จาก ‘วัดกลางนา’ สู่ ‘ชนะสงคราม’ อารามที่ ‘บิ๊กป้อม’ เปี่ยมศรัทธา

นับเป็นวัดประจำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ บิ๊กป้อม พร้อมครอบครัวก็ว่าได้ สำหรับ วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ไม่ว่าจะในวันคล้ายวันเกิด หรือในวันสำคัญทางศาสนา อย่างวันนี้ 6 มีนาคม มาฆบูชา 2566 รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เดินทางไปทำบุญ ณ อารามดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้า (อ่านข่าว ‘ลุงป้อม’ ทำบุญวัดชนะสงคราม วันมาฆบูชา แวะกินปาท่องโก๋เจ้าดังย่านบางลำพู)

วัดชนะสงคราม ตั้งอยู่เลขที่ 77 ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ข้อมูลจากเว็บไซต์หอสมุด วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอ้างอิงจาก รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2538 ระบุว่า วัดดังกล่าว เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมบริเวณรอบๆ วัดเป็นทุ่งนาค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงเรียกว่า “วัดกลางนา”

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญสำหรับพระนครเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา โดยโปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดนี้ จึงเรียกชื่อวัดว่า ‘วัดตองปู’ เลียนแบบวัดตองปูซึ่งเป็นวัดพระรามัญในสมัยอยุธยา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าชื่อวัดตองปูมาจากชาวรามัญ หมู่บ้านตองปู ซึ่งเคยอยู่ในหงสาวดีได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย จึงนำชื่อวัดที่ตนยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจมาตั้งด้วย วัดกลางนาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดตองปูตามความเคยชินของชาวบ้านตองปู ต่อมาเมื่อทรงมีชัยชนะข้าศึกจึงพระราชทานนามว่า “วัดชนะสงคราม”

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ได้โปรดให้ซ่อมแซมพระราชมณเฑียรโดยรื้อ พระที่นั่งพิมานดุสิตา นำไม้มาสร้างกุฏิ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณะวัดชนะสงครามมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมทั้งทรงสร้างกุฏิใหม่ แล้วเสร็จในปี 2396 และโปรดให้ทำการฉลอง

Advertisement

ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้บูรณะซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์หลังคาพระอุโบสถและทรงปรารภที่จะสร้างที่บรรจุพระอัฐิสำหรับเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ยังไม่สร้างที่ใดก็สิ้นรัชกาล

วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าวัดมีรถรางไฟฟ้าวิ่งบนถนนจักรพงษ์ (ภาจาก พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร เผยแพร่ใน ‘ศิลปวัฒนธรรม’)

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิที่เฉลียงท้ายพระอุโบสถวัดชนะสงคราม โดยกั้นผนังระหว่างเสาท้ายพระอุโบสถเป็นห้องทำเป็นคูหา 5 ช่อง คูหาหนึ่งเจาะเป็นช่องเล็กๆ สำหรับบรรจุพระอัฐิเจ้านายตามรัชกาล การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image