กกต.เคาะค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส. ยุบสภา/ครบเทอม ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ

กกต.เคาะค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส. ยุบสภา/ครบเทอม ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารเผยแพร่ข่าวผลการพิจารณากำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยให้ความเห็นชอบรูปแบบที่พรรคการเมืองแสดงความเห็นด้วยจำนวนมากจากการหารือร่วมกันระหว่าง กกต.และพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีรายละเอียดดังนี้

1.การคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งระหว่างระยะเวลาดังนี้

การเลือกตั้งทั่วไปจากการครบอายุของสภา ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 180 วัน ก่อนวันที่ กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง

กรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป จากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณีจนถึงวันเลือกตั้ง

Advertisement

2.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนี้ กรณีการเลือกตั้งทั่วไปจากการครบอายุของสภา ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 7,000,000 บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) กรณียุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)

3.พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.กรณีครบอายุสภา ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 163,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบสามล้านบาทถ้วน) กรณียุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้จ่าย ไม่เกิน 44,000,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน) กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย

4.กรณีที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ดังนี้ เขตเลือกตั้งใดที่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน 950,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ส่วนเขตเลือกตั้งใดที่ไม่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน 630,000 บาท (หกแสนสามหมื่นบาทถ้วน)

Advertisement

ส่วนกรณีที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 126 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 950,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) สำหรับกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image