัสดิการ

2.2.จัดรัฐสวัสดิการ “เรียนฟรี” ถึงระดับปริญญาตรีแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคน และ กยศ. สำหรับคนที่ยังมีหนี้คงค้าง เพื่อลดภาระทางการเงินและเป็นการเน้นย้ำหลักการว่า ไม่มีใครควรเป็นหนี้เพื่อเข้าถึงการศึกษา

2.3.จัดรัฐสวัสดิการ “เงินอุดหนุนเด็กเล็ก” และ “เงินบำนาญผู้สูงอายุ” โดยจ่ายแบบถ้วนหน้าทุกคน ไม่ต้องพิสูจนฺความยากจน 3,000 บาท/เดือน

2.4.เพิ่มสิทธิลาคลอดโดยมีเงินอุดหนุนเป็น 180 วันถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นต้องผูกสิทธิลาคลอดเอาไว้กับกฎหมายแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่ทุกอาชีพมีโอกาสลาคลอด และพ่อแม่สามารถแบ่งวันลากันได้ รวมถึงต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน

3. หมวดรัฐธรรมนูญ

3.1.เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2560 เป็นฉบับ “ผลพวงการทำรัฐประหาร” ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ ทุกมาตรา

3.2.เปิดโอกาสให้คนงานและประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับในเขตพื้นที่ที่อาศัยหรือทำงานในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องกลับไปเลือกตั้งตามเขตภูมิลำเนาเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างที่ย้ายถิ่นมาทำงานได้มีโอกาสเลือกตั้งมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเลือกตั้ง ไม่ต้องต้องลางานหรือขาดรายได้ นอกจากนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนงานได้สะท้อนปัญหาในสถานที่ทำงานและพื้นที่ใกล้เคียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับทราบและนำไปกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเมื่อได้รับเลือกตั้ง

3.3.ยกเลิกระบบสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากระบบแต่งตั้งและไม่ยึดโยงกับประชาชน

4. หมวดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชน

4.1. ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นด้านกลาโหม รวมถึงลดงบประมาณสำหรับสถาบันฯ

4.2. ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้ง กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง

4.3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้มีความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ลดขั้นตอนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ โดยเฉพาะศาลแรงงานซึ่งคนที่มาติดต่อส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย

4.4.ปฏิรูปตำรวจและกองทัพให้มีความโปร่งใส และกลับมารับใช้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image