กมธ.ปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา บินดูงานมาเลเซีย ศึกษาวิธีฝังกลบขยะ-ผลิตไฟฟ้า

กมธ.ปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เยือนมาเลเซีย ประชุมทวิภาคี เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง
ได้นำคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา 13 คน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ Bukit Targar Enviropark

โดยมี Mr. Peter Wong CEO Berjarya Enviroparks และ Mrs. Puaw Yati officer DBKL ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีหลักในการกำจัดขยะมูลฝอยในประเทศมาเลเซีย โดยจะขนส่งขยะมูลฝอยจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มาพื้นที่ฝังกลบนี้ซึ่งอยู่ในนิคมปาล์มน้ำมัน ห่างจากพื้นที่เมืองและพื้นที่อยู่อาศัย

จากนั้น ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการฝังกลบขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการไปแล้ว 3 เฟส สำหรับวิธีการฝังกลบจะขุดหลุมลึก 40 – 50 เมตร แล้วนำขยะมูลฝอยมาบดอัด จากนั้นจะถมดินและบดอัด เมื่อถึงชั้นบนสุดจะบดอัดดิน ที่ระดับ 2 เมตร ซึ่งจะวางทับด้วยผ้าพลาสติก HDPL เพื่อให้น้ำซึมลงใต้ดินน้อยที่สุด ส่วนชั้นใต้สุดจะมีลักษณะเป็นก้างปลาเพื่อดูดน้ำเสียลงสู่ท่อบำบัด สำหรับก๊าซที่เกิดขึ้นจากขยะได้ส่งไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวภาพที่สร้างขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางปิยะพิณ นิยมฤกษ์ อุปทูต โดยมี นางสาวณุพร จันทวรินทร์ เลขานุการโท และ Mr. Syed Muhammad Danial, Political Assistant บรรยายสรุปภาพรวมของประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเทศมาเลเซียมีการแบ่งแยกประเภทประชากร กลุ่มภูมิบุตร หรือภูมิปุตรา (เชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม)

กล่าวคือ ชาวมาเลเซียภูมิบุตรจะได้รับความช่วยเหลือพิเศษทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า แต่ไม่รวมถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนหรืออินเดียที่มีจำนวนมากในประเทศ

ในโอกาสนี้ อุปทูตได้กล่าวว่าการมาเยือนกรุงกัวลาลัมเปอร์ของคณะกรรมาธิการในครั้งนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ มีความเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน นำความเจริญมาสู่ภาคใต้ ซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมนี้จะนำไปสู่การลดความรุนแรงได้

Advertisement

ต่อมาคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority : MTJA) โดยมี ดร. คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการร่วมฝ่ายไทย และ DATUK JOSEPH PODTUNG Chief Executive Officer ให้การต้อนรับและได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย – มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่เขตไหล่ทวีปในทะเลที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิทับซ้อนกันในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรร่วม ไทย – มาเลเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 นับเป็นระยะเวลา 44 ปี และจะครบรอบ 50 ปี ใน พ.ศ. 2572

ซึ่งนับแต่มีความตกลงดังกล่าว ไทย – มาเลเซีย มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จัดส่งก๊าซให้ไทย จำนวน 450 – 470 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา และในปีที่ผ่านมาเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้กับประเทศไทย จำนวน 1,100 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image