อรรถสิทธิ์ พานแก้ว มองฉากทัศน์เลือกตั้ง’66 ลุ้นปัจจัย ‘เซอร์ไพรส์’

พร้อมออกศึกอย่างคึกคัก สำหรับเลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะมาถึงเพียงไม่กี่อึดใจ ต่างคน ต่างฝ่าย ต่างพรรค พากันงัดกลยุทธ์หลากหลายหวังเอาชนะใจโหวตเตอร์ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่

ทั้งปรับลุคใหม่ชวนครางฮือ ทั้งปล่อยคลิปมิวสิกวิดีโอปลุกใจถึงขั้นรัวกลองสะบัดชัย ทั้งจัดเต็มป้ายหาเสียงพร้อมประวัติการศึกษายาวเหยียดจนโซเชียลแชะภาพแซว

ภายใต้บรรยากาศและความเป็นไปในห้วงเวลานี้ รศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองถึง “ฉากทัศน์” เลือกตั้งทั้งในภาพกว้างและลึกซึ้งในแง่มุมหลากหลาย ตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งใหม่ ธีมในใจ ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งจุดขายของแต่ละพรรคการเมือง

“การเลือกตั้ง 2566 คือเลือกตั้งระบบใหม่ซึ่งย่อมส่งผลต่อกติกา และผู้เล่นทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง และผู้เลือก นี่คือจุดแรกที่ส่งผลต่อฉากทัศน์การเลือกตั้ง 2566 ก่อนอื่น ต้องมองว่า การเลือกตั้งก็คือการเลือกตั้ง ทั้งส่วนของพรรคการเมืองกับคนเลือก มีสิ่งที่เรียกว่าธีมในการเลือกตั้ง เราเคยมีพรรคเทพ พรรคมาร, ไม่เลือกเรา เขามาแน่, สืบทอดอำนาจ ไม่สืบทอดอำนาจ ซึ่งคราวนี้ต้องมาดูว่าธีมเลือกตั้ง 66 นั้น สังคมจะมองธีมอย่างไร จะมองว่าการเลือกตั้ง คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว หรือจะยังมองเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรือไม่สืบทอดอำนาจอยู่” รศ.อรรถสิทธิ์เกริ่น ก่อนกล่าวต่อไปถึงอีกปัจจัยสำคัญ นั่นคือ “การจัดการการเลือกตั้ง”

Advertisement

“เรามักจะพูดแต่เรื่องพรรคการเมืองว่าจะทำอย่างไร นักการเมืองจะทำอย่างไร ใครจะจับมือกับใคร แต่ยังไม่ได้ดูว่า แล้วระบบการจัดการการเลือกตั้งจะมีผลอย่างไร ล่าสุด การแบ่งเขตก็ส่งผลเหมือนกัน พรรคไหนได้เปรียบ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ เราพูดถึงการนับคะแนนว่า จะไม่เรียลไทม์ กว่าจะรู้ก็ 3-4 ทุ่ม ซึ่งเปิดช่องให้คนรู้สึก ความรู้สึกของคนเวลามองการเลือกตั้ง จะเปลี่ยนไปแน่ๆ นี่คือการปูพื้นว่า ก่อนจะมองการเลือกตั้ง มี 2-3 ปัจจัยที่เราต้องพิจารณาว่าส่งผลกระทบแน่นอน”

กล่าวโดยสรุปคือ ทั้งระบบการเลือกตั้ง การจัดการ ธีมการเลือกตั้งจะเป็นตัวบอกว่า คนจะเลือกอย่างไร และพรรคการเมืองจะวางตัวเองแบบไหน

ครั้นมุ่งเป้าสู่ฉากทัศน์ นักรัฐศาสตร์แห่งรั้วแม่โดม มองว่า ฉากทัศน์แรกคือการวางกลยุทธ์ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะส่งผลต่อการเลือกตัวบุคคลหรือไม่ จะเป็นการต่อสู้ของพรรคฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลแบบเดิมหรือไม่ หรือจะมีการสลับจับขั้วกันใหม่

Advertisement

“ทุกพรรคแข่งกันอยู่แล้ว แต่ด้วยประชาชนจะมองว่า ถ้าเป็นฝั่งเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่ง ก็รู้สึกว่า อยากให้แต่ละพรรค มีการประกาศชัดเจน ฉากทัศน์อีกอย่างหนึ่งคือ พรรคการเมืองจะถูกถามว่า ตกลงจะจับมือกับใคร ไม่จับกับใคร จะอยู่กับใคร

การเลือกตั้ง เป็นเรื่องของตัวเลข เมืองนอก มีการจับขั้วการเมืองก่อนการเลือกตั้ง แต่ถามว่าการจับขั้วก่อนการเลือกตั้งหรือการประกาศวันนี้ จะส่งผลต่อการเลือกของคนหรือไม่ เราอาจจะบอกว่า สำหรับบางพรรค การประกาศออกไปเลยว่า เอา ไม่เอา จับคู่กับใคร ไม่จับกับใคร จะส่งผลต่อคนที่จะมาเลือกเขาไหม คำถามคือ แล้ววันนั้น ประชาชนจะส่งผลต่อการวางตัวเองหรือการวางกลยุทธ์ของพรรคหรือไม่ ถ้าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ตัวเลขจะเป็นตัวกำหนดว่า เขาจะจับกับใคร ไม่จับกับใครที่แท้จริง

ผมคิดว่า เมื่อเวลามันเดินไป การเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว คิกออฟแล้ว บรรยากาศ หรือความรู้สึกของคนในสังคม จะเป็นตัวบอกว่าวันนี้พรรคการเมืองควรทำตัวอย่างไร ไม่ใช่แค่ว่าเราออกนโยบายแบบนี้แล้วคนชอบ คือพรรคการเมืองเองก็ไม่ได้เอาแค่เรื่องนโยบายเป็นเรื่องเดียวในการหาเสียงให้คนมาเลือกตัวเอง แต่มูฟทางการเมืองของเขาจะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์อย่างอื่นจะเป็นอย่างไร” รศ.อรรถสิทธิ์กล่าว

แน่นอนว่า ไม่ถามไม่ได้ว่า จะมี “เซอร์ไพรส์” หรือไม่

“อาจบอกว่า เซอร์ไพรส์ จะเกิดขึ้นเมื่ออารมณ์ของสังคมผลักให้เกิด คือ คนอยากให้เปลี่ยนพฤติกรรม หรือเปลี่ยนกลยุทธ์ เซอร์ไพรส์ถึงจะเกิด”

เมื่อถามว่า “จุดขาย” สำคัญท่ามกลางจุดขายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร ตัวบุคคล นโยบาย ชื่อพรรค จุดยืน อุดมการณ์ หรือการแก้ไขกฎหมายบางมาตรา ฯลฯ ได้คำตอบว่า “ไม่มีคำอธิบายเดียวกับคนทุกกลุ่ม”

“เวลาเราถามว่า คนจะเลือกเพราะอะไร มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า การใช้คำอธิบายเดียวกับคนทุกกลุ่ม เราต้องแบ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาเป็นหลายกลุ่ม แล้วแต่ว่าจะแบ่งแบบไหน แบ่งตามภูมิภาค แบ่งตามที่อยู่ ตามลักษณะประชากร เพศ รายได้ การศึกษา ฯลฯ ดังนั้น ถามว่าใช้เรื่องเดียวอธิบายทั้งหมดได้ไหม พูดได้อย่างเดียวว่า สิ่งแรกสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทุกคนใช้พิจารณาคือ นโยบายปากท้อง นี่คือเรืองที่หนึ่ง ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เศรษฐกิจจะดีขึ้นไหม พรรคไหนมีนโยบายเศรษฐกิจดีที่สุด พรรคไหนจะทำให้เราอยู่ดีกินดี

แต่ถ้าถามว่า นอกจากปากท้อง แล้วเรื่องอื่นๆ ล่ะ อันนี้คงต้องแยกออกไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าเรื่องปากท้องไม่ได้สำคัญที่สุด แต่เขามองเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและกฎหมายบางอย่าง เราปฏิเสธไมได้ว่า บางพรรคมีฐานเสียงในกลุ่มก้อนที่เป็นลำดับรองลงมา

ผมคิดว่าทุกพรรคคงเรียนรู้ว่าไม่ได้หาเสียงกับคนทั้งหมด แต่หาเสียงกับคนที่เขาจะเลือกเรา หรือทำให้เราชนะ บางพรรคมีแนวคิดทางการเมืองหรือเฉดสีไปทางเหลือง จะชูตัวบุคคลและพูดถึงเรื่องการเมืองรองลงไปจากปากท้อง ในขณะที่พรรคฝ่ายก้าวหน้าจะพูดถึงเรื่องความสำคัญของประชาธิปไตย ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ปากท้องมาที่ 1 ส่วนเรื่องรองจากปากท้อง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละพรรคมองไปที่ไหน จับกลุ่มไหนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” รศ.อรรถสิทธิ์วิเคราะห์

ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คู่พี่น้องคนละท้องเดียวกัน แยกทางกันเดินนั้น นักวิชาการท่านนี้มองว่า หากพิจารณาในแง่ของการเลือกตั้ง ทั้งคู่มีฐานเสียงที่ซ้อนทับกันอยู่ แต่หากมองลึกลงไปอีกขั้น อาจพบว่ามีการ “แบ่งพื้นที่กัน” ก็เป็นได้

“ประเด็นคือ เรายังไม่เห็น ตัว ส.ส. ที่จะลงในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด ถ้าเห็นว่า เอ๊ะ มีการสลับที่สลับทางให้กันหรือเปล่า ถ้ามีเว้นที่ไว้ให้ว่าอันนี้ตัวใครแข็งแล้วอีกพรรคหนึ่งส่งตัวที่ไม่ได้แข็งมา จะบอกได้ชัดว่า จริงๆ แล้วไม่ได้แตก แต่แค่แยกกันเดิน”

ย้อนถามถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ว่าสะท้อนการเลือกตั้ง 66 ในเขตกรุงเทพฯ อย่างไร

รศ.อรรถสิทธิ์มองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะทำให้พอบอกได้ว่า “ใครมีสิทธิ ใครไม่มีสิทธิ” และใครมีโอกาสมากน้อยกว่ากัน

“ตอนนั้นเราเห็น ส.ก. ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลได้พอๆ กัน ในขณะเดียวกัน ประชาธิปัตย์เอง ในสนาม กทม. น่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อดูจากคะแนนพี่เอ้ สุชัชวีร์ กับคะแนน ส.ก. แต่อีกอย่างหนึ่งที่จะส่งผลมากกว่า คือ วิธีการหาเสียง แคมเปญการเลือกตั้ง วิธีการใช้ภาพ คำพูด การแสดงของผู้สมัคร อาจเป็นภาพวัดของนักการเมืองที่หลายคนน่าจะอยากใช้หาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ก็ได้”

มาถึงคำถามที่ว่า พื้นที่ไหน น่าจับตาที่สุดในการเลือกตั้ง 66 นักรัฐศาสตร์ท่านนี้ตอบทันทีว่า “กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันตก”

“กทม.เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะคนกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่เปลี่ยนใจในเกือบทุกการเลือกตั้ง กล่าวคือ มักเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนแนวคิดไปเลยว่าจะเลือกใคร แต่ไม่ได้หมายความว่า เสียงของคนกรุงเทพฯจะเป็นตัวบอกว่าประเทศจะเป็นแบบนั้น

สิ่งที่น่าจับตา คือ เราควรมองภาคกลางและภาคตะวันตก เพราะภาคเหนือกับอีสาน ความเป็นเพื่อไทย หรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยค่อนข้างคงที่ ส่วนภาคใต้ต้องยอมรับว่า ประชาธิปัตย์หรือพรรคอะไรก็ตามในเชิงอนุรักษนิยม อย่างรวมไทยสร้างชาติ ยังมีผลอยู่

แต่ภาคกลางมีความหลากหลาย เราควรจับตาภาคกลางและภาคตะวันตก ว่าจะเอียงหรือไหลไปทางพรรคใดพรรคหนึ่งไหม เพราะถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งได้จับภาคกลางขึ้นมาแล้ว จะเป็นฐานสำคัญที่สามารถเอาพรรคนั้นโดดเด่นขึ้นมา

คนมักพูดว่า เขต 1 ของทุกจังหวัดซึ่งเป็นเขตเมือง เป็นที่จับตามองว่า จะเป็นโอกาสของพรรคก้าวไกลหรือไม่ และจะทำได้ดีแค่ไหน เพราะคนในเขตเมือง มีความต้องการจากตัว ส.ส. หรือการมองพรรคการเมืองที่อาจจะมองจากเขตอื่นๆ”

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่ว่า 4 ปีของรัฐบาล ส่งผลบวกหรือลบกับการเลือกตั้ง 66 มากกว่ากัน ซึ่ง รศ.อรรถสิทธิ์อธิบายในเชิงทฤษฎีอย่างน่าสนใจ

“ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับการเฟรมเรื่อง การจับเรื่องว่ารัฐบาลจะโชว์เรื่องไหน ในทางทฤษฎีอธิบายได้ว่าเป็นเรื่องของพ็อคเก็ต หรือคนที่จะเลือกจากกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง จะมีการถามว่า คุณคิดว่าเศรษฐกิจที่ผ่านมา มันดี หรือไม่ดีอย่างไร ถ้าคนตอบว่าไม่ดี ก็แสดงว่า มีโอกาสเปลี่ยน และมีอีกคำถามหนึ่งคือ เศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดีเลย แล้วปีหน้าก็น่าจะไม่ดี จะส่งผลให้พรรครัฐบาลอาจจะไม่ได้แบบที่ตัวเองเคยได้

แต่ถ้าคนบอกว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจดี และครั้งหน้าก็จะดีขึ้น แบบนี้รัฐบาลจะได้เปรียบ คำถามคือ วันนี้บรรยากาศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มันต้องถามใจทุกคนว่ามองอย่างไร แต่ทุกการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการจัดภาพ การวางภาพ การวางตำแหน่ง คุณเลือกที่จะหยิบเรื่องอะไรมาหาเสียงให้คนยังเลือกอยู่

ถ้าบอกว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดีเลย หรือนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์เรา แนวโน้มของการไปเลือกพรรคอื่นที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลก็จะเกิดขึ้น

แต่ขอดอกจันสุดท้ายว่า ด้วยพฤติกรรมการเมืองของคนไทย ต้องอย่าลืมว่า ส่วนหนึ่ง ส.ส.เขตเอง ก็ส่งผล ไม่ว่าจะอยู่พรรคอะไร ไม่อยู่พรรคอะไร บางทีคนบอกว่า กระแสก็ส่วนหนึ่ง แต่ความนิยมของ ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ก็มีส่วนหนึ่ง วันนี้อาจต้องตั้งคำถามว่า ภาคไหนที่มี ส.ส.เก่า ย้ายไปอยู่บ้าง หรือไม่ได้ย้ายไปบ้างก็จะมีโอกาส แต่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ส.ส. เก่าก็มักสอบตก” รศ.อรรถสิทธิ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image