ฟังชัดๆ นักวิชาการคอมเมนต์ ‘จัดเลือกตั้งอย่างไร ให้โปร่งใส-เป็นธรรม’

จัดเลือกตั้งอย่างไรให้โปร่งใส-เป็นธรรม

หมายเหตุ – นักวิชาการเสนอความเห็นถึงกลยุทธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการป้องปราบการทุจริตการเลือกตั้งโดยการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุดทั่วประเทศ ตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด และใช้แอพพลิเคชั่นตาสับปะรดขอข้อมูลการทุจริต ขณะที่การรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกว่า ECT Report โดยจะให้สื่อมาเป็นผู้เชื่อมข้อมูลและนำเสนอต่อประชาชน

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

Advertisement

ไม่มีข้อเสนอแนะถึง กกต. เพราะเขาคงไม่ฟัง เนื่องจากตัดสินใจไปแล้ว การรายงานเรียลไทม์มันโกงทีหลังไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ตัวเลขขึ้นมาทีหลังเหมือนในอดีตก็สามารถทำได้ แต่ถ้ารายงานเรียลไทม์จะมีคนค้านได้ สำหรับการกำหนดมาตรการต่างๆ ปราบโกง เป็นความคิดแบบโบราณ อ้างว่ากลัวคนอื่นโกง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในทางความคิด ในทางจิตใจและเจตนา ที่สำคัญคือ มีเสียงแว่วๆ อยู่แล้วว่างานนี้พรรคที่ชนะอาจถูกยุบ โดยอ้างว่าโกง นี่ยิ่งกว่าข่าวลือ พรรคที่อาจถูกยุบเริ่มไหวตัวแล้ว ดักคอออกมาแล้ว น่าสังเกตว่า กกต.ถูกใช้เป็นเครื่องมือ

ในอดีตมีการใช้กระทรวงมหาดไทย ก่อนเปลี่ยนเป็น กกต. เพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เลือกตั้งทีไร กระทรวงมหาดไทยก็ต้องเข้าข้างรัฐบาล ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2540 มีรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จึงมีแนวคิดให้มีกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เพื่อให้สามารถจัดการการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมได้ โดยนำตัวแบบมาจากอินเดีย แต่อินเดียมีคนเดียว ของไทยเริ่มต้นมี 5 คน ปัจจุบันมี 7 คน ด้วยความคาดหวังว่า กกต.จะเป็นอิสระ มีการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม ไม่มีองค์กรไหนเลยที่อิสระ กลายเป็นองค์กรที่อยู่ข้างอำนาจรัฐเท่านั้นเอง

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

Advertisement

การที่ กกต.จัดชุดปราบโกง เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุดทั่วประเทศ เพื่อดูแลความเรียบร้อยในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น ผมว่าแนวความคิดขั้นพื้นฐานของ กกต. ก็คือมองว่านักการเมืองชั่ว นักการเมืองซื้อสิทธิขายเสียง ดังนั้น กกต.จึงต้องตามจับ ตามเช็กนักการเมืองเหล่านี้เพื่อให้การเมืองไทยนั้นดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเมืองไทยมันจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อ กตต.นั้นสามารถจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และมีความรวดเร็ว ไม่ว่ากฎเกณฑ์ของ กกต.จะออกมาเป็นกฎเกณฑ์ที่ละเอียดยิบย่อย เป็นกฎเกณฑ์ที่ทุกคนมีสิทธิถูกจับ ปรับ และทำให้ตนเองไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ตาม

กล่าวคือ กกต.มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะใช้การวินิจฉัยของตนเองเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ซึ่งตรงนี้เอง รายละเอียดต่างๆ ที่มีมากเกินไป มันทำให้เกิดปัญหาในสังคมไทย

การเลือกตั้งของไทย กกต. ออกรายละเอียดเยอะมาก จนกระทั่งทุกคนสามารถที่จะถูกมองว่าได้กระทำความผิดในกระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง เราจะเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่มากเกินไป เพราะกระบวนการของฝ่ายการเมือง เขาก็ต้องคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะหาทางเข้าสู่ความรับรู้ของประชาชน เขาจะต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการสื่อสารกับประชาชน รวมทั้งโน้มน้าวให้ประชาชนมาเลือกตนเอง แต่กลับกลายเป็นกรณีบทบาทการเลือกตั้งของ กกต. มันทำให้เราเห็นว่า บางทีก็ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกันกับทุกนักการเมือง หรือทุกพรรคการเมืองอย่างเป็นแบบแผนเดียวกัน

เราจะเห็นว่า กกต.ในจังหวัดนั้นๆ ก็จะมีทรรศนะ หรือการเอียงข้าง ที่จะจับตาผู้สมัครคนไหน หรือว่าพรรคไหน แล้วก็ไม่จับตาผู้สมัครคนไหนจากพรรคไหน มันทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในท้องถิ่น อย่าลืมว่า กกต.ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ที่มีความรักความเสน่หา ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ที่ กกต.สร้างขึ้น ไม่น่าจะใช่บทบาทอันสำคัญของ กกต. แต่บทบาทสำคัญของ กกต.น่าจะอยู่ที่การทำให้ผลของการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ และสามารถรู้กันได้ในเที่ยงคืนวันนั้นว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นรัฐบาล มันมีความสำคัญที่สุด เพราะว่าเรากำลังเลือกตั้ง กำลังที่จะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ หรือว่าได้ผู้นำประเทศคนเก่า

สิ่งนี้มันเคยเกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว เราเคยมีการเลือกตั้งครั้งที่สำคัญมาก เมื่อปลายปี พ.ศ.2539 ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันที่เราจะเห็นผลการนับคะแนนกันแบบเรียลไทม์ โดยผลคะแนนขึ้นหน้าจอโทรทัศน์ว่าจังหวัดไหนใครได้คะแนนเท่าไหร่ มันไล่ขึ้นบนจอเลย แล้วเที่ยงคืนวันนั้นก็มีเขตตัดสินที่สำคัญคือ เขตปทุมธานี ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หรือผู้สมัครพรรคความหวังใหม่ จะได้ชัยชนะ นี่คือเขตสุดท้ายก่อนเที่ยงคืน แล้วในที่สุดเขตนี้ก็เป็นผู้สมัครพรรคความหวังใหม่ได้ชัยชนะ ทำให้นายชวน หลีกภัย ที่อยู่ จ.ตรัง ต้องประกาศยอมรับว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ได้ชัยชนะ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราเคยทำมาแล้ว แต่ กกต.ชุดที่อยู่ภายใต้การรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2549 และ 2557 ได้ทำลายความสามารถของ กกต. ในการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้มีความรวดเร็ว ให้มีความโปร่งใส และทำให้เป็นธรรมลดลง

ดังนั้น ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้ประชาชนมีความไม่ไว้วางใจในบทบาทหน้าที่ของ กกต. ว่าจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งที่ถูกต้อง หรือ กกต.เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาสถานภาพทางอำนาจของพรรครัฐบาลในปัจจุบัน

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

กรณีมีการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุดทั่วประเทศในการดูแลความเรียบร้อย และตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จริงๆ แล้วแต่ละพรรคการเมืองก็มีตัวแทนของเขาอยู่แล้ว ระบบการเลือกตั้งในไทยก่อนหน้านี้พัฒนาขึ้นมาเล็กน้อย คือมีองค์กรกลางขึ้นมาสังเกตการเลือกตั้งด้วย แต่สมมุติว่าถ้าใช้วิธีนี้ต้องมีหลักประกันในแง่พยานหลักฐานที่จะเอาผิด ว่าในท้ายที่สุดมีเหตุอันใดที่จะเอาผิดได้หรือไม่

ส่วนการตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด สอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีการ ‘ยุบพรรคแบบรวบรัด’ ส่วนตัวคิดว่ามันสร้างความตึงเครียดในการเลือกตั้งขึ้นมาเยอะ กฎระเบียบยิบย่อย ท้ายที่สุดเวลาตัดสินก็ต้องเข้าสู่ กกต.กลาง ระเบียบที่ออกมาในช่วงนี้ ต้องมีการคลี่คลายและอธิบายให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะดูจะสร้างความตึงเครียดในการเลือกตั้งมากไปหน่อย ในอดีตก่อนมี กกต. หน่วยงานที่ดำเนินการคือกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลที่อยู่ในช่วงเวลานั้นก็ถูกมองว่าใช้กลไกรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ ต่อมาเมื่อมีการตั้งองค์กรอิสระอย่าง กกต. ซึ่งมีหลายชุด หลายยุค หลายสมัย บางชุดติดคุกไปแล้วบ้างก็มี ประเด็นสำคัญคือ จะมีองค์กรไหนไปตรวจสอบการทำงานของ กกต. เพราะฉะนั้น หลังจากนี้เป็นต้นไปในการตรวจสอบองค์กรอิสระในแง่ของความเป็นกลาง กลไกอำนาจตุลาการก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกัน

ส่วนการรายงานผลการเลือกตั้ง ปกติแล้วต้องสามารถทำให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างรอบด้านตั้งแต่การนับคะแนนในแต่ละหน่วย และการนับคะแนนจากหน่วยต่างๆ มาถึงส่วนกลาง รวมถึงคนจากเขตต่างๆ พอมีการปรับเปลี่ยนจึงถูกตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วระบบตรวจสอบการนับคะแนนเสียงมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมจริงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image