ส.ส.ฝ่ายค้าน-รบ.รุมอัด ‘พ.ร.ก.อุ้มหาย’ หลัง รบ.เสนอยืดเวลาใช้ เพราะตำรวจไม่พร้อม

‘สภา’ ถก กม.อุ้มหายฯ ฝ่าย’ค้าน-รัฐบาล’ เห็นตรงกันชะลอ ‘4 มาตรา’ กระทบเสรีภาพ ปชช. ชี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องออก พ.ร.ก. ด้าน ‘ผบ.ตร.’ แจง จนท.ไม่พร้อมทำงาน-ระเบียบกลางไม่เสร็จ ระบุระบบบันทึกต้องมากพอเก็บข้อมูลทำงานของ ตร. 7 วัน 24 ชม. เผย ตร.ต้องใช้สองมือทำงาน ไม่สะดวกยกมือถือถ่าย

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา เรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

จากนั้นเวลา 10.13 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เมื่อการทำงานเกิดข้อขัดข้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมาหากปล่อยให้ดำเนินการด้วยความไม่พร้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และสาธารณะโดยตรง ทั้งการบันทึกพยานระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จนอาจทำให้เกิดการโต้แย้งในชั้นดำเนินคดี ส่งผลให้การจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การบังคับใช้ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคม

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ทั้งทางอาญาและทางวินัย ดังนั้น จึงถือว่ามีความเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ต้องออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพื่อเป็นชะลอการใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ส่วนมาตราอื่นๆ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 พบหากเจ้าหน้าที่กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดี และลงโทษตามกฎหมาย การขอชะลอบางมาตรา ไม่ได้ทำให้เกิดการงดเว้นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ตนจึงขอให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา พ.ร.ก.นี้

Advertisement

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.ก.นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และเป็นเรื่องระดับชาติ นายสมศักดิ์คือตัวอย่างของรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อสภาเพราะมาตอบกระทู้ และเสนอกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดให้ความสำคัญกับสภาเลย เพียงอยากสะท้อนว่ารัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งนั้นแตกต่างกัน การชะลอการบังคับใช้มาตรา 22-25 ไปให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 หรือช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ทั้งที่มาตราเหล่านี้มีความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับกุมตัว ที่ต้องมีหลักฐานบันทึกทั้งภาพ และเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะที่จับกุมและควบคุมตัว เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

“ตำรวจเป็นองค์กรที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะผู้บริหารสูงสุด หรือประธาน ก.ตร. กำลังทำให้วงการสีกากีถูกเปลี่ยนให้เป็นสีเทา พรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก.นี้ พูดตรงๆ คือจะลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ แต่ถ้ามีการพลิกเกม ก็ต้องปฏิบัติตามที่ออกไป เราจึงต้องเตรียมการยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งช่องทางเดียวที่เราทำได้ และเข้าทางท่าน คือเราต้องแลกด้วยการใช้ช่องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชี้แจงถึงสาเหตุ และความเป็นมาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า แม้จะจัดซื้อกล้องมาตั้งแต่ปี 2562-2565 รวมแสนกว่าตัวก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ระเบียบกลางของกฎหมายนี้ ก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ เพราะมีการโต้แย้งกันระหว่างหน่วย จนอาจส่งผลต่อการศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะยังมีความเห็นไม่ลงตัวในหลายประเด็น และยังไม่มีการซักซ้อมการจับกุมของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งภาพ และเสียง ตลอดการทำงาน 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วันของตำรวจ ต้องมีความพร้อมทั้งระบบ และพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล ซึ่งต้องจัดเก็บจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

Advertisement

แม้หน่วยงานของรัฐหลายหน่วย จะแจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีความไม่พร้อม เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว ก็มีความไม่พร้อมเหมือน ตร. ส่วนการใช้มือถือบันทึกภาพไม่ได้นั้น เป็นเพราะการทำงานของตำรวจทุกรูปแบบต้องใช้สองมือทำงาน เช่น การใส่กุญแจมือ ลองคิดสภาพว่าถ้าต้องมือถืออัดเทประหว่างทำงาน ก็จะไม่สะดวก ยิ่งหากมีสายเข้ามา ก็อาจทำให้ผลการบันทึกภาพไม่ต่อเนื่อง และมือถือแต่ละเครื่องก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ทาง ตร.จึงแจ้งไปยังนายกฯ และนำมาสู่การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่เป็นการเลื่อนการบังคับใช้เพียง 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ซึ่งไม่กระทบกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่กังวลกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ที่ขึ้นมาอภิปรายทั้งหมด ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะเห็นว่าการชะลอการใช้ มาตรา 22-25 ออกไป จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งการออก พ.ร.กนี้ของรัฐบาล อาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน และข้ออ้างเรื่องความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ และงบประมาณ ถือว่าฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้ฝ่ายค้านมีมติคว่ำกฎหมายนี้ เพื่อให้การพิจารณา พ.ร.ก.นี้จบที่สภา ไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นการยื้อเวลาการบังคับใช้กฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วัน ในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน โดยย้ำว่าความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมคือความไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. สอบถามประธานว่า ทราบว่าขณะนี้ได้มี ส.ส.เข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากสมาชิกที่อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ก.นี้ แต่ไปลงชื่อ หมายความว่ามีเจตนาให้ชะลอการบังคับใช้ มาตรา 22-25 หรือไม่ หากระหว่างนี้เกิดการอุ้มหาย ผู้ที่ลงชื่อต้องรับผิดชอบด้วย ด้านนายศุภชัย ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้ชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลว่ามีการลงชื่อเพื่อให้ประธานสภายื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอให้สมาชิกอภิปรายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image