‘ไตรรงค์’ โดนแล้ว ‘ศรีสุวรรณ’ ยื่น กกต.สอบปราศรัยแตะสถาบัน เข้าข่ายผิดระเบียบหาเสียง

แฟ้มภาพ

‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง กกต.สอบ ‘ไตรรงค์’ แกนนำรวมไทยสร้างชาติ ปราศรัยแตะสถาบัน ชี้เข้าข่ายผิดระเบียบหาเสียง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัย นายไตรงค์ สุวรรณคีรี แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงที่ จ.นครราชสีมา โดยนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.นครราชสีมา โดยมีประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางมารับฟังการปราศรัยของแกนนำพรรค ผู้บริหารพรรค และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

โดยในช่วงหนึ่งของการปราศรัยต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมฟังปราศรัยนับหมื่น และมีการถ่ายทอดทางโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนต่างๆ ด้วยนั้น นายไตรรงค์ได้ขึ้นปราศรัยความตอนหนึ่งในช่วงสุดท้ายว่า “พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติของคนดี พวกเราเป็นคนดีใช่ไหมพี่น้อง เราต้องไม่ลืมบุญคุณบรรพบุรุษใช่ไหมพี่น้อง ต้องรักษาประเทศนี้เอาไว้ให้อยู่ให้ดีที่สุด ใช่ไหมครับพี่น้อง

Advertisement

“ร.9 ตรัสเอาไว้ว่าจงเลือกคนดีปกครองประเทศเท่านั้น ผมเองไม่เล่นแล้วการเมือง แต่ผมมาช่วยบิ๊กตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนดี ผมดูแล้วหัวหน้าพรรคทั้งหลายเนี่ยไม่มีใครดีเหนือกว่าบิ๊กตู่หรอก ถ้าเราอยากได้รัฐบาลที่ดีตามที่ ร.9 ทรงประสงค์นั้นให้เลือกพรรค…รวมไทยสร้างชาติ”

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า คำปราศรัยดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อ 17 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 หรือไม่ ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง” ประกอบกับ ม.73 (5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่นด้วยวิธีการจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองอีกด้วย

ทั้งนี้ หาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นการฝ่าฝืนจริงก็อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 159 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปีอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image