‘แอมเนสตี้’ ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ค้าน พ.ร.ก.อุ้มหายฯ ‘ฝ่ายค้าน’ โดดรับ จัดเต็มอภิปราย หวั่นโดนคว่ำ

‘แอมเนสตี้’ ยื่น ฝ่ายค้าน ชง 3 ข้อเรียกร้อง ค้าน พ.ร.ก.อุ้มหายฯ ‘ฝ่ายค้าน’ โดดรับ จัดเต็มอภิปรายในสภา เผย ส่อโดนคว่ำเหตุ ส.ส.ไม่เห็นด้วย

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา กลุ่มแอมเนสตี้ ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหายยื่นข้อเรียกร้องต่อ พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.)

โดย น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามความคืบหน้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.ก.) ดังกล่าวที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มาโดยตลอด แต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่ทางการไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการ ช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวให้ได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมจากกรณีที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย

Advertisement

“การที่ ค.ร.ม.มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ” น.ส.ปิยนุชกล่าว

น.ส.ปิยนุชกล่าวต่อว่า ดังนั้น แอมเนสตี้ จึงมีข้อเรียกร้อง 1.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ทั้งฉบับ โดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา 2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวง เพื่อให้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เป็นไปตามกฎหมาย และติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด และ 3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทําความเข้าใจกับสังคม ในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน

Advertisement

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า ข้อเสนอแอสเนสตี้นั้นสอดคล้องกับข้อเสนอของพรรค ก.ก.ที่สนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้มาตลอด เรามีความหวังอย่างสูงว่าในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นั้น จะทำให้ประเทศไทยเข้าถึงอารยประเทศต่อสิทธิ์ที่ทำให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชน ต่อสิทธิเสรีภาพของนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมตลอดจนถึงประชาชนทุกคนว่า จะไม่มีการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และต้องให้ความเป็นธรรมกับกรณีที่มีการซ้อมอุ้มหายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่สิ่งที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉบับนี้มา แม้จะเป็นเพียงบางมาตราและอ้างเรื่องเวลาที่ไม่นานนัก คือถึงวันที่ 30 กันยายน และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับเราเป็นอย่างยิ่ง

“นี่คือเจตนาในการเตะถ่วงและไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญที่พวกเขาอ้างมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อเขา ท่านอ้างเรื่องความไม่พร้อม ทั้งที่ท่านมีเวลาเตรียมตัว ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านและมี ส.ส.ของรัฐบาลอีกจำนวนไม่น้อยที่จะโหวตคว่ำร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวนี้” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลว่า มีความพยายามที่จะเข้าชื่อเพื่อให้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อและยื่นในขณะที่มีการอภิปราย จะทำให้การอภิปรายต้องหยุดทันที ตนคิดว่าเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจที่ประชาชนมอบให้พวกเรา

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า มติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นชอบต่อกฎหมายฉบับนี้ และจะอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อจะคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกไป ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทุกองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราได้ยินเสียง เรารับไว้และจะดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถและจะเรียกร้องให้ภาครัฐได้ยินเสียงของพวกเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image