สติธร ธนานิธิโชติ : เจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2 ป. คณิตศาสตร์ประหลาด

‘ดร.สติธร’ เจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2 ป. คณิตศาสตร์ประหลาด

การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้น หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ คือวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ขณะที่หลายฝ่ายมองและมีความคาดหวังตรงกัน ว่าผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นบทใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทั้งอำนาจการเมืองและโฉมหน้าของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

“มติชน” มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ว่า ความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับประชาชน คือ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงในหลายๆ พรรค และกลไกต่างๆ ที่ยังคงคาราคาซังในรัฐธรรมนูญก็จะค่อยๆ คลายอิทธิพลลงไปพอสมควร คาดหวังได้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งถัดจากครั้งหน้า หลังปี 2567 เป็นต้นไปน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่เราจะเริ่มเห็นภาพในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าบ้านใหญ่จะกลับมามีอิทธิพลเหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยเงื่อนไขการแข่งขันในระบบแบบแบ่งเขต เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดพรรคการเมืองว่าจะเป็นพรรคใหญ่ พรรคกลาง หรือพรรคเล็ก วันนี้หลายพรรคเริ่มรู้สึกว่าความภักดีต่อตัวพรรคเริ่มลดลง เพราะในแต่ละขั้วการเมืองเริ่มมีพรรคที่หลากหลายจนทำให้เสียงกระจัดกระจาย ดังนั้น จึงกลายเป็นจุดแข็งของบ้านใหญ่ที่มีเสียงเป็นกลุ่มเป็นก้อนในมือ ทำให้มีโอกาสที่จะชนะมากกว่าคนอื่น และอีก 1 ตัวแปรที่เป็นจุดแข็งให้บ้านใหญ่ คือกฎกติกาเลือกตั้งที่การตั้งรัฐบาลต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.ด้วย ต่อให้เลือกพรรคเพื่อไทย ก็ไม่สามารถรู้ว่าจะเป็นรัฐบาลได้หรือเปล่า เพราะต้องกังวลว่าฝั่ง ส.ว.จะโหวตให้หรือไม่ สมการไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบสมัยก่อนที่พรรคอันดับ 1 ต้องได้เป็นรัฐบาล กลายเป็นว่าความรู้สึกที่เป็นสายตรงกับพรรคลดลง ประชาชนจึงพิจารณาเลือกรัฐบาลที่เขาคิดว่ามีโอกาสมาดูแลได้โดยตรง นโยบายสามารถเข้าถึงได้ และเลือกผู้แทนโดยการดูว่าใครสามารถพึ่งพาได้ มาจากพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ สามารถเชื่อมโยงผลประโยชน์จากรัฐบาลกลางมายังตัวเขาได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เราวิเคราะห์ยากว่ากระแสพรรคการเมืองจะกลบกระแสของบ้านใหญ่ได้ เพราะธรรมชาติของบ้านใหญ่คือใจถึงพึ่งได้ และยังคุมฐานสำคัญคือการเมืองระดับท้องถิ่น ดังนั้น อะไรที่เป็นผลประโยชน์หรือบริการใกล้ตัว ก็ได้จากท้องถิ่นผ่านบ้านใหญ่ จึงถูกมองว่าสามารถเป็นคนเชื่อมโยงผลประโยชน์จากรัฐบาลกลางได้มากกว่า กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนอยากได้พรรคที่เป็นรัฐบาลแน่นอน ในขณะที่บ้านใหญ่ก็อยากดีลกับพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลแน่นอน ทั้งหมดจึงสมประโยชน์กันด้วยโมเดลบ้านใหญ่ในลักษณะดังกล่าว

หากถามว่ากลุ่มที่ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นกลไกสืบทอดอำนาจเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2562 ได้หรือไม่นั้น ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ก็มีโอกาสรักษาอำนาจได้มากกว่ารักษาไม่ได้ เพียงแต่จะทำได้ยากขึ้น และผลลัพธ์อาจไม่งดงามเท่าเดิม ดังนั้น ด้วยความยากที่จะต้องต่อท่ออำนาจต่อไป อาจจะต้องมีการแบ่งปันอำนาจไปยังฝ่ายตรงข้ามบางส่วน ไม่ใช่มีแต่กลุ่มก้อนอำนาจที่ต่อข้อมาจาก คสช.ทั้งหมด ซึ่งจะแบ่งให้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เขาได้จากการเลือกตั้ง ดังนั้น การแยกกันเดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอยู่ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ เพราะเมื่อประมวลจากสถานการณ์ต่างๆ นานา แล้ว การแยกกันเดินจะทำให้เขาได้ผลการเลือกตั้งตามที่เขาต้องการได้มากที่สุด เป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถรักษาจำนวน ส.ส.ให้เท่ากับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพราะหากใช้ยุทธศาสตร์พรรคเดียวไปด้วยกัน 3 พี่น้องแบบเดิม มีแนวโน้มที่จะไปไม่ไหว แบก ส.ส.ไปด้วยกันได้ไม่ครบตามที่ต้องการ จึงต้องแตกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไปกับ พล.อ.ประวิตร กับคนที่ไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยอดรวมของ 2 กลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะได้เท่าเดิม

Advertisement

สำหรับโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2566 นั้น ดร.สติธรมองว่า แนวโน้มมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะคล้ายๆ กับขั้วเดิม แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะตัวแสดงสำคัญยังคงมีอยู่ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หรือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพียงแต่จะมีส่วนผสมของกลุ่มอื่นเข้ามาปนบ้าง เพราะโอกาสที่ขั้วรัฐบาลชุดปัจจุบันจะรวม ส.ส.ให้ถึง 250 ถือว่ายาก ต้องมีการผสมข้ามขั้วหรือนำฝ่ายที่ไม่มีขั้วมาเติมถึงจะสำเร็จ ซึ่งสูตรนี้น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนสูตรที่มีความเป็นไปได้อันดับที่ 2 คือสูตร 4 พรรคใหญ่ปิดสวิตช์ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นคือพรรคของ พล.อ.ประวิตร พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย และสูตรที่มีความเป็นไปได้อันดับ 3 คือ ฝ่ายค้านชุดปัจจุบันร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่สมการเหล่านี้ล้วนเป็นคณิตศาสตร์ที่ประหลาด เพราะมีตัวแปรพิเศษนั่นคือ ส.ว. 250 คน

ฉะนั้น ต่อให้พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ รวมกันได้ ส.ส. 376 เสียง จัดตั้งรัฐบาลและปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ แต่ถ้าพรรคของ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ รวมกันได้ 120 เสียง เขาก็อาจจะไม่รวมกันก็ได้ และจะกลายเป็นรัฐบาลที่ตั้งโดยพรรคที่ไม่ใช่อันดับ 1 ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราอาจจะได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 6 แม้จะไม่สง่างาม แต่ตามรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุแค่ว่าต้องการ ส.ส. 25 เสียงเท่านั้นในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็จะเศร้าหน่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image