รายงานหน้า 2 : เทียบนโยบาย‘ภาคเกษตร’ พรรคไหนโดนใจ-ฉลุยเลือกตั้ง’66

เทียบนโยบาย‘ภาคเกษตร’ พรรคไหนโดนใจ-ฉลุยเลือกตั้ง’66

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการกรณีนโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมือง ที่ประกาศใช้หาเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 ว่าจะสามารถแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้แค่ไหน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การที่ทุกพรรคการเมืองได้มุ่งไปที่ฐานคะแนนเสียงเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา เนื่องจากทุกพรรคหน้ามืดคือ ทุกพรรคต้องการชนะการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด จึงต้องมุ่งเอาใจฐานเสียงที่กล่าวมาให้ได้คะแนนมากที่สุด หากมาดูฐานของสังคมจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนชั้นหาเช้ากินค่ำ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่นโยบายของพรรคการเมืองจะเน้นไปที่ลด แลก แจก แถม ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน บัตรสวัสดิการคนจน จึงต้องเกทับกัน เพราะว่าฐานของสังคมกลุ่มนี้เยอะที่สุด จึงสะท้อนให้เห็นว่าทุกพรรค ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ใช้ฐานนี้เป็นฐานทางการเมือง แต่เมื่อเข้าสภาแล้วไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หากมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืนฐานอันนี้จะต้องหายไป หรือลดลงไป นโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมาใหม่ น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เพื่อให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ แต่ที่ผ่านมาฐานคนจน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาที่หาเช้ากินค่ำไม่ได้แก้ไขเลย จึงเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่นำไปใช้ในการหาเสียง

ในเรื่องของการประกันราคาพืชผล จะเห็นได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการปัญหาทางด้านผลผลิตทางเกษตร ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยใช้วิธีจำนำ การประกันราคา แต่ไม่ได้คิดในเรื่องการยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางด้านผลผลิตการเกษตร โดยเกษตรกรจะนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายโดยตรง เป็นลูก เป็นผล ซึ่งราคาผันผวน แต่ไม่มีวิธีที่จะยกมาตรฐาน หรือสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ให้มีมูลค่าเสถียร จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ตก อาทิ ราคาทุเรียนสูงคนก็แห่ปลูก เมื่ออุปสงค์ และอุปทาน หรือความต้องการซื้อ และความต้องการขาย ไม่สมดุลกัน ผลสุดท้ายราคาตก ราคาต่ำ เมื่อไม่มีคนซื้อต้องมาประกันราคา เป็นความคิดที่ไม่มองผลในระยะยาว ซึ่งควรจะมีการวางแผน ในเรื่องของการจัดการในเรื่องผลผลิตทางเกษตรทั้งหมด เพื่อให้ควบคุมราคาได้

มาวิเคราะห์ในแต่ละพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยมีนโยบายจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทางด้านการเกษตรเพื่อลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร หากมองแล้วพบว่าจะให้ขายผลผลิตในรูปผลิตภัณฑ์ ไม่ได้ขายในรูปแบบสินค้าที่ผลิตออกมาเป็นผลเป็นลูก และลดต้นทุนโดยใช้เทคโนโลยี พอต้นทุนต่ำ ทำให้ได้ราคาสูง มีกำไร ทำให้มองว่าได้ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเกษตรกร แต่ก็ยังไม่พอ อย่างไรตามต้องวางแผนทางด้านการผลิตด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรเพาะปลูกจนผลผลิตเกินความต้องการของตลาด ส่วนจะไปถึงตลาดโลกได้จะต้องมีการจัดระบบการเพาะปลูก ไม่ใช่ให้เกษตรกรปลูกตามกระแสราคา แต่ต้องรู้ว่าตลาดโลกมีความต้องการมากน้อยเพียงใด และไปเติมเต็มสินค้าที่ขาดแคลน ก็ต้องจำกัดพื้นที่การปลูก และควบคุมคุณภาพได้ ก็จะทำให้สินค้าด้านการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น

Advertisement

พรรคก้าวไกล เน้นไปที่ SMEs หากดูแล้วจะเห็นผลผลิตทางด้านการเกษตรหากไปขายเป็นลูก เป็นผล ราคาจะผันผวน แต่หากไปทำเป็นธุรกิจแทนที่จะขายเป็นลูกอย่างเช่นทุเรียน หากไปแปรรูปโดยกระบวนการของ SMEs ทำให้มีอายุยืนยาวหรืออยู่ได้นาน จะทำให้ราคาดีขึ้น หรือแม้แต่ยางพารา ประเทศไทยขายเป็นยางดิบ ยางแผ่นรมควัน หากยกระดับเข้ากระบวนการ SMEs โดยทำเป็นถุงมือยาง รองเท้ายาง โดยให้ผู้ประกอบการในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นรับผิดชอบ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ก็จะทำให้ราคาสูงขึ้นมาทันทีเลย

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายในเรื่องการพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตร ถือว่านโยบายแบบนี้ไม่มีนวัตกรรม เรื่องพยุงราคา ประกันราคา จำนำราคา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สุดท้ายปัญหาคอร์รัปชั่นจะตามมาได้ง่าย เมื่ออุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน รัฐบาลจะต้องมาแบกรับในเรื่องราคาผลผลิต และจะนำนโยบายพยุงราคา ประกันราคา จำนำราคา โดยใช้เงินหลวงไปซื้อไปขาย แล้วนำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาอีก หากคิดแบบนี้อันตรายมาก

พรรคภูมิใจไทย เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน มองว่านโยบายนี้หากเกษตรกรรู้ราคาก่อนปลูก จะมีการดูในเรื่องของตลาด จะรู้ในเรื่องอุปสงค์และอุปทาน ถือว่าเป็นการสร้างหลักประกันระยะยาว อย่างไรก็ตามถือว่ายากเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลผลิตได้เท่าไหร่ และอนาคตจะมีความต้องการมากเท่าไหร่เช่นกัน เหมือนกับการทำการค้าตลาดล่วงหน้า

พรรคประชาธิปัตย์ จะเน้นในเรื่องการประกันราคาพืชผล ถือว่าเป็นการแทรกแซงกลไกของรัฐ นโยบายไม่ยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่จะหวังในเรื่องคะแนนเสียงเฉพาะหน้าก็ได้เช่นกัน อาทิ ข้าวเกวียนละ 3 หมื่นต่อครัวเรือน ยางกิโลกรัมละ 200 บาท อย่างไรก็ตามต้องขึ้นกับตลาดโลก หากมีส่วนต่างกันมาก รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้ในเรื่องของการประกันราคาพืชผล แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ

ในการแก้ไขปัญหารายได้ของเกษตรกร ชาวนา อันดับแรกจะต้องมีการวางแผนหรือโรดแมปให้ชัดเจน ไม่ปล่อยให้ปลูกตามกระแส แต่ให้ปลูกโดยมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ประการต่อมาจะต้องมีการยกระดับผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยจะต้องไม่ขายผลผลิตบางอย่างเป็นลูกเป็นผล แต่ต้องมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต อาทิ ยางจะต้องแปรรูปเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ รองเท้า ยางรถยนต์ รวมทั้งทุเรียน มังคุด เก็บอย่างไรให้มีอายุยาว จะทำให้มีราคาและทำให้ราคาเสถียรอีกด้วย รวมทั้งจะต้องมีการเจาะตลาดลูกค้าที่มีความต้องการสูง

ส่วนที่มีนักการเมืองบอกว่าจะยกระดับราคายางพารา โดยผลิตตุ๊กตายาง ส่วนตัวมองว่าเลอะเทอะ ถึงแม้ว่าจะทำได้ แต่ตลาดโลกไม่ได้ต้องการอย่างนี้ทั้งหมด ทำไมไม่คิดถึงเรื่องถุงมือยางทางการแพทย์ ยางใช้กับเครื่องบินที่มีราคาสูง ต้องเจาะตลาดที่มีราคาสูง ตุ๊กตายางถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงก็ตาม มองว่าเอาฮาเอามันมากกว่า แต่ตลาดความต้องการน้อย หากใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับตลาดโลกมีความต้องการสูง เชื่อว่าผลผลิตทางด้านการเกษตรของไทยยังมีโอกาสจะไปได้ไกล แต่ก็อยู่ที่พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลจะนำนโยบายที่อ้างมา ไปทำได้มากน้อยเพียงใด ก็เท่านั้นเอง

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันนี้ปัญหาของเกษตรกรไทยคือทำงานหนักแต่รายได้น้อย เพราะฉะนั้นนโยบายทางการเกษตรที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของการประกันรายได้ ถ้าถามว่านโยบายอะไรที่น่าจะโดนใจเกษตรกรที่สุด คิดว่าไม่ใช่นโยบายการประกันราคาสินค้าเกษตรแล้ว เพราะเก่าเกินไป และที่สำคัญคือไม่ได้ผลจริง คิดว่าเวลานี้สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือทำอย่างไรสินค้าถึงจะขายได้ในราคาโดยที่รัฐบาลไม่ต้องอุ้ม ทำอย่างไรจึงจะมีการลดต้นทุน ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และการเข้าถึงแหล่งทุนที่ง่ายขึ้น ตอนนี้คิดว่าโจทย์ที่ต้องตอบคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นโดยไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ไม่ทำให้การขายสินค้าเป็นเพียงการใช้หนี้อย่างเดียว ต้องทำให้เกษตรกรตั้งตัวได้ด้วยและจะไปตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะขายผลผลิตได้ในราคาสูง คิดว่าแต่ละพรรคควรทำนโยบายสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ จริงๆ คิดว่ากลุ่มคนที่จะเลือกมีธงอยู่แล้วว่าจะเลือกนโยบายแบบไหน ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง คือปกติเกษตรกรเหนื่อยอยู่แล้ว การทำให้เกษตรกรเหนื่อยน้อยลง เป็นแนวคิดที่ดีแต่คำถามคือเหนื่อยน้อยลงแล้วสินค้าที่ผลิตมันสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ คือจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ตาม เกษตรกรหลายรายมีการใช้ AI และโดรนในการพ่นปุ๋ย ถึงที่สุดแล้วกลายเป็นว่าได้ผลผลิตเพิ่มจริงแต่ส่วนต่างที่เพิ่มมา กลายเป็นว่าต้องนำไปซ่อมบำรุงเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นไป

อยากให้เน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยที่รัฐไม่ต้องไปอุ้มหรือเป็นการประกันราคา ต้องมีกลไกบางอย่างที่รัฐเป็นคนกำหนด เช่น เพิ่มมูลค่าสินค้าแล้วอาจจะต้องมาสนับสนุนในด้านอื่น อย่างการโปรโมตหรือสร้างลูกเล่นเหมือนที่ต่างประเทศทำกัน

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หลักๆ ผมมอง 3 พรรคที่มองทิศทางว่าเข้าใจบริบทปัญหาของเกษตรกรไทย คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในส่วนของ ก.ก.และ ภท.เข้าใจถึงปัญหาสภาพปัจจุบันว่าเกษตรกรส่วนมากมีสถานภาพที่เป็นหนี้และขาดแคลนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ดังนั้น นโยบายพักหนี้ให้เกษตรกร 3 ปีของ ภท. อาจจะตอบโจทย์ชั่วครั้งชั่วคราวแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพหรือการแนะนำ ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น และต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เช่นเดียวกับพรรค ก.ก.กับ พท.คือพยายามส่งเสริมเรื่องปากท้อง การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พรรค พท.อาจจะไม่พูดเรื่องหนี้สินเกษตรกรแต่พูดเรื่องรายได้และปากท้อง โดยมีความเหมือนกับพรรค ก.ก.คือพยายามส่งเสริมการเพาะปลูกที่ลดการใช้สารเคมี พัฒนาพืชที่มีศักยภาพ หรือยกระดับให้ตัวสินค้าทางการเกษตรตอบโจทย์กับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงในยุโรปหรืออเมริกา ในขณะที่พรรค ก.ก.ยังพยายามทำนโยบายต่อเนื่องเช่นเรื่องสุราก้าวหน้า แม้ว่ายังไม่ถูกขับเคลื่อนแต่เห็นทิศทางแล้วว่าแนวโน้มประเทศไทยในการเพิ่มรายได้ช่องทางต่างๆ ให้กับเกษตรกรนั้นมีทิศทางที่เป็นไปได้ อย่างหนึ่งที่กังวลใจคือเรื่องของปุ๋ยที่ยังเป็นที่ทราบกันอยู่ว่ายังเป็นเรื่องของนายทุนผูกขาด ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องสร้างความชัดเจนว่าการส่งเสริมเรื่องปุ๋ยหรือลดการใช้สารเคมีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพืชทางการเกษตรที่ตระหนักเรื่องสุขภาพให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่าตรงนี้ทุกพรรคการเมืองจะต้องเน้นมากขึ้น

ผมคิดว่านโยบายที่กลุ่มชาวนาและเกษตรกรอยากได้มากที่สุดคือการพักชำระหนี้ การส่งเสริมหรือลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำงาน และการที่ให้เขาต้องใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรต้องส่งเสริมแต่ไม่ใช่ให้เขาต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มในเรื่องของการเรียนรู้เพิ่มเติม พรรคการเมืองจะต้องเป็นคนส่งเสริมด้วยการให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยีและรู้สึกว่าไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก และต้องมีการให้ความรู้ด้านนี้ด้วยเพราะฟังดูแล้วเหมือนนโยบายจะตอบโจทย์เกษตรกรที่มีลักษณะกึ่งเป็นนายทุนและเป็นเจ้าของที่ แต่ภาพที่เราเข้าใจส่วนใหญ่เกษตรกรจะเป็นผู้เช่าหรือไม่ได้เป็นเจ้าของที่ที่แท้จริง ดังนั้นเราต้องมีการถ่ายทอดวิธีการใช้เทคโนโลยีให้เขาเกิดความมั่นใจและมีรายได้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image