“พิชัย” แนะรบ.เร่งหาก๊าซธรรมชาติทดแทนก่อนแหล่งเดิมหมด จี้ตรวจสอบการทุจริตซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินที่อินโดฯ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่มีข้อขัดแย้งเรื่อง พ.ร.บ ปิโตรเลียม ถึงขนาดที่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอลาออก ก็อยากให้รัฐบาลและคสช. ที่มีอำนาจเต็มได้เร่งหาข้อสรุปเพื่อให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาทดแทนแหล่งเดิมที่กำลังจะหมดไป โดยอยากให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของชาติ และต้องคำนึงว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้พลังงานและโครงสร้างราคาพลังงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ต่อต้านก็ต้องคำนึงว่าราคาพลังงานไม่ได้สูงเหมือนในอดีตแล้ว จะไปเรียกร้องผลตอบแทนมากๆก็คงไม่มีใครกล้ามาลงทุน ซึ่งจะเป็นผลเสียกับประเทศมากกว่า อีกทั้งหากยังขุดก๊าซขึ้นมาทดแทนไม่ได้ก็ไม่รู้จะเรียกคืนท่อก๊าซทำไม เพราะถ้าไม่มีก๊าซ ท่อเดินก๊าซก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเหล็กเท่านั้น

ทั้งนี้กลุ่มผู้ต่อต้านควรมุ่งตรวจสอบทุจริตในโครงการการลงทุนต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานมากกว่า โดยล่าสุดอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบได้เข้าตรวจสอบการซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินของ บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ไปลงทุนในประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึง 1.17 หมื่นล้านบาท ในสัดส่วนเพียงแค่ 11-12% เท่านั้น ซึ่งไม่มีอำนาจในการบริหาร และราคาถ่านหินในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเรื่อยๆ สามารถซื้อขายในตลาดสากลได้โดยปกติ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปถือหุ้นในเหมืองถ่านหินนี้และยังถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยมาก

อีกทั้งมีข่าวว่าอาจจะมีการทุจริตและความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ในประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท. ก็มีปัญหาในการลงทุนในอินโดนิเซียและมีข่าวการทุจริตเช่นกัน ซึ่งเรื่องยังค้างอยู่ใน ปปช. ดังนั้นจึงอยากให้มีการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ว่าจะเป็นตามข่าวในประเทศอินโดนิเซียที่บอกว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะกันอย่างมหาศาล จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและฝ่ายคัดค้านพลังงานได้ต่อต้านเรื่องเหล่านี้มากกว่าจะขัดขวางการนำก๊าซขึ้นมาใช้ เพราะในอนาคตก๊าซเหล่านี้อาจจะมีค่าน้อยลงหรืออาจไม่เหลือค่าเลยก็ได้ถ้าโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกเปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงราคาถ่านหินในอนาคตด้วย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนในต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของไทยนับตั้งแต่ในอดีต มักมีแต่ข้อครหาการทุจริตอยู่เสมอและการลงทุนเกือบทุกโครงการมักจะขาดทุนและไม่ประสพความสำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image